11.11 ปรากฏการณ์ที่เข้ามาเปลี่ยนการช็อปปิง ของคนในยุคสมัยนี้
Business

11.11 ปรากฏการณ์ที่เข้ามาเปลี่ยนการช็อปปิง ของคนในยุคสมัยนี้

11 พ.ย. 2021
11.11 ปรากฏการณ์ที่เข้ามาเปลี่ยนการช็อปปิง ของคนในยุคสมัยนี้ /โดย ลงทุนเกิร์ล
เดี๋ยวนี้ ทุก ๆ เที่ยงคืนของวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน คงจะเป็นช่วงเวลาที่หลาย ๆ คนเฝ้ารออยู่ที่ “หน้าจอ” เพื่อให้เลขนาฬิกา กลายเป็น 00.00 น. ก่อนจะกดจ่ายเงิน
ซึ่งถ้าเป็นคนเมื่อสิบปีที่แล้วมาเห็น ก็อาจจะสงสัยว่าทำไมถึงต้องจริงจังให้กับการช็อปปิงขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่การเข้ามาของอีคอมเมิร์ซ ก็น่าจะทำให้เราซื้อของได้ทุกเวลาเสียมากกว่า
เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร ? แล้วอะไรถึงทำให้ผู้คนมีพฤติกรรมเหล่านี้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ปกติช่วงเดือนพฤศจิกายนจะเป็นช่วงเวลาที่เราตั้งตารอเทศกาลคริสต์มาส
แต่ในช่วงหลัง ๆ มานี้ สิ่งที่เราตั้งตารอ กลับเป็นวัน “11.11” เทศกาลเฉลิมฉลองของเหล่าอีคอมเมิร์ซแทน
เทศกาล 11.11 บนโลกออนไลน์ ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “Singles’ Day” หรือ “วันคนโสด” ที่เกิดขึ้นในวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี
โดยเทศกาลนี้ เริ่มมาจากมหาวิทยาลัยหนานจิงในประเทศจีน ก่อนจะแพร่หลาย จนกลายเป็นวัฒนธรรมของยุคสมัยใหม่
ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าวันคนโสด ก็เพราะว่าเทศกาลนี้จะเป็นช่วงเวลาที่คนโสดในประเทศจีน ออกมาจับจ่ายซื้อสินค้าเป็นของขวัญมอบให้กับตัวเอง เพื่อฉลองให้กับความเป็นโสด
ดังนั้นเหล่าร้านค้าหัวใส จึงยกขบวนกันจัดโปรโมชันลดราคาแบบกระหน่ำ เพื่อต้อนรับเหล่านักช็อป ทำให้วันคนโสดของประเทศจีน ก็คล้ายกับวัน Black Friday ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ซึ่งปัจจุบันเทศกาลนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงคนโสดในประเทศจีนเท่านั้น แต่กลายเป็นเทศกาลช็อปปิงที่โด่งดังสำหรับนักช็อปบนโลกออนไลน์ ในหลาย ๆ ประเทศไปแล้ว
เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ Alibaba อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของประเทศจีนเริ่มเอาไอเดีย 11 เดือน 11 นี้มาใช้บนแพลตฟอร์ม ซึ่งผลลัพธ์ก็เป็นไปตามคาด เพราะเทคนิคการตลาดนี้ ก็ทำให้ Alibaba สร้างยอดขายได้ถล่มทลาย
อย่างในปี 2020 ที่ผ่านมา Alibaba สร้างยอดขายมูลค่า 2.4 ล้านล้านบาทภายในชั่วข้ามคืน
11.11 จึงกลายเป็นเทศกาลลดแหลกอันยิ่งใหญ่ ที่หลายแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรับนำมาใช้ด้วย อย่างในบ้านเรา พอถึงช่วงเวลานี้ก็คงพลาดไม่ได้ที่จะกดแอปพลิเคชัน Lazada หรือ Shopee
เรามาดูกันว่าแต่ละแพลตฟอร์มมีเทคนิคอะไรมาหลอกล่อเหล่านักช็อป ให้กลายเป็นเหมือนดั่งแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ
แน่นอนว่าอย่างแรก ก็คือ “ส่วนลด”
ซึ่งนอกจากร้านค้าจะนำสินค้าตัวเองมาจัดโปรโมชันพิเศษต้อนรับเทศกาลนี้แล้ว เหล่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเองก็ใช่ย่อย ที่เตรียมพร้อมแจกส่วนลดร่วมขบวนนี้อย่างล้นหลาม
เริ่มตั้งแต่การให้เราเข้าไปเก็บคูปองหรือโบนัสส่วนลด ที่จะแจกให้ก่อนช่วงเทศกาล 11.11 ไว้ให้เหล่านักช็อปเข้าไปเก็บสะสม ซึ่งนั่นก็ช่วยทำให้เราต้องเข้าไปส่องแพลตฟอร์มนั้นทุก ๆ วัน เพื่อไปกดรับคูปอง
แต่เข้าไปทั้งที ก็คงอดส่องหาสินค้าไม่ได้ ว่ามีชิ้นไหนน่าจับจองบ้าง
ซึ่งบางคนถึงกับอั้นไม่ยอมซื้อก่อน แต่รวบรวมเก็บไว้เอามาซื้อในวันนี้แทน
นอกจากนั้นยังมีโคดต่าง ๆ เช่น โคดส่วนลดจากบัตรเครดิต หรือค่าโทรศัพท์มือถือ ที่เราต้องหาเตรียมเอาไว้ เพื่อให้เราซื้อของได้คุ้มที่สุด
และทั้งหมดนี้ ก็เหมือนเป็นการอุ่นเครื่อง ก่อนที่จะออกศึกจริง
ซึ่งที่บอกว่าเป็นการออกศึก ก็คงไม่ได้เป็นการพูดเกินจริงเท่าไรนัก
เนื่องจากคูปองส่วนลดหลาย ๆ อย่าง จะมีจำนวนจำกัด รวมถึงหลายร้านค้า ก็จะมีโปรโมชันพิเศษสำหรับคำสั่งซื้อแรก ๆ
ทำให้ลูกค้าต้องแย่งกันก่อนที่ความพิเศษเหล่านั้นจะหมดโควตา
ที่น่าสนใจคือ แต่ละแอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซก็มักจะมี ระบบหลังบ้านที่ช่วยให้เราซื้อมากขึ้น
ทั้งการนำเสนอสินค้าที่ตรงกับความสนใจของเรา รวมทั้งดึงดูดให้เห็นว่า ถ้าซื้อตอนนี้จะคุ้มค่าขนาดไหน เพราะเห็นชัด ๆ เลยว่าจะได้ส่วนลดเท่าไร หรือได้ของแถมอะไรพิเศษบ้าง
ซึ่งการจัดโปรโมชันเหล่านี้ หลาย ๆ ครั้ง ก็จะเป็นการที่แพลตฟอร์มมีการดูแล และแนะนำร้านค้า ว่าควรจะทำอย่างไร ให้สามารถขายดิบขายดียิ่งขึ้น
และด้วยการผนึกกำลังอย่างสามัคคีนี้เอง ก็ทำให้บางครั้งเราไม่ได้ต้องการอะไร แต่พอไถแอปพลิเคชันไปได้ไม่นาน รู้ตัวอีกทีเงินก็ลอยออกจากกระเป๋าไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่ทำให้เราเสียทรัพย์ก็ยังไม่จบเพียงเท่านี้
เพราะหากใครเดินทางไปถึงหน้าสุดท้ายก็จะพบว่า ก่อนที่จะเป็นปุ่ม “ชำระเงิน” ทางแพลตฟอร์ม ก็มักจะแยกส่วนลดออกมาให้เราเห็นอย่างชัดเจน เพื่อให้เราเกิดความภูมิใจ
และตามมาด้วยข้อความที่ว่า หากซื้อเพิ่มอีกนิด ก็จะได้ส่วนลดเพิ่มนะ
เรื่องนี้คงทำให้บางคนที่จิตใจไม่เข้มแข็งพอ ต้องกดกลับไปยังร้านค้าเพื่อหาซื้อสินค้าเพิ่มเติม อย่างอดไม่ได้
แล้วเมื่อสั่งซื้อและชำระเงินเรียบร้อย เหตุการณ์ต่อมาที่เกิดขึ้นก็คงจะเป็น “การแชร์ความสำเร็จ” นี้ออกไป ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย หรือการพูดคุยกับเพื่อน ว่าสิ่งที่เราได้มามันคุ้มค่าขนาดไหน
กลายเป็นหัวข้อการสนทนา ทั้งถามว่าเพื่อนได้อะไรมาบ้างในวันนี้ หรือเราเสียหายไปทั้งหมดเท่าไร
ซึ่งการพูดคุยนี้ บางครั้งอาจไปกระตุ้นความอยากของกันและกัน จนสุดท้ายก็ทำให้เราต้องวนไปเปิดแอปพลิเคชันใหม่อีกครั้ง เพื่อซื้อตาม ๆ กัน
และที่สำคัญก่อนจะซื้อ ก็ต้องเช็กกันก่อนด้วย ว่าได้ส่วนลดเท่าเพื่อนหรือไม่ ถ้าไม่เท่าแล้วเราพลาดไปตรงไหน
เรียกได้ว่ากว่าจะผ่านพ้นวันนี้ไปได้ ก็ถือเป็นการออกศึกที่หนักหน่วง สำหรับใครหลาย ๆ คนเลยทีเดียว
แล้วเพื่อน ๆ ชาวลงทุนเกิร์ล มีใครบ้างที่เสียหายหลายแสนกับเทศกาลนี้กันบ้าง หรือมีทริกดี ๆ ในการกดส่วนลดให้คุ้มค่าที่สุด สามารถแชร์เรื่องราวได้ในคอมเมนต์เลยนะคะ
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.