เรียนรู้แนวคิด DINSOR กราฟิกสตูดิโอเล็ก ๆ ที่ออกแบบงานให้แบรนด์ใหญ่
Business

เรียนรู้แนวคิด DINSOR กราฟิกสตูดิโอเล็ก ๆ ที่ออกแบบงานให้แบรนด์ใหญ่

12 พ.ย. 2021
เรียนรู้แนวคิด DINSOR กราฟิกสตูดิโอเล็ก ๆ ที่ออกแบบงานให้แบรนด์ใหญ่ /โดย ลงทุนเกิร์ล
ถ้าใครเคยเห็นร้านอาหารสีฟ้า, ศูนย์อาหาร LOFTER ที่เซ็นทรัล ชิดลม, แอปพลิเคชัน Kept,
เชนร้านกาแฟ D’Oro, โรงแรม Homm จากเครือ Banyan Tree
ร้านโดนัทที่กำลังมาแรงอย่าง Drop by Dough,
ไปจนถึง ภาพโปรโมตหลาย ๆ โปรเจกต์ของ Land & Houses และ Gaysorn Village
ทั้งหมดนี้คือส่วนหนึ่งของผลงานจาก DINSOR (ดินสอ) บริษัทกราฟิกดีไซน์ ที่มีฝีมือไม่ธรรมดา
และไม่เพียงแค่จะมีชื่อเสียงในไทยเท่านั้น แต่ลูกค้ากว่าครึ่งหนึ่งของ DINSOR ยังเป็นชาวต่างชาติ ที่ติดต่อเข้ามาเองอีกด้วย
อะไรที่ทำให้กราฟิกสตูดิโอแห่งนี้มีแต่คนอยากจะเข้าหาอยู่ตลอด ?
แล้ว DINSOR มีวิธีคิดการทำงานอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
DINSOR ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ปัจจุบัน นำทีมโดย คุณบอน สารัช จันทวิบูลย์ และคุณโอ พีรกันต์ สมบัติเลิศตระกูล
ซึ่งทั้งคู่เป็นผู้รับผิดชอบงานทุกชิ้นด้วยตัวเอง เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่า ต่อให้เป็นลูกค้า SME หรือบริษัทมหาชน ก็จะเป็นทีมงาน ทีมเดียวกันที่รับผิดชอบ ทำให้งานที่ออกไปมีคุณภาพ และมาตรฐานที่สม่ำเสมอ
โดย DINSOR จะมีรูปแบบการให้บริการด้านกราฟิกต่าง ๆ อย่างเช่น
-Brand Identity หรือ อัตลักษณ์ของแบรนด์ สร้างงานออกแบบที่สะท้อนตัวตนของแบรนด์
-Rebranding หรือ ​​การปรับภาพลักษณ์แบรนด์
-Campaign Key Visual หรือ งานออกแบบภาพสื่อสารหลักของแคมเปญ
-ออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นโบรชัวร์, ป้ายโฆษณา, นามบัตร, การ์ด และอื่น ๆ
ซึ่งความโดดเด่นของกราฟิกสตูดิโอแห่งนี้อยู่ตรงที่ DINSOR มีลูกค้าตั้งแต่ คาเฟ, ร้านขนมออนไลน์, เชนร้านอาหาร, แอปพลิเคชันการเงิน
ไปจนถึง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดของบริษัท
โดยเราจะเห็นได้ว่า ลูกค้าของ DINSOR นั้นค่อนข้างมีความหลากหลาย
เนื่องจาก DINSOR จะเป็นสตูดิโอที่ไม่ได้ยึดติดว่า ตัวเองมีสไตล์งานแบบไหน แล้วใส่ความเป็นตัวเองลงในงานของลูกค้า หรือรับเฉพาะงานที่เป็นสไตล์ของตัวเองเท่านั้น
แต่จะนำเอาจุดประสงค์ของสิ่งที่ลูกค้าต้องการ “สื่อสาร” เป็นที่ตั้ง และนำมาออกแบบให้มีความเป็นลูกค้ามากที่สุด
และแม้ว่ากลุ่มลูกค้าของ DINSOR จะกว้างมาก
แต่ทาง DINSOR ก็จะมีหลักคิดในการทำงานให้ลูกค้าคล้าย ๆ กัน ซึ่งก็คือ
ดูโจทย์ว่า สินค้า และเป้าหมายที่ตั้งไว้ คืออะไร
รวมไปถึง ศึกษาว่าลูกค้ามีจุดยืนประมาณไหน
เพื่อให้เข้าใจความต้องการของลูกค้า และเห็นภาพไปในทิศทางเดียวกับลูกค้า
หลังจากรับฟังลูกค้าแล้ว พวกเขาก็ไม่ได้ตรงดิ่งไปออกแบบงานให้ลูกค้าทันที
แต่พวกเขาจะช่วยให้คำแนะนำเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกแบบโดยตรง
อย่างเช่น การชิมขนมของลูกค้า หรือออกความเห็นเรื่องดีไซน์ของสินค้า
และถ้าพวกเขารู้สึกว่าสินค้ายังขาดอะไรไป
หรือควรปรับปรุงตรงไหน ก็จะบอกลูกค้าอย่างตรงไปตรงมา
พร้อมกับช่วยเสนอทางแก้ให้ลูกค้า เปรียบเสมือนกับเป็นที่ปรึกษาคนหนึ่งให้กับลูกค้า
ซึ่งการทำเช่นนี้ ก็เพื่อผลประโยชน์ของลูกค้าเอง
เพราะถ้าพวกเขารู้สึกว่าสินค้าสามารถพัฒนาหรือเพิ่ม value อะไรได้ ทางทีมก็ยินดีให้คำแนะนำเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นงานเล็ก หรืองานใหญ่ก็ตาม
และที่สำคัญ งานทุกอย่างจะเดินไปได้ ก็ต้องอาศัยส่วนประกอบอื่น ๆ ร่วมด้วย
ไม่ใช่แค่เพียงงานออกแบบให้ดีอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ทุกรายละเอียดต้องส่งเสริมกัน แบรนด์ของลูกค้าถึงจะเติบโตได้ยั่งยืน
แม้ว่าการคอมเมนต์ผลิตภัณฑ์ของลูกค้าตรง ๆ อาจทำให้ลูกค้าไม่พอใจได้
แต่เรื่องนี้กลับเป็นจุดที่ทำให้ลูกค้าของ DINSOR ยิ่งถูกใจบริการของที่นี่ จนกลับมาใช้บริการซ้ำ ๆ
หลังจากที่ตกลงเรื่องรายละเอียดต่าง ๆ กับลูกค้าได้เรียบร้อย
ก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการออกแบบของฝั่ง DINSOR
ซึ่งก่อนที่พวกเขาจะส่งมอบงานให้ลูกค้า
พวกเขาจะมีคอมเมนต์ผลงานที่ออกแบบมาด้วยการ มองผลงานตัวเอง “ในมุมคนอื่น”
โดยเริ่มจาก มุมของลูกค้า ว่าสิ่งที่ออกแบบมาตรงกับที่ลูกค้าต้องการสื่อสารหรือไม่ และลูกค้ายังคาดหวังอะไรจากในงานนี้อีก
นอกจากนี้ พวกเขายังมองไปถึง มุมลูกค้าของลูกค้าอีกที
โดยจินตนาการว่า คนกลุ่มนี้เขาต้องการจะเห็นอะไรจากงานที่เราออกแบบ และเขาจะรู้สึกอย่างไรต่องานชิ้นนี้
เพราะถึงแม้ว่า แบรนด์จะเป็นคนจ้าง DINSOR ให้ออกแบบชิ้นงานนั้น
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ปลายทางจริง ๆ ของผลงานจะไปปรากฏในสายตาใคร
และคนสุดท้ายที่จะเป็นคนตัดสินว่างานจะเกิดผลจริง ๆ หรือไม่ ก็คือ ลูกค้าของลูกค้า นั่นเอง..
Reference:
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณโอ พีรกันต์ สมบัติเลิศตระกูล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง DINSOR
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.