กาตาร์ ประเทศที่มีสัดส่วนผู้ชาย มากเป็น 3 เท่าของผู้หญิง
Economy

กาตาร์ ประเทศที่มีสัดส่วนผู้ชาย มากเป็น 3 เท่าของผู้หญิง

13 พ.ย. 2021
กาตาร์ ประเทศที่มีสัดส่วนผู้ชาย มากเป็น 3 เท่าของผู้หญิง /โดย ลงทุนเกิร์ล
“ทำไมไม่มีแฟนเสียที” นี่อาจจะเป็นเสียงของสาวไทยหลาย ๆ คน
โดยสาเหตุของเรื่องนี้ บางคนก็ให้เหตุผลว่า
เพราะประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ชายน้อยกว่าผู้หญิง
ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง เพราะหากดูจากประชากรชาวไทย จะมีสัดส่วนผู้ชายต่อผู้หญิงเท่ากับ 0.96
พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้ามีผู้หญิง 100 คน จะมีผู้ชายเพียง 96 คน
แต่ในขณะที่บ้านเรามีปัญหาประชากรผู้ชายน้อยกว่าผู้หญิง
รู้หรือไม่คะว่า ประเทศกาตาร์กลับมีสัดส่วนประชากรผู้ชายต่อผู้หญิงสูงถึง 3.15
แปลว่า ทุก ๆ ผู้หญิงจำนวน 100 คน จะมีผู้ชายจำนวน 315 คน นั่นเอง
ทำไม กาตาร์ ถึงมีประชากร “ผู้ชาย” มากขนาดนี้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ปัจจุบัน กาตาร์มีประชากรรวมประมาณ 3.1 ล้านคน แบ่งเป็น
เพศชาย 2.4 ล้านคน
เพศหญิง 0.7 ล้านคน
และสาเหตุหลัก ๆ ของเรื่องนี้ ก็เป็นเพราะว่า กาตาร์เป็นประเทศที่พึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศมาโดยตลอด
ซึ่งแรงงานส่วนใหญ่ที่เข้าสู่ประเทศกาตาร์ ก็คือ “ผู้ชาย” นั่นเอง
เรื่องนี้เห็นได้จาก โครงสร้างประชากร ที่หากจำแนกตามอายุ จะพบว่ากลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงาน จะมีสัดส่วนผู้ชายที่มากกว่าปกติ
จำนวนของผู้ชายจะเริ่มมากกว่าผู้หญิงอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่ช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป
โดยเฉพาะในช่วงวัย 25-54 ปี จะมีผู้ชายคิดเป็น 5 เท่าของผู้หญิงเลยทีเดียว
แล้วถ้าถามว่า กาตาร์พึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศมากแค่ไหน ?
คำตอบก็คือ 95% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ หรือคิดเป็นกว่า 2 ล้านคน เป็นแรงงานข้ามชาติ
ซึ่งส่วนใหญ่แรงงานเหล่านี้ จะมาจากประเทศต้นทางอย่างอินเดีย, เนปาล, บังกลาเทศ, ศรีลังกา, เคนยา และฟิลิปปินส์
โดยเหตุผลที่คนเหล่านี้เดินทางมายังกาตาร์ ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องโอกาสในการงานที่มั่นคง ที่ไม่สามารถหาได้จากประเทศบ้านเกิดของตัวเอง
ที่น่าสนใจคือ กาตาร์เองก็ดูเหมือนจะสร้างแรงจูงใจ สำหรับแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ ด้วยการไม่เก็บภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา
แปลว่าพวกเขาทำงานได้เท่าไร ก็สามารถส่งเงินกลับบ้านไปได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
นอกจากนั้น เมื่อไม่นานมานี้ ในเดือนกันยายน ปี 2020 กาตาร์ยังได้ผ่านกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 9,000 บาทต่อเดือน สำหรับแรงงานทุกประเทศ โดยไม่จำแนกด้วยว่าคนนั้นจะมีสัญชาติอะไร
อย่างไรก็ตาม กาตาร์ ก็ยังถูก Human Rights Watch หรือองค์กรระดับนานาชาติ ที่ดูแลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพ่งเล็งและกระตุ้นเจ้าหน้าที่รัฐ สำรวจชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของแรงงานเหล่านี้ เพื่อออกมาตรการป้องกัน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ค่าแรง อายุ รวมถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่ไม่สามารถอธิบายได้
โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังกาตาร์เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 มีแรงงานต่างชาติเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 6,500 คน
รวมถึงมีรายงานการกดขี่แรงงานอย่างหนัก ทั้งการทำร้ายร่างกาย การจำกัดการเดินทาง และการไม่จ่ายค่าจ้าง
ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวเลขของ แรงงาน 5 ประเทศ ประกอบด้วย อินเดีย, ปากีสถาน, เนปาล, บังกลาเทศ และศรีลังกา เท่านั้น แปลว่าก็มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขการเสียชีวิตรวมจะมีมากกว่านี้
นอกจากนั้นยังมีรายงานว่า การละเมิดสิทธิแรงงานเหล่านี้ เป็นเหมือนขบวนการ ที่เริ่มตั้งแต่ประเทศต้นทาง โดยจะมีนายหน้าที่เก็บค่าธรรมเนียมในการส่งคนไปยังกาตาร์
ซึ่งหลาย ๆ ครั้งก็จะกลายเป็นหนี้ก้อนโต ที่นำมาสู่สัญญาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม หรือการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลงกันไว้ในตอนแรก และมีการริบพาสปอร์ตของแรงงานเพื่อป้องกันการหลบหนี
โดยทาง Human Rights Watch ยังมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาในเชิงระบบ เพราะโครงสร้างกฎหมายของกาตาร์ ผูกมัดให้แรงงานเหล่านี้ต้องยอมรับชะตากรรม และถ้าหากมีการ หลบหนี ก็จะกลายเป็นความผิดทางกฎหมาย
ในขณะเดียวกันชีวิตความเป็นอยู่ของ “ผู้หญิง” ในกาตาร์เอง ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ดีมากนัก ด้วยความที่จำนวนประชากรผู้ชายที่มากกว่า และยังมีมุมมองต่อเพศชายว่าอยู่เหนือกว่าเพศหญิง
ไม่ว่าจะมาจากอิทธิพลของศาสนา ซึ่งกว่า 67% นับถือศาสนาอิสลาม วัฒนธรรมของคนในประเทศ รวมถึงตัวกฎหมายบางข้อ
ทำให้ผู้หญิงในกาตาร์เหมือนถูกบีบบังคับให้ต้องพึ่งพาผู้ชายเป็นหลัก โดยเฉพาะการตัดสินใจในเรื่องที่เป็นสิทธิพื้นฐานหลาย ๆ อย่าง ก็ต้องได้รับการอนุญาตจาก “ผู้ปกครอง” ที่เป็นผู้ชาย
โดยจากการทำวิจัยของ Human Rights Watch พบว่า ผู้หญิงบางคนต้องขออนุญาต “ผู้ปกครอง” เพื่อ การแต่งงาน การเดินทาง การศึกษาต่อ หรือแม้แต่การขับรถ รวมถึงเวลาสมัครงาน บางครั้งฝ่ายบุคคล ก็มีการขอดูจดหมายจากผู้ปกครองเช่นกัน
เรียกได้ว่า แม้หน้าฉาก กาตาร์จะดูเป็นประเทศที่เจริญและร่ำรวยขึ้นมาได้ภายในเวลาไม่กี่สิบปี วัดจาก GDP ต่อหัว ซึ่งคาดการณ์โดย IMF ในปี 2021 ว่าสูงถึงเกือบ 2 ล้านบาท ซึ่งมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
แต่สำหรับคนบางกลุ่ม ก็อาจเป็นประเทศ ที่ไม่น่าไปอยู่ ก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.