SuperBee ธุรกิจเพื่อชุมชน ฝีมือคนเชียงใหม่ ที่ก่อตั้งโดยคนออสเตรเลีย
Business

SuperBee ธุรกิจเพื่อชุมชน ฝีมือคนเชียงใหม่ ที่ก่อตั้งโดยคนออสเตรเลีย

19 พ.ย. 2021
SuperBee ธุรกิจเพื่อชุมชน ฝีมือคนเชียงใหม่ ที่ก่อตั้งโดยคนออสเตรเลีย /โดย ลงทุนเกิร์ล
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่คนทั่วโลกเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้น
ไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจใหญ่ ๆ เท่านั้น ที่มีมาตรการลดจำนวนขยะ แต่ในภาคครัวเรือนก็เริ่มหันมาใส่ใจกับการลดการผลิตขยะขึ้นมาเช่นกัน
และแม้พลาสติกห่ออาหารแผ่นบาง ๆ ที่หลายคนมองว่า ถ้าหากทิ้งไปก็คงจะเป็นขยะจำนวนไม่มากเท่าไร
แต่ถ้านำขยะจากพลาสติกห่ออาหารของทุกบ้านมารวมกัน ก็คงจะไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลยทีเดียว
ซึ่งนี่จึงได้กลายมาเป็นจุดเริ่มให้กับ SuperBee แบรนด์ผู้ผลิตไขขี้ผึ้งห่ออาหาร จากคนในชุมชนเชียงใหม่ ที่ไม่เพียงจะเป็นตัวช่วยขจัดปัญหาขยะพลาสติกได้เป็นอย่างดี แต่ในทุกองค์ประกอบของสินค้า ยังคำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดอีกด้วย
แล้วสินค้าของแบรนด์ SuperBee น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
SuperBee คือ แบรนด์ของใช้ในบ้านที่มีจุดยืนเรื่อง ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ซึ่งสินค้าตัวดังของแบรนด์นี้ ก็คือ “Beeswax Wrap” หรือ “ผ้าไขขี้ผึ้ง สำหรับห่ออาหาร” ที่ทำมาจากผ้าออร์แกนิก และเคลือบด้วยไขขี้ผึ้ง
โดยเจ้าตัวผ้าไขขี้ผึ้งนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่คล้าย ๆ กับ “พลาสติกห่ออาหาร” (Plastic Wrap)
แต่ข้อดีของผ้าไขขี้ผึ้ง ก็คือ มันสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะหลังจากใช้เสร็จแล้ว เพียงแค่เรานำผ้ามาเช็ดหรือล้างทำความสะอาด และตากให้แห้ง ก็สามารถเก็บไว้ใช้ในครั้งต่อไป
แตกต่างจากพลาสติกห่ออาหาร ที่ใช้แล้วต้องทิ้ง ซึ่งกว่าที่พวกมันจะย่อยสลาย ก็ใช้เวลาไปอีกนาน
นอกจากนั้น SuperBee ไม่เพียงจะเป็นธุรกิจที่ดีต่อโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นธุรกิจที่ดีต่อชุมชนอีกด้วย เพราะสินค้าทุกชิ้นของ SuperBee จะผลิตโดยคนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นการช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
และประเด็นที่น่าสนใจนั้นอยู่ที่ “ผู้ก่อตั้ง” แบรนด์นี้กลับไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคุณ Antoinette Jackson ชาวออสเตรเลีย ที่ปัจจุบันตัดสินใจลงหลักปักฐานที่จังหวัดเชียงใหม่กับสามี และลูก 2 คน หลังจากย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทยนานกว่า 10 ปี
โดยไอเดียในการสร้างแบรนด์ SuperBee นั้นเริ่มต้นมาจาก จุดประสงค์ที่ต้องการแก้ปัญหาอย่าง การลดปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง
ดังนั้นคุณ Jackson จึงพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน เพื่อนำมาใช้แทนพลาสติกเหล่านี้
จนกระทั่งความคิดหนึ่งได้ผุดขึ้นมา ขณะที่คุณ Jackson กำลังเก็บอาหารที่เหลือเข้าตู้เย็น เธอก็ได้นึกย้อนไปถึงสมัยอยู่บ้านที่ออสเตรเลีย ซึ่งเธอมักจะใช้ “ผ้าไขขี้ผึ้ง” ที่คุณยายของเธอทำขึ้นเอง ในการห่ออาหาร
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ในต่างประเทศ ผ้าไขขี้ผึ้งแบบนี้ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่แต่อย่างใด เพราะผู้คนมักจะนิยมใช้ห่อผัก, ผลไม้ และอาหารที่กินเหลือ มาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว
ดังนั้นคุณ Jackson ที่เห็นว่าในไทยเองก็มีวัตถุดิบ ที่พอจะทำผ้าไขขี้ผึ้งได้ จึงตัดสินใจเริ่มนำกรรมวิธีที่เธอเรียนรู้มาจากคุณยายมาพัฒนาต่อ เพื่อยืดอายุการใช้งานของผ้าไขขี้ผึ้ง
และเมื่อผ้าไขขี้ผึ้งที่คุณ Jackson คิดค้นจากหลังครัว เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง และพร้อมสำหรับการวางขาย
ในที่สุดปี 2016 แบรนด์ SuperBee ก็ได้ก่อตัวขึ้น พร้อมกับทีมงานเล็ก ๆ ในชุมชนเชียงใหม่
ซึ่งเจ้าผ้าไขขี้ผึ้งนี้ ก็ได้กลายเป็นสินค้าขายดีประจำของแบรนด์ เป็นที่เรียบร้อย
โดยปัจจุบันสินค้าในแบรนด์ SuperBee ก็ได้ขยายไปสู่สินค้ารักษ์โลกอีกหลายอย่าง เช่น แปรงสีฟันด้ามจับไม้ไผ่, ยาสีฟันแบบเม็ด และสินค้าที่สามารถใช้ซ้ำได้
และที่สำคัญ สินค้าทุกชิ้นล้วนทำมาจากธรรมชาติทั้งสิ้น รวมทั้งยังมีกรรมวิธีการผลิต ที่สร้างผลกระทบให้น้อยที่สุด ต่อสิ่งแวดล้อม
ยกตัวอย่างเช่น ผ้าไขขี้ผึ้ง จะถูกทำมาจากผ้าออร์แกนิก และน้ำมันมะพร้าวออร์แกนิก ส่วนไขผึ้งก็รับมาจากฟาร์มในจังหวัดเชียงใหม่ โดยจะเก็บมาจากไข ที่เป็นส่วนเกินของรังผึ้ง ซึ่งวิธีนี้จะไม่ไปรบกวนผึ้ง และไม่ไปทำร้ายรังผึ้งอีกด้วย
ยิ่งกว่านั้น ไขผึ้ง และแพ็กเกจจิงของทางแบรนด์ ก็ยังได้รับการรับรองจากแล็บที่ฮ่องกงและเยอรมนีว่าไม่มีสารอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย
แต่ข้อเสียของไขขี้ผึ้งห่ออาหาร ก็คือ มันค่อนข้างอ่อนไหวกับความร้อน ทำให้ต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีความร้อนเกิน 60 องศาเซลเซียส หรือการนำเข้าไมโครเวฟ เพราะไขผึ้งอาจจะละลายและมีการหลุดลอกได้
อย่างไรก็ตามหากไขผึ้งหลุดลอก ทางแบรนด์ก็มีก้อนไขผึ้งขายแยกต่างหาก เพื่อให้ลูกค้านำไปเติมได้ ดังนั้นผ้าไขขี้ผึ้งห่ออาหาร จึงสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง
โดยผ้าไขขี้ผึ้งห่ออาหารหนึ่งชิ้น จะมีอายุการใช้งานนานถึง 2 ปี เลยทีเดียว
ในขณะที่พลาติกห่ออาหารส่วนใหญ่ จะใช้ครั้งเดียวแล้วต้องทิ้ง เนื่องจากการใช้ซ้ำอาจจะทำให้สารพาทาเลต (Phthalate) หลุดออกมาปนเปื้อนกับสารอาหาร ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อทางเดินอาหาร จนทำให้บางประเทศในสหภาพยุโรป ได้มีการยกเลิกใช้สารนี้ในพลาสติกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นการยอมจ่ายเงินที่เพิ่มขึ้น เพื่อแลกกับอายุการใช้งานที่นานกว่า และปลอดภัยกับโลกมากกว่า ก็น่าจะทำให้ SuperBee เป็นตัวเลือกที่ดูจะคุ้มค่า
และอย่างที่เรากล่าวไปข้างต้นว่า SuperBee เป็นแบรนด์ที่ทำงานกับคนในชุมชน ดังนั้นผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นจึงถูกผลิตโดยฝีมือคนไทย 100%
รวมทั้งกฎเหล็กในการทำงานของคุณ Jackson ก็คือ “ชุมชน และพนักงานต้องมาก่อน” ดังนั้นเธอจึงให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์, โลก และยังพยายามจัดสรรกำไรอย่างเท่าเทียม
โดยพนักงานของ SuperBee จะได้ค่าแรงสูงกว่าค่าครองชีพที่รัฐบาลแนะนำกว่า 20% เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมรายได้ให้กับคนในชุมชน
นอกจากนั้น พนักงานส่วนใหญ่ ยังเป็นผู้หญิงในชุมชน ทำให้คุณ Jackson เน้นการส่งเสริมเรื่อง “พลังหญิง” อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งยังสร้างบรรยากาศในการทำงานให้พนักงานรู้สึกปลอดภัย
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือ เรื่องราวของ SuperBee และคุณ Jackson ที่แม้ว่าเธอจะเป็นคนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย แต่เธอก็ไม่ได้เอารัดเอาเปรียบคนในสังคม รวมทั้งยังช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และเมื่อธุรกิจเติบโต ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนก็จะเติบโตไปด้วยกัน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.