สรุป มหากาพย์รอยร้าว และ โศกนาฏกรรม ของตระกูล Gucci
history

สรุป มหากาพย์รอยร้าว และ โศกนาฏกรรม ของตระกูล Gucci

28 พ.ย. 2021
สรุป มหากาพย์รอยร้าว และ โศกนาฏกรรม ของตระกูล Gucci /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ Forbes ประเมินมูลค่าแบรนด์ของ Gucci ไว้กว่า 750,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นแบรนด์หรูที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นรองเพียง Louis Vuitton เท่านั้น
ปัจจุบัน Gucci อยู่ภายใต้การดูแลของ Kering อาณาจักรแบรนด์หรู ที่เป็นเจ้าของแบรนด์อย่าง Yves Saint Laurent, Balenciaga, Alexander McQueen และ Bottega Veneta
แต่กว่าที่ Gucci จะมาถึงมือของ Kering ได้ผ่านอะไรมาบ้าง ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Gucci ก่อตั้งโดยคุณ Guccio Gucci ที่ประเทศอิตาลี ในปี 1921 หรือเมื่อ 100 ปีก่อน
เดิมทีเขาก็เติบโตมากับพ่อที่เป็นช่างเครื่องหนัง แต่ในตอนแรกเขาไม่ได้สนใจธุรกิจของครอบครัว จึงบอกลาบ้านเกิด เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี
จากนั้นจึงเดินทางสู่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ไปจนถึงเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ซึ่งในขณะที่อยู่ลอนดอน คุณ Guccio ได้ทำงานเป็นพนักงานยกกระเป๋า ณ โรงแรมซาวอย และการที่ได้ถือกระเป๋าให้กับคนรวย ๆ เหล่านี้ ก็ทำให้เขาเริ่มหลงใหลในกระเป๋าขึ้นมา
สุดท้าย คุณ Guccio จึงเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อไปสานต่อธุรกิจของครอบครัว ก่อนจะเปิดร้านเครื่องหนังของตัวเอง ในวัย 40 ปี
แบรนด์ Gucci ติดตลาดอย่างรวดเร็ว รวมถึงยังมีลูกค้าต่างชาติ เดินทางมาซื้อสินค้าที่ร้านอย่างไม่ขาดสาย
ต่อมา Gucci ก็ตกทอดสู่ทายาท รุ่นที่ 2 ในปี 1953 เนื่องจากการจากไปของคุณ Guccio
จริง ๆ แล้วคุณ Guccio มีลูกทั้งหมด 6 คน เป็นผู้หญิง 2 คน และผู้ชาย 4 คน
แต่ลูกชาย 2 คนของเขา ได้เสียชีวิตไปก่อน ส่วนลูกสาวไม่ได้รับส่วนแบ่งอะไร
ทำให้สุดท้าย หุ้นของ Gucci จึงถูกแบ่งให้กับลูกชายที่เหลืออยู่ ซึ่งก็คือ คุณ Aldo และคุณ Rodolfo คนละ 50%
คุณ Aldo ลูกชายคนโต เป็นผู้กุมอำนาจควบคุม โดยเขายังได้พา Gucci ไปสู่ระดับนานาชาติ ด้วยการไปเปิดร้านสาขาแรกที่สหรัฐอเมริกา ก่อนจะขยายไปสู่ประเทศอื่น ๆ
ต่อมา คุณ Aldo ก็ได้แบ่งหุ้นของ Gucci ที่ตนถืออยู่ ให้กับลูกชาย 3 คน คนละ 3.3% โดยที่เขายังคงถืออยู่อีก 40%
แต่แล้วรอยร้าวของตระกูล Gucci ก็เริ่มต้นขึ้น..
เนื่องจากคุณ Paolo ลูกชายของคุณ Aldo มีความเห็นไม่ตรงกับคุณพ่อ โดยเขาต้องการจะแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ดูทันสมัยเพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่อายุน้อย ภายใต้เครือ Gucci
ความคิดนี้ โดนทั้งคุณพ่อและคุณอาขัดขวางเอาไว้ แต่เขาก็ไม่สนใจ และแอบไปเปิดตัวสินค้าแบบลับ ๆ โดยที่ไม่บอกให้ใครรู้
แน่นอนว่าความลับไม่มีในโลก ในเวลาต่อมาคุณ Paolo จึงถูกจับได้
เขาโดนไล่ออกจากบริษัท และถูกฟ้องร้อง ไม่ให้ใช้ชื่อ Gucci ในการทำธุรกิจ
แม้ว่าในขณะนั้น คุณ Paolo จะไม่ได้ทำงานใน Gucci แล้ว แต่ก็อย่าลืมว่าในมือของเขายังมีหุ้นอีก 3.3% ทำให้เขาสามารถเข้าร่วมประชุมของคณะกรรมการบริษัทได้
และเขาก็ใช้โอกาสนี้ก่อกวน ด้วยการตั้งคำถามน่าอายต่าง ๆ ต่อการบริหารงานของพ่อ จนสุดท้ายก็นำมาสู่การต่อสู้ที่รุนแรงกลางที่ประชุม
ซึ่งการแก้แค้นของคุณ Paolo ยังไม่จบเพียงเท่านี้
เขาได้ฟ้องพ่อของตัวเอง ข้อหาหลบเลี่ยงภาษี จนคุณ Aldo ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นปี
เรื่องราวภายในตระกูล Gucci ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
ที่ผ่านมา แม้ว่าคุณ Aldo จะมีหุ้นในมือ 40% แต่ก็สามารถกุมอำนาจการบริหาร เอาไว้ได้อย่างมั่นคง จนกระทั่งในปี 1983 เมื่อคุณ Rodolfo เสียชีวิต หุ้น 50% จึงตกไปอยู่กับลูกชายของเขา อย่างคุณ Maurizio
ซึ่งคุณ Maurizio เอง ก็มีความคิดอยากเปลี่ยนแปลงบริษัทเหมือนกัน แต่ติดอยู่ที่คุณ Aldo ไม่ยอมรับฟังความเห็นใด ๆ
โดยสถานการณ์ของ Gucci ในตอนนั้น แม้ว่าจะทำกำไรได้ดี แต่ภาพลักษณ์กลับไม่ใช่แบรนด์หรู เหมือนในอดีต เพราะใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ด้วยราคาที่ต่ำลง และสินค้าที่มีวางขายอยู่ตามร้านค้าทั่วไป ประกอบกับการนำวัสดุอย่างผ้าใบ มาใช้ทำกระเป๋า
คุณ Maurizio ที่ต้องการฟื้นคืนกลิ่นอายความหรูหรา จึงหันไปทำข้อตกลงกับลูกพี่ลูกน้อง ด้วยการให้คุณ Paolo โหวตให้เขามีอำนาจควบคุม Gucci
ส่วนคุณ Paolo ก็ต้องการให้คุณ Maurizio ซื้อหุ้นของเขา เนื่องจากต้องการเงินสด มาตั้งบริษัทของตัวเอง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Gucci จะเข้ามาอยู่ในมือของคุณ Maurizio แล้ว แต่ก่อนที่เขาจะซื้อหุ้นของคุณ Paolo สัญญาของทั้งสอง ก็ถูกฉีกขาด
โดยคุณ Paolo ยังหันไปร่วมมือกับคุณพ่อและพี่น้อง ในการต่อสู้เพื่อแย่งสิทธิ์บริหารกลับคืนมา โจมตีคุณ Maurizio เช่น ฟ้องร้องเรื่องการเลี่ยงภาษีมรดก จนทำให้เขาต้องหนีไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อหนีการจับกุม ก่อนจะสู้คดีจนไม่ต้องจำคุก
ทางด้านคุณ Maurizio จึงคิดว่า การจะจบปัญหานี้จำเป็นจะต้องซื้อหุ้นจากญาติทั้งหมดของตน แต่ตอนนั้นเขามีเงินไม่พอ จึงไปติดต่อนักลงทุนภายนอกอย่าง Investcorp ให้เข้ามาช่วยซื้อหุ้นที่เหลือ
พอมาถึงตรงนี้ คุณ Maurizio ก็ได้อำนาจการบริหาร Gucci มาอย่างสมบูรณ์
เรียกได้ว่าตอนนั้นคุณ Maurizio เป็นเหมือนดาวรุ่งแห่งวงการแฟชั่นเลยทีเดียว เพราะในมือมีธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ของครอบครัว
ในขณะเดียวกัน เขายังได้แต่งงานกับคุณ Patrizia Reggiani คุณหนูจากครอบครัวที่ร่ำรวย ซึ่งพบรักกันในงานปาร์ตีแห่งหนึ่ง และตัดสินใจลงหลักปักฐานร่วมกันในปี 1972
ทั้งสองกลายเป็นคู่รักที่หวานชื่น และใช้ชีวิตกันอย่างหรูหรา จนใครหลาย ๆ คนต้องอิจฉา
แต่จากจุดสูงสุด กราฟชีวิตของพวกเขาก็เริ่มดิ่งลงเหว
ตั้งแต่ข่าวการนอกใจของคุณ Maurizio จนหย่าขาดกับภรรยาในปี 1994 รวมถึง Gucci ภายใต้การดูแลของ คุณ Maurizio ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า จนเขาถูกบังคับขายหุ้น 50% ที่ถืออยู่ ให้กับ Investcorp ในปี 1993
แปลว่าตอนนี้ Gucci ก็ไม่ได้เป็นธุรกิจของตระกูล Gucci อีกต่อไป
และเรื่องนี้เอง ที่เป็นชนวนสำคัญ ทำให้เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ในปี 1995
โดยขณะที่คุณ Maurizio กำลังเดินเข้าออฟฟิศในยามเช้าตามปกติ เขาก็ต้องจบชีวิตลง ด้วยกระสุนปืนที่ถูกกระหน่ำเข้ามาหลายต่อหลายนัด
ซึ่งกว่าที่ตำรวจจะไขคดีได้ เวลาก็ผ่านไปถึง 2 ปี และคนร้ายก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคุณ Reggiani ที่เป็นผู้ว่าจ้างมือปืน
เนื่องจากปัญหาที่สะสมของทั้งคู่ และที่สำคัญคือ เธอไม่พอใจที่คุณ Maurizio ทำให้ตระกูลต้องเสียธุรกิจไป
ข้อหานี้ทำให้เธอถูกตัดสินให้จ่ายค่าเสียหาย และต้องจำคุก ก่อนจะได้รับการปล่อยตัว ในปี 2016
ซึ่งเมื่อมีคนถามว่าทำไมเธอถึงจ้างมือปืน คุณ Reggiani ก็ตอบว่า “สายตาเธอไม่ดี ไม่อยากยิงพลาด”
กลับมาที่ตัวธุรกิจของ Gucci อีกครั้ง
ในปี 1995 บริษัทก็ถูกนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จากนั้น Investcorp ก็ค่อย ๆ ทยอยขายหุ้น โดยคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 62,000 ล้านบาท
เรียกได้ว่า Investcorp ก็ได้กำไรจากดีลนี้ไปหลายเท่าตัวเลยทีเดียว
ที่น่าสนใจคือ แล้วใครเป็นผู้มารับไม้ต่อจาก Investcorp ?
ในปี 1999 อาณาจักรแบรนด์หรู LVMH ก็ค่อย ๆ สะสมหุ้นของ Gucci จนมีสัดส่วนถึง 34%
แต่ทางด้าน Gucci กลับดูเหมือนว่า ไม่ต้องการจะไปอยู่ใต้ร่มของ LVMH จึงได้หันไปหาคุณ François Pinault ให้ช่วยนำบริษัทออกนอกตลาดอย่างเร่งด่วน
ซึ่งคุณ Pinault ก็คือ เจ้าของ Pinault Printemps Redoute ที่ต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Kering นั่นเอง..
ปัจจุบัน Gucci ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญของ Kering เป็นที่เรียบร้อย
โดยในปี 2020 เพียง Gucci แบรนด์เดียว ก็กวาดรายได้ถึง 2.8 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 56.8% ของรายได้ทั้งหมดของ Kering เลยทีเดียว
รวมถึงถูกจัดอันดับให้เป็นแบรนด์หรู ที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับ 2 ของโลก
เพียงแต่ความสำเร็จทั้งหมดนี้ ตระกูล Gucci กลับไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกต่อไปแล้ว..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.