สาววัย 19 ที่หาเงินหลักล้าน จากการตั้งชื่ออังกฤษ ให้ทารกชาวจีน
Business

สาววัย 19 ที่หาเงินหลักล้าน จากการตั้งชื่ออังกฤษ ให้ทารกชาวจีน

1 ธ.ค. 2021
สาววัย 19 ที่หาเงินหลักล้าน จากการตั้งชื่ออังกฤษ ให้ทารกชาวจีน /โดย ลงทุนเกิร์ล
บางคนอาจจะไม่เคยคาดคิดว่า “การตั้งชื่อให้คนอื่น” มันจะกลายมาเป็นธุรกิจที่ทำเงินอย่างจริงจังได้
หากเราไม่ใช่ครูบาอาจารย์ชื่อดัง ที่คร่ำหวอดในวงการมาก่อน
เพราะการตั้งชื่อให้ใครสักคน คงไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะต้องตั้งให้เป็นชื่อที่ฟังแล้วรู้สึกดี ยังต้องเป็นชื่อที่แฝงนัยหรือความหมายที่ทำให้เจ้าของชื่อรู้สึกพิเศษเอาไว้ด้วย
และยิ่งเป็นหญิงสาวธรรมดา ชาวอังกฤษ ที่ทำธุรกิจตั้งชื่อให้ลูกของคนจีน
คงยิ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเคยคิดว่าจะทำได้
เพราะชาวจีนหลายคน มักจะมีความเคร่งครัดในเรื่องความหมายของชื่อ และมีเรื่องของวัฒนธรรมต่าง ๆ มาเกี่ยวข้อง
แต่คุณ Beau Jessup ที่อายุเพียง 19 ปี และเป็นผู้ก่อตั้ง “Special Name” ทำได้..
ทำไมการตั้งชื่อให้คนอื่น ถึงกลายเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ ?
และเธอมองเห็นปัญหาอะไร ถึงทำให้เธอเลือกสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมา ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นไอเดียธุรกิจของเธอนั้นมาจากการที่ คุณ Jessup ไปพบกับคุณ Wang ซึ่งเป็นเพื่อนของคุณพ่อเธอ
โดยคุณ Wang ขอให้เธอช่วยตั้งชื่อลูกเป็นภาษาอังกฤษให้
เธอจึงรู้สึกเป็นเกียรติปน ๆ กับประหลาดใจ และคิดว่าการเลือกชื่อที่เหมาะสมน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญ
และสาเหตุที่คนจีนต้องการมีชื่อภาษาอังกฤษก็เพราะว่า มันจะทำให้พวกเขาสื่อสารกับชาวตะวันตกง่ายขึ้น
แต่อย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่า ประเทศจีนโดนปิดกั้นเรื่องการใช้งานอินเทอร์เน็ต ทำให้คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการตั้งชื่อลูก มักจะไม่มีไอเดียใหม่ ๆ เพราะไม่สามารถอัปเดตเทรนด์ให้ทันยุคสมัยกันได้ง่ายนัก
ดังนั้นสิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้นก็คือ ทำให้หลายคนได้ชื่อที่เจ้าตัวไม่ชอบ ชื่อที่รู้สึกอาย หรือชื่อที่ฟังดูแล้วรู้สึกประหลาด เช่น Rolex Wang, Gandalf Wu เพราะถูกข้อจำกัดในเรื่องของการค้นคว้าข้อมูลนั่นเอง
นอกจากนั้น คุณ Jessup ก็ได้เห็นอีกหนึ่งโอกาส นั่นก็คือ ในปี 2015 นโยบายลูกคนเดียว ที่มีมายาวนานกว่าหลายทศวรรษของจีนได้สิ้นสุดลง ทำให้ในปี 2016 อัตราการเกิดใหม่เพิ่มขึ้น 7.9% หรือคิดเป็น 17.86 ล้านคน เลยทีเดียว
เธอจึงคิดว่า ในอนาคตก็จะมีตลาดเด็กทารกเกิดใหม่ ที่รอให้เธอตั้งชื่อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
จากทั้งหมดนี้เอง จึงทำให้คุณ Jessup ในวัย 15 ปี บินกลับมาที่อังกฤษ และได้สร้างเว็บไซต์ specialname.cn ขึ้นมา โดยยืมเงินพ่อของเธอเป็นจำนวน 1,980 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 66,092 บาท
และดึงทีมงานที่เป็นฟรีแลนซ์มาช่วยพัฒนาเว็บไซต์
ในช่วงเริ่มต้น เธอใช้เวลาว่างในการเตรียมฐานข้อมูลของชื่อมากกว่า 4,000 รายชื่อ โดยเธอใช้เวลา 3 สัปดาห์ในการคัดชื่อต่าง ๆ จากหนังสือที่เกี่ยวกับการตั้งชื่อทารกหลายร้อยเล่ม เพื่อให้แน่ใจว่าเธอเลือกชื่อที่ทั้งเหมาะสมกับวัฒนธรรมจีน
และชื่อที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งเต็มไปด้วยความหมายที่สำคัญอีกด้วย
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ในเมื่อชื่อมีเป็นพัน ๆ ชื่อ เธอจะเอาเวลาที่ไหนมานั่งคัดเลือกชื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ?
ซึ่ง Jessup ก็ได้ให้คำตอบว่า “ใช้อัลกอริทึม”
ภายในเว็บไซต์ Special Name จะให้พ่อแม่เลือกคุณลักษณะที่อยากให้เด็กคนนั้นเป็น
โดยเลือก 5 ข้อ จาก 12 ข้อ หลังจากนั้นระบบจะทำการประมวลผลรายชื่อที่เหมาะสมให้ ภายในเวลา 3 นาที
และข้อมูลเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถแชร์ลิงก์ เพื่อไปถามญาติ ๆ ใน WeChat ได้ว่าครอบครัวเราอยากได้ชื่อไหน เพื่อให้การตั้งชื่อสอดคล้อง ไปกับความเชื่อและวัฒนธรรมของแต่ละครอบครัว
ส่วนคุณพ่อคุณแม่ จะต้องจ่ายเงินเพื่อให้เห็นชื่อที่เป็นผลลัพธ์จากการประมวลผล ราคา 60 เพนนี หรือประมาณ 26 - 27 บาทไทย สำหรับการใช้บริการในเว็บไซต์ทุก 5 นาที
สาเหตุที่เธอคิดราคาการตั้งชื่อด้วยราคาที่ไม่สูง เพราะเธอมีความตั้งใจที่อยากจะช่วยเหลือคนจริง ๆ ซึ่งช่วงแรก ๆ ที่เธอเปิดให้บริการนั้น เธอก็ไม่เก็บค่าบริการเลยด้วยซ้ำ
อีกทั้งเธอก็ได้กล่าวบนเวที TEDx ว่า “ฉันไม่ได้ตั้งต้นธุรกิจจากการอยากเป็นผู้ประกอบการเลย ฉันคิดไอเดียนี้ขึ้นมา เพราะความสนใจของฉันอยู่ที่เรื่องราวเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์เป็นหลัก และฉันคิดว่านี่คือสาเหตุที่ทำให้มันพัฒนาต่อมาได้”
เพียงแค่ 6 เดือน หลังจากก่อตั้ง Special Name เธอสามารถทำรายได้ถึง 60,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 ล้านบาท ด้วยการตั้งชื่อให้กับเด็กชาวจีนกว่า 200,000 คน
และในปี 2019 จำนวนชื่อที่ตั้งโดย Special Name ก็เพิ่มเป็น 677,900 คน และสร้างรายได้ไปถึงกว่า 13 ล้านบาท
ซึ่งปัจจุบัน Special Name ก็ได้ตั้งชื่อให้กับเด็กทารกไปกว่า 1,172,400 คนแล้ว
ดังนั้นรายได้ของเธอในตอนนี้ ก็คงจะมากขึ้นอีกหลายเท่า จากปีแรกที่เปิดเว็บไซต์
โดยที่ปัจจุบันเธอมีอายุเพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น..
อย่างไรก็ตาม ผลกำไรของเธอจะเป็นการนำไปใช้สำหรับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยของเธอ นั่นก็คือ คณะมานุษยวิทยาสังคม ที่ London School of Economics เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องของมนุษย์และสังคมต่อไป
อ่านมาถึงตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่า Special Name ไม่ได้ตั้งต้นมาจากการที่เด็กสาวมุ่งแต่จะทำธุรกิจ เพื่อเอากำไรเพียงอย่างเดียว
แต่เธอเริ่มต้นมาจากการอยากช่วยเหลือผู้คน ซึ่งการตั้งต้นด้วยความคิดเช่นนี้เอง จึงทำให้เธอเข้าใจปัญหาและความต้องการของผู้คนได้อย่างแท้จริง จึงทำให้พัฒนาสินค้าจนตอบโจทย์ Pain Point ของลูกค้าได้
ซึ่งการที่ธุรกิจแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้อย่างถูกจุด นั่นคือสิ่งที่ทำให้ธุรกิจมีคุณค่า (Value)
และเมื่อเราทำสิ่งที่มีคุณค่าได้ รายได้ก็จะตามมาไม่ยาก นั่นเอง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.