immi ราเม็งกึ่งสำเร็จรูปจากพืช ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นคนไทย และระดมทุนได้ร้อยล้าน
Business

immi ราเม็งกึ่งสำเร็จรูปจากพืช ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นคนไทย และระดมทุนได้ร้อยล้าน

3 ธ.ค. 2021
immi ราเม็งกึ่งสำเร็จรูปจากพืช ที่มีผู้ร่วมก่อตั้งเป็นคนไทย และระดมทุนได้ร้อยล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือราเม็งกึ่งสำเร็จรูป นับเป็นอาหารในดวงใจของใครหลาย ๆ คน
ด้วยราคาที่เข้าถึงง่าย อร่อยได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยไม่ต้องมีฝีมืออะไรมากมาย ในการทำอาหาร
ทำให้ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั่วโลกนั้นมีมูลค่าสูงถึง 9.5 แสนล้านบาทในปี 2020 และมีการคาดการณ์ว่าตลาดนี้จะเติบโตสูงถึง 1 ล้านล้านบาทในปี 2027 เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะอร่อยหรือสะดวกแค่ไหน แต่โทษที่ได้จากการทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็นับว่ามหาศาลเลยทีเดียว
ไม่ว่าจะเป็นสารอาหารที่ไม่ครบถ้วน รวมถึงปริมาณโซเดียมที่สูงลิ่ว ทำให้นอกเหนือจากความอร่อยแล้ว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ก็ดูจะมีแต่โทษมากกว่าประโยชน์
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้หลายคนอาจต้องตัดใจ เลิกทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไป เนื่องจากปัญหาทางสุขภาพ
แต่ไม่ใช่กับคุณ Kevin และคุณ Kevin ซึ่งพวกเขาเองก็เป็นคนที่ชื่นชอบการทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเช่นกัน
ซึ่งแทนที่จะเลิกทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปเลย พวกเขากลับเลือกสร้างอาหารชนิดนี้ ออกมาในรูปแบบที่ดีต่อสุขภาพขึ้นมาแทนในชื่อ immi
และปัจจุบัน immi ก็สามารถระดมทุนไปได้แล้วกว่า 120 ล้านบาท
เรื่องราวของ immi น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับผู้ก่อตั้งทั้ง 2 คนก่อน
ที่น่าแปลกคือทั้งคู่ดันชื่อ Kevin เหมือนกัน
คนแรกคือคุณ Kevin Lee เป็นชาวไต้หวันที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพ่อแม่ของเขา ไม่อยากให้ลูกต้องเติบโตไปเป็นชาวนา เหมือนปู่ย่าที่ไต้หวัน
ซึ่งเรื่องนี้ก็ส่งผลให้คุณ Kevin Lee หันมาสนใจในด้านเทคโนโลยีแทน แต่ถึงอย่างนั้นอาหารที่เขาชื่นชอบก็ยังคงเป็นอาหารเอเชีย
จนในที่สุดเขาก็ได้ทำงานเป็น Product Manager ในบริษัทเกมมือถือชื่อ Kabam และได้รู้จักกับคุณ Kevin Chanthasiriphan ซึ่งทำงานตำแหน่งเดียวกับเขา
คุณ Kevin Lee พบว่าคุณ Kevin Chanthasiriphan กับเขามีพื้นเพที่คล้ายกัน
โดยคุณ Kevin Chanthasiriphan เป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา มีคุณพ่อเปิดร้านอาหารไทยในลอสแอนเจลิส ส่วนคุณยายก็เปิดร้านก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ประเทศไทย
แม้จะมาจากคนละประเทศ แต่ทั้งคู่ก็เติบโตมาพร้อมกับอาหารเอเชีย
ทำให้ทั้งสองเข้าขากันได้ในเรื่องอาหารเป็นอย่างดี
แต่สาเหตุจริง ๆ ที่ทำให้ทั้งคู่เริ่มหันมาทำ immi ก็เป็นเพราะ ผู้ใหญ่ในครอบครัวของทั้งคู่ ที่ประสบปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดในสมอง หรือความดันโลหิตสูง
ซึ่งส่วนหนึ่งของอาการเหล่านี้ก็มาจาก การที่ไม่ได้ทานอาหารที่มีโภชนาการที่ดี
พอเรื่องเป็นแบบนี้ คุณ Kevin Chanthasiriphan จึงเสนอไอเดียว่า ทำไมเราไม่ทำแบรนด์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ แล้วใช้ความเป็นเอเชียที่เรามีมาผสมผสานเข้าไปด้วย
จากเรื่องนี้ ทำให้ราเม็งกึ่งสำเร็จรูปที่ดีต่อสุขภาพในชื่อ immi ก่อตั้งขึ้นในปี 2019
ทำไมต้องเป็นราเม็งสำเร็จรูป ?
คำตอบของเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ทั้งคู่ชอบกินอาหารตระกูลบะหมี่ ถึงขนาดที่สามารถทานบะหมี่เป็นอาหารเช้าได้เลย
รวมถึงถ้าหากลองมองดูในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแล้ว แม้ว่ามันจะมีตัวเลือกมากมาย แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ได้ดีต่อสุขภาพ ทั้ง ๆ ที่หลายแบรนด์จะพยายามบอกว่า มันเป็นสูตร “เพื่อสุขภาพ” แล้วก็ตาม
แล้ว immi แตกต่างจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในท้องตลาดอย่างไร ?
ถ้าให้ลองเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการของ immi และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป Nongshim
immi 1 ซอง มีคาร์โบไฮเดรตอยู่ที่ 6 กรัม, โปรตีน 21 กรัม, โซเดียม 890 กรัม, ไฟเบอร์ 18 กรัม และมีส่วนผสมจากพืช หรือ Plant-Based 100%
ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป Nongshim มีคาร์โบไฮเดรตอยู่ที่ 34 กรัม, โปรตีน 6 กรัม, โซเดียม 1,310 กรัม, ไฟเบอร์ 2 กรัม
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ก็ทำให้เห็นว่า immi นั้นดีต่อสุขภาพมากกว่า เมื่อเทียบกับการทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้ออื่น ๆ ในท้องตลาด
ในขณะเดียวกัน immi ยังเน้นส่วนผสมจากพืชทั้งหมด ซึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปปกติ จะยังใส่ส่วนผสมจากสัตว์อยู่บ้าง เช่น ไข่, หมูผง และหมูอบแห้ง
แม้ความแตกต่างของ immi กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้ออื่น ๆ จะดูเป็นจุดเล็ก ๆ ที่ไม่ได้มากมายอะไรนัก แต่ด้วยเทรนด์สุขภาพ ที่ทุกคนกำลังเริ่มหันมาสนใจสุขภาพกันมากขึ้น ก็ทำให้ในรอบการระดมทุน Seed บริษัท immi สามารถระดมทุนได้ถึง 120 ล้านบาท
ซึ่งเรื่องนี้ก็ทำให้เราเห็นว่า ถึงแม้คนเราจะรู้ทั้งรู้ว่าอาหารบางอย่างเราก็ไม่ควรทาน แต่ด้วยความอร่อยของมันก็คงเป็นไปได้ยากที่จะเลิกทาน ในขณะเดียวกันถ้าหากว่ามีอะไรที่พอจะทดแทนได้ หลายคนก็ยินดีที่จะลอง เพื่อให้ได้สัมผัสรสชาติแห่งความสุข โดยที่รู้สึกผิดน้อยลงสักนิดก็ยังดี
ในด้านนักลงทุนอย่างคุณ Melissa Facchina ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ในบริษัท Siddhi Capital
ให้มุมมองในการลงทุนกับ immi ว่า เธอรู้สึกทึ่งและประทับใจในแบรนด์เป็นอย่างมาก
เธอบอกว่าผู้บริโภคในยุคนี้ กำลังมองหาทางเลือกของอาหาร ที่มีส่วนผสมที่มีคุณภาพมากขึ้น และแบรนด์ยังต้องดูน่าเชื่อถือด้วย
ปัจจุบัน immi มีจำนวนลูกค้าประมาณ 4,000 รายแล้ว ซึ่งในอนาคต immi ก็หวังจะเป็นอาหารทางเลือก สำหรับเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ ที่มองหาอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ยังต้องการรสชาติความเข้มข้น อร่อยแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่
รวมถึงเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียง ที่จะทำให้อาหารของเอเชีย กระจายไปสู่นานาประเทศอีกด้วย
กรณีของ immi ทำให้เราเห็นว่า ทุกตลาดยังมี “ช่องว่าง” เสมอ
อย่างตลาดของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่มีผู้เล่นหลายรายอยู่แล้ว และลูกค้าส่วนใหญ่ก็พึงพอใจในคุณสมบัติของสินค้า
แต่คุณ Kevin ทั้ง 2 คนก็ยังสามารถหาช่องว่าง ที่ยังไม่ได้รับการเติมให้เต็มจนเจอ
กลายเป็นราเม็งกึ่งสำเร็จรูป ที่ดีต่อสุขภาพ
ตอบโจทย์คนที่อยากได้ความอร่อยแบบเดิม ๆ แต่เพิ่มเติมคือมีประโยชน์มากขึ้นด้วย
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.