S’well ขวดน้ำแบบใช้ซ้ำ ไอเทมแฟชั่น ที่ขายได้ 3 พันล้าน
Business

S’well ขวดน้ำแบบใช้ซ้ำ ไอเทมแฟชั่น ที่ขายได้ 3 พันล้าน

13 ธ.ค. 2021
S’well ขวดน้ำแบบใช้ซ้ำ ไอเทมแฟชั่น ที่ขายได้ 3 พันล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่าในปี 2018 นั้นตลาดขวดน้ำแบบใช้ซ้ำ มีมูลค่าอยู่ที่ 270,320 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตไปพร้อม ๆ กับเทรนด์รักษ์โลก ซึ่งผู้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจ
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เทรนด์นี้จะได้รับความสนใจ ย้อนกลับไปในปี 2009 ขวดน้ำแบบใช้ซ้ำ ในท้องตลาดส่วนใหญ่ มักจะมีหน้าตาที่ดูเรียบ ๆ และไม่สวยงามแบบในปัจจุบัน ทำให้หลายคนไม่อยากใช้ขวดน้ำแบบนี้ ถึงแม้จะรู้ว่ามันดีต่อโลกแค่ไหน
และเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นกับคุณ Sarah Kauss เช่นกัน
เธอจึงตัดสินใจสร้าง S’well แบรนด์ขวดน้ำใช้ซ้ำแบบพรีเมียม ที่สร้างยอดขายกว่า 3,000 ล้านบาท และเคยได้ไปวางขายในร้านสตาร์บัคส์อีกด้วย
แล้วคุณ Sarah Kauss ทำอย่างไร ให้ขวดน้ำธรรมดา ๆ ขายได้ราคาแพงและมีคนซื้อ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เดิมทีก่อนที่คุณ Sarah Kauss จะเริ่มต้นทำแบรนด์ S’well เธอก็เป็นคนหนึ่งที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ตัวเธอกลับรู้สึกอายทุกครั้ง ที่ต้องหยิบขวดน้ำแบบใช้ซ้ำออกมาดื่ม เพราะหน้าตาที่ไม่สวยงาม
ซึ่งเธอก็มีความเชื่อว่า น่าจะมีอีกหลายคน ที่มีความคิดเหมือนกัน
เรื่องนี้ทำให้คุณ Sarah Kauss ตัดสินใจที่จะเริ่มทำแบรนด์ของตัวเอง โดยใช้เงินเก็บของตัวเองประมาณ 1 ล้านบาท มาเริ่มทำขวดน้ำแบบใช้ซ้ำ แบรนด์ขวดน้ำใช้ซ้ำแบบพรีเมียมชื่อ S’well จึงเปิดตัวขึ้นในปี 2010
ซึ่ง S’well เปรียบเสมือนบทเรียนธุรกิจ ที่คุณ Sarah Kauss ต้องค่อย ๆ เรียนรู้
โดยในช่วงแรกของ S’well นั้นใช้วิธีการขายแบบ Door to Door หรือการขายสินค้าแบบเคาะตามบ้านไปเรื่อย ๆ
แต่ก็ขายโดยที่ไม่ได้ตระหนักว่าจะมีสินค้าเพียงพอหรือไม่ ทำให้ขณะที่เธอสะพายกระเป๋าที่มีขวดน้ำ พร้อมแค็ตตาล็อกทำเอง ไปขายตามบ้าน พอมีลูกค้าสนใจ กลับไม่มีสินค้าแบบที่ลูกค้าถามหา
ต่อมาในปี 2011 บรรณาธิการของนิตยสาร ชื่อ O, The Oprah Magazine ได้ติดต่อคุณ Sarah Kauss มาเพื่อทำคอนเทนต์ลงในนิตยสาร
แต่สุดท้ายก็ติดปัญหาอีกครั้ง เพราะแม้ว่าสินค้าของ S’well จะมีหลายดีไซน์ แต่กลับมีเพียงแค่ขวดสีฟ้าสีเดียวเท่านั้น ทำให้คุณ Sarah Kauss ขยายแบบสินค้า จากเดิมที่มีเพียง 1 สี เป็น 6 สี ก่อนจะเพิ่มต่อไปเรื่อย ๆ
และแล้วโอกาสสำคัญของ S’well ก็มาถึงในปี 2013 ที่แบรนด์ได้รับการติดต่อจากสตาร์บัคส์ ให้ไปทดลองวางขายสินค้าในร้านกว่า 140 สาขา
ซึ่งผลตอบรับก็คือ สินค้าขายหมดเกลี้ยง แม้จะไม่ได้ทำการตลาดอะไรเลยก็ตาม
ทำให้ความสัมพันธ์กับ S’well และสตาร์บัคส์ ไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เพราะเมื่อคุณ Sarah Kauss
ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณ Howard Schultz ซึ่งเป็น CEO ของสตาร์บัคส์ในขณะนั้น ก็ทำให้เธอได้โอกาสในการร่วมออกแก้วในคอลเลกชันวันหยุด ปี 2013
และเรื่องนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือกับแบรนด์อื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น Saks & Company,
Neiman Marcus, Target, Nordstrom และ Bloomingdale’s ทำให้สินค้าของเธอถูกส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ กว่า 65 ประเทศทั่วโลก
ทำให้ในปี 2017 แบรนด์ S’well ก็สามารถทำยอดขายทะลุ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3,300 ล้านบาทไทย
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้แบรนด์ S’well ขายได้ แม้ตัวขวดน้ำจะมีราคาอยู่ที่ 1,000-2,500 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูง เมื่อเทียบกับแบรนด์ขวดน้ำแบบใช้ซ้ำแบรนด์อื่น ๆ
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ภาพลักษณ์ที่ S’well วางตัวมาตั้งแต่แรก
โดยในตอนที่ S’well เปิดตัวนั้น แบรนด์ก็วางตัวเองเป็นสินค้า “พรีเมียม” มาตั้งแต่เริ่มต้น และนอกจากดีไซน์ที่สวยงามแล้ว แบรนด์ยังขายนวัตกรรมการเก็บอุณหภูมิด้วย
ทำให้แม้ว่าสินค้า S’well จะมีราคาสูง แต่ก็สามารถขายได้ เพราะคุณค่าที่ผู้บริโภคได้รับจากแบรนด์ และที่สำคัญด้วยการตั้งราคาแบบนี้ ยังช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ความ “แพง” ให้กับผู้ใช้
นอกจากนี้ด้วยรสนิยมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ที่มีแนวโน้มแสดงตัวตนของตัวเอง ผ่านข้าวของเครื่องใช้มากขึ้น
ส่งผลให้เมื่อมีสินค้าใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ภาพลักษณ์ของตนเอง แม้จะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ก็พร้อมที่จะจ่ายเงินซื้อ
ซึ่ง S’well เลือกที่จะทำสินค้าให้เป็น “สินค้าแฟชั่นสวยงาม” มากกว่า สินค้าของใช้ปกติ
และการมีจุดยืนในเรื่องนี้ จึงยิ่งส่งเสริมเทรนด์การแสดงความเป็นตัวตน มากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนั้น ด้วยแนวโน้มการเติบโตของตลาดขวดน้ำแบบใช้ซ้ำ คุณ Sarah Kauss ก็ได้ตัดสินใจที่จะเปิดตัวแบรนด์ใหม่ในชื่อ S’ip by S’well ซึ่งเป็นแบรนด์ที่มีราคาย่อมเยามากขึ้น ในปี 2016 เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าอีกกลุ่ม
รวมถึงออกผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารแบบใช้ซ้ำ ในชื่อ S’well Eats และ S’nack by S’well เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์การเป็นแบรนด์เพื่อสิ่งแวดล้อม และขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มสินค้าใหม่
ที่น่าสนใจคือ แม้ว่าแบรนด์จะมีแนวโน้มที่เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ S’well ก็ยังอยู่ภายใต้
การดูแลของคุณ Sarah Kauss และยังไม่เคยระดมทุนเลยแม้แต่ครั้งเดียว
จนกระทั่งปี 2020 ที่มีการจ้างคุณ Hugh Rovit ผู้ที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งผู้บริหารบริษัท ผลิตสินค้าตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์กว่า 10 ปี เข้ามาเป็น CEO ของแบรนด์
เรียกได้ว่า กรณีของคุณ Sarah Kauss และ S’well จึงเป็นอีกหนึ่งเคสธุรกิจที่น่าสนใจ เพราะสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเธอ ไม่ใช่แค่การนำเอาความชอบมาทำเป็นแบรนด์
แต่ยังรวมไปถึงการทำงานที่เธอก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จแต่แรก แต่ใช้การค่อย ๆ เรียนรู้
รวมถึงกล้าที่จะสร้างโอกาสให้ตัวเอง อย่างการตัดสินใจเข้าไปคุยกับคุณ Howard Schultz
ก็ทำให้เธอได้เปิดโอกาสให้กับตัวเองและแบรนด์จนเติบโตมาได้จนทุกวันนี้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.