กรณีศึกษา Tetra Pak บริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่ม เข้ามามีบทบาทต่อการรีไซเคิลอย่างไร ?
Business

กรณีศึกษา Tetra Pak บริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่ม เข้ามามีบทบาทต่อการรีไซเคิลอย่างไร ?

17 ธ.ค. 2021
หลายคนน่าจะเคยอ่านวิธีการสร้างธุรกิจให้สามารถขายสินค้าได้จำนวนมาก ๆ อยู่บ่อยครั้ง
แต่ประเด็นหนึ่งที่มักจะถูกละเลยในการพูดถึง คือ หลังจากขายสินค้าไปแล้ว สินค้าที่เราได้ผลิตขึ้นมาอาจไปจบลงด้วยการเป็นขยะอยู่ที่ไหนสักแห่ง หรือหลายร้อยแห่ง
ดังนั้น บริษัทที่เป็นผู้ผลิตเอง ตั้งแต่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ไปจนถึงผู้ผลิตตัวสินค้า ก็ควรมีส่วนเข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้ไม่แพ้การผลิตและขายสินค้า
และถ้าหากใครที่ยังไม่เห็นภาพว่าบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ จะไปมีส่วนร่วมในปลายทางของสินค้าตัวเองได้อย่างไร ?
วันนี้ลงทุนเกิร์ล มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด
ซึ่งคุณปฏิญญาจะมาร่วมแบ่งปันแนวคิดตั้งแต่การผลิต ตลอดจนการจัดการกับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วที่บริษัทผลิตขึ้น
แล้วทาง เต็ดตรา แพ้ค ประเทศไทย มีแนวคิดอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ เต็ดตรา แพ้ค กันสักเล็กน้อยนะคะ
เต็ดตรา แพ้ค (Tetra Pak) เป็นบริษัทผู้ให้บริการโซลูชันอุปกรณ์เครื่องจักรแบบครบวงจรสำหรับการแปรรูป และผลิตเครื่องดื่ม และอาหาร รวมไปถึง “บรรจุภัณฑ์ประเภทกล่องที่ทำจากกระดาษเป็นหลัก”
โดย เต็ดตรา แพ้ค มีจุดเริ่มต้นจากประเทศสวีเดน และก่อตั้งขึ้นในปี 1952 หรือเมื่อประมาณ 70 ปีก่อน
ส่วนในประเทศไทย เต็ดตรา แพ้ค ได้ดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว
ที่น่าสนใจคือ ในปี 2020 ที่ผ่านมานี้ เต็ดตรา แพ้ค ประเทศไทย ยังสามารถจัดส่งบรรจุภัณฑ์มากกว่า 6,800 ล้านกล่องให้แบรนด์ต่าง ๆ มากกว่า 50 แบรนด์
ซึ่งตัวบรรจุภัณฑ์ของ เต็ดตรา แพ้ค ยังมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยกว่า 70% ของกล่องเครื่องดื่ม หรือตัวบรรจุภัณฑ์ จะผลิตมาจาก “กระดาษ” ซึ่งสามารถนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด 100% และกระดาษที่นำมาใช้ผลิต ยังมาจาก “ป่าปลูกเชิงพาณิชย์” ที่ได้รับการรับรองจาก FSC™ (Forest Stewardship Council™) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ส่งเสริมการจัดการป่าไม้อย่างมีความรับผิดชอบ
หรือถ้าพูดง่าย ๆ ก็คือ ที่มาของกระดาษเหล่านี้จะไม่ได้มาจากป่าธรรมชาติ แต่มาจากป่าที่ปลูกไว้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และถ้าหากมีการตัดต้นไม้ไปแล้ว ก็จะมีการปลูกทดแทนขึ้นใหม่อยู่ตลอดและเพิ่มพื้นที่ป่า
ส่วนอีก 25-30% ที่เหลือประกอบด้วยอะลูมิเนียม และพลาสติก เพื่อใช้ปกป้องอาหารและเครื่องดื่มให้สามารถเก็บได้นาน และสะอาดปลอดภัย โดยไม่ต้องแช่เย็นและไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่ยังถือเป็นโจทย์สำคัญในการรีไซเคิล
ดังนั้น ด้วยความที่ เต็ดตรา แพ้ค เป็นพี่ใหญ่แห่งวงการบรรจุภัณฑ์ระดับโลก และเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีการผลิตและบรรจุแบบปลอดเชื้อ รวมไปถึงกล่องเครื่องดื่มที่เป็นกล่องแบบปลอดเชื้อที่บ้านเราเรียกกันว่า “กล่องยูเอชที”
สิ่งที่ตามมาคือ ความรับผิดชอบต่อบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นก็ต้องมากตามไปด้วย
ปีที่แล้ว เต็ดตรา แพ้ค จึงได้มีการกำหนดแคมเปญ “Go Nature. Go Carton.”
ซึ่งจะเป็นกรอบใหญ่ที่ เต็ดตรา แพ้ค ทั่วโลกร่วมกันปฏิบัติ
โดยมีเป้าหมายในการ “สื่อสาร” และต้องการแสดงถึง “ความมุ่งมั่น” ของบริษัท ที่ต้องการจะเดินหน้าไปสู่การเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนที่สุดในโลก
สำหรับแคมเปญ Go Nature. Go Carton. จะมีการให้ความสำคัญกับประเด็นหลัก ๆ เช่น
- พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีการใช้ “วัสดุ” จากธรรมชาติ และวัสดุรีไซเคิลในสัดส่วนที่มากขึ้น
- เมื่อวัสดุถูกใช้แล้ว ต้องสามารถนำกลับมาใช้ให้ได้ทุกส่วน
- ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้เท่ากับ 0 ตลอดการผลิตและตลอดวงจรชีวิตของบรรรจุภัณฑ์
- ประหยัดพลังงานในการขนส่ง
และในปีนี้ ทาง เต็ดตรา แพ้ค ก็ได้ก้าวเข้าสู่เฟสที่ 2 ของแคมเปญ Go Nature. Go Carton. ซึ่งพูดถึงเรื่อง“Unfold Recycling”
โดยจะเน้นสื่อสารไปที่ประเด็น “การรีไซเคิล” กล่องบรรจุภัณฑ์ที่บริษัทผลิตขึ้น เพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนว่า บริษัทจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับแค่การผลิตสินค้าเพียงด้านเดียว แต่หลังจากบรรจุภัณฑ์ถูกใช้แล้ว บริษัทอยากเห็นการจัดการที่ถูกวิธี และมีการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
ภายใต้เรื่องของ Unfold Recycling ทั่วโลก เป็นไปตามคอนเซปต์ของแคมเปญสื่อสาร Go Nature Go Carton ซึ่งจะมีองค์ประกอบอยู่ 6 ด้าน ซึ่งก็คือ
1. การออกแบบเพื่อการรีไซเคิล (Go design for recycling) ซึ่งถือเป็นขั้นแรกที่มีความสำคัญต่อทั้งกระบวนการ
ดังนั้น เต็ดตรา แพ้ค จะลดการใช้วัสดุที่ไม่ได้มาจากธรรมชาติให้ได้มากที่สุด และยังมีการทำ R&D เพื่อหาวัสดุที่จะมาใช้ทดแทนพลาสติก และอะลูมิเนียม ซึ่งในตอนนี้สามารถทำสำเร็จได้บางส่วนแล้ว และอยู่ในขั้นของการทดลอง
2. ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน (Go industry coalition)
โดยร่วมมือกับทั้งผู้ผลิตกล่องเครื่องดื่มรายอื่น กับแบรนด์เจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารเครื่องดื่ม, หน่วยงานท้องถิ่น และโดยเฉพาะภาครัฐที่กำหนดนโยบายและทิศทางในการรีไซเคิล สื่อสารเรื่องการรีไซเคิลที่ไม่ใช่เรื่องของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ดังนั้นการจะทำให้การรีไซเคิลเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ก็ควรให้ความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน
3. เพิ่มกำไร ให้กับผู้ประกอบการรีไซเคิล (Go recycle)
สร้างช่องทางการรับซื้อวัสดุจากโรงงานรีไซเคิล เพื่อให้ผู้ประกอบการรีไซเคิลมีรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจ เพราะหากขาดพวกเขาเหล่านี้ไป วงจรของการรีไซเคิลก็จะเกิดปัญหาได้
นอกจากนี้ ด้วยความที่ผู้ประกอบการรีไซเคิล มีทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ อีกทั้งแต่ละแห่งก็จะมีความชำนาญในการรีไซเคิลวัสดุที่แตกต่างกัน ดังนั้นทาง เต็ดตรา แพ้คจึงได้มีการเข้าไปให้ความรู้ถึงวิธีการรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มอย่างถูกต้อง โดยอาศัยประสบการณ์ที่ทำงานร่วมกับผู้จัดเก็บและรีไซเคิลทั่วโลก เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรู้ และสามารถนำกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วกลับมารีไซเคิลได้เพิ่มขึ้น
4. นำวัสดุที่รีไซเคิลแล้ว กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุด (Go recycling material)
โดยตัวกระดาษที่ถูกรีไซเคิลแล้ว จะถูกนำกลับมาใช้ผลิตผลิตภัณฑ์กระดาษ เช่น กล่องลังนอก หรือสิ่งที่มีประโยชน์อื่น ๆ อีกครั้ง ในส่วนของพลาสติกและอลูมิเนียมมีการพัฒนากระบวนการ Upcycle เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อไปในรูปแบบของอุปกรณ์และเครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นหลังคา ไม้อัดเทียม เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้อื่น ๆ
5. ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการรีไซเคิล (Go recycling performance)
การทำให้เกิดมูลค่าสูงสุดในการรีไซเคิล เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมีความยั่งยืน เต็ดตรา แพ้ค ทำงานร่วมกับนักวิจัยในการพัฒนากระบวนการรีไซเคิลใหม่ ๆ ที่สามารถนำกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วมาสร้างมูลค่าใหม่ รวมถึงการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ร่วมกับบริษัทรีไซเคิล เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและความสามารถในการดำเนินกิจการในระยะยาว
6. การจัดเก็บกล่องเครื่องดื่มกลับมา (Go carton collection)
อยากให้ทุกคนลองนึกภาพตามว่า ในหนึ่งวันเราทิ้งขยะที่ทำมาจากวัสดุอะไรบ้าง
ซึ่งแน่นอนว่า ก็คงจะมีตั้งแต่วัสดุอย่างกล่องเครื่องดื่ม ขวดแก้ว ไปจนถึงพลาสติก ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีวิธีการจัดเก็บ และรีไซเคิลด้วยขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไป
และการใช้งานแต่ละบรรจุภัณฑ์ก็ขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ซึ่งคงไม่สามารถให้ผู้ผลิตทุกรายเปลี่ยนมาใช้วัสดุให้เหมือนกันทั้งหมดได้
ดังนั้น สิ่งที่ทางเต็ดตรา แพ้ค ประเทศไทย คิดว่าน่าจะช่วยเร่งกระบวนการนี้ได้ ก็คือ “การประสานงานให้เกิดการจัดเก็บสิ่งที่ตัวเองผลิตกลับมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ พร้อมๆ กับการสนับสนุนให้โรงงานรีไซเคิลมีศักยภาพการผลิตสินค้าจากกล่องเครื่องดื่มรีไซเคิลที่มีมูลค่าสูง เพื่อที่วัสดุใช้แล้วเหล่านั้นจะได้กลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด”
นอกจากนี้ ยังต้องเข้าไปให้ความรู้และทำความเข้าใจกับหน่วยงานจัดเก็บขยะว่า กล่องเครื่องดื่มเหล่านี้สามารถส่งกลับมาให้โรงงานผู้ประกอบการรีไซเคิลนำไปใช้ต่อได้ เพราะไม่เช่นนั้น กล่องเหล่านี้ก็อาจไปจบลงในหลุมฝังกลบขยะ
โครงการด้านการจัดเก็บและรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มหรือกล่องยูเอชทีของเต็ดตรา แพ้ค ภายใต้เรื่องราว Unfold Recycling นั้น มีอยู่ในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย คือ โครงการที่ชื่อว่า “BECARE Project” ซึ่งย่อมาจาก Beverage Carton Recycling Project หรือเรียกในอีกชื่อว่า “โครงการกล่องยูเอชทีรีไซเคิลได้”
โดยตัวโครงการนี้มีเป้าหมายในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดเก็บ และการรีไซเคิลกล่องยูเอชทีอย่างถูกวิธี เพื่อลดจำนวนขยะจากกล่องยูเอชที แถมยังได้เพิ่มอัตราการรีไซเคิลกล่องยูเอชทีไปพร้อม ๆ กัน
ซึ่ง BECARE Project เป็นโครงการที่มีมากกว่า 5 ปี และมีจังหวัดที่เข้าร่วมโครงการแล้วมากถึง 20 จังหวัด
โดยตัวโครงการจะมีการสร้างจุดรับกล่องยูเอชทีใช้แล้วร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และอาสาเทศบาล รวมถึงโรงเรียน, สถานพยาบาล และหน่วยงานสิ่งแวดล้อมในเขต ของจังหวัดที่เป็นสมาชิก
หลังจากสร้างจุดรับกล่องยูเอชทีใช้แล้วเรียบร้อย
ทางโครงการก็จะส่งรถไปรับกล่องที่ใช้แล้วกลับมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
ซึ่งในปัจจุบันตัวโครงการสามารถจัดเก็บกล่องได้มากกว่า 2,763 ตัน
BECARE Project ยังมีการนำกล่องยูเอชทีมารีไซเคิลเป็นกระดาษทำ “สื่ออักษรเบรลล์” สำหรับผู้มีความบกพร่องทางสายตา โดยที่ผ่านมา สามารถส่งมอบไปแล้วกว่า 1 ล้านแผ่นให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอด 13 แห่งทั่วไทย เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่ได้ช่วยสิ่งแวดล้อม และยังได้ช่วยเหลือผู้ขาดโอกาสในสังคมอีกด้วย
แต่ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญ และมีผลต่อประสิทธิภาพในการจัดเก็บและรีไซเคิล ก็คือ “การร่วมมือ”
เนื่องจากผู้บริโภค ที่ใช้กล่องยูเอชทีมีอยู่ทุกพื้นที่ ทั่วประเทศไทย
ดังนั้น จึงต้องอาศัยแรงจากทุกภาคส่วน เข้ามาช่วยให้งานจัดเก็บและรีไซเคิลกล่องยูเอชทีสามารถดำเนินได้ตามเป้าหมาย
โดยตลอดเวลากว่า 5 ปีที่ BECARE Project ได้ดำเนินงานมา ตัวโครงการยังได้ช่วยส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือระหว่างพันธมิตรทางอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ผลิตกล่องเครื่องดื่มเช่นกัน แบรนด์เจ้าของผลิตภัณฑ์ หน่วยงานรัฐในท้องถิ่น และองค์กรต่าง ๆ
ซึ่งความสำเร็จของ BECARE Project ในการส่งเสริมให้เกิดการร่วมมือกันของหน่วยงานต่าง ๆ ยังได้สะท้อนออกมาให้เห็นจาก จำนวนจังหวัดที่เข้าเป็นสมาชิกในปี 2021 ที่เดิมทีทางโครงการได้วางแผนไว้อยู่ที่ 16 จังหวัด
แต่ผลปรากฏว่า หน่วยงานท้องถิ่น ในจังหวัดอื่น ๆ เล็งเห็นถึงประโยชน์ และศักยภาพของ BECARE Project จึงได้ติดต่อเข้ามาขอเข้าร่วมโครงการ จนทำให้จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นรวดเร็วกว่าที่วางแผนไว้ และยิ่ง BECARE Project มีจังหวัดที่เข้าร่วมมากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้การจัดเก็บ และรีไซเคิลเกิดผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น
อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ ในปีหน้าทางโครงการยังได้ต่อยอดความสำเร็จของ BECARE Project ด้วยการพัฒนา “แอปพลิเคชัน” ที่จะนำมาใช้สื่อสารกับหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ ในเรื่องการจัดเก็บ เช่น
แต่ละจุดรับมีจำนวนกล่องยูเอชทีที่เก็บมาแล้วเท่าไร
และเมื่อรู้ตัวเลขที่แน่นอน ทางโครงการก็จะนำไปประเมินว่า หากจะส่งรถ 1 คันไปบรรทุกกล่องให้เต็มคันรถ จะต้องแวะไปที่จุดไหนบ้าง เพื่อให้การส่งรถออกไปในแต่ละครั้งเกิดประสิทธิภาพ และลดการสูญเสียทรัพยากรในกระบวนการขนส่งให้ได้มากที่สุดนั่นเอง..
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จาก เต็ดตรา แพ้ค ประเทศไทย ก็คือ การทำธุรกิจจึงไม่ใช่แค่การคำนึงว่าเราต้องการนำเสนออะไรเท่านั้น แต่ยังต้องมองไปให้ไกลกว่านั้นว่า สิ่งที่เราผลิตจะสร้างผลกระทบอะไรต่อโลก และในฐานะผู้ผลิตควรจะเข้ามารับผิดชอบอย่างไร ซึ่งคุณปฏิญญา ก็ได้ให้แง่คิดในเรื่องนี้ไว้ว่า
“หน้าที่ของเรา คือ ทำอย่างไรให้กล่องที่เราผลิตหรือกล่องประเภทเดียวกันไม่ถูกทิ้งกลายเป็นขยะ
และทำให้กล่องเหล่านี้ สามารถนำกลับมาสู่กระบวนการให้ได้มากที่สุด”
ดังนั้น สิ่งที่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างเราทำได้ ก็คือ พัฒนาตัวบรรจุภัณฑ์ตัวใหม่ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ใช้วัสดุทดแทนได้จากธรรมชาติมากขึ้น รีไซเคิลง่ายขึ้น ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการรีไซเคิล เพื่อที่ในอนาคตเราจะสามารถนำวัสดุใช้แล้วทั้งหมดกลับมารีไซเคิลได้ โดยไม่สร้างภาระให้โลก”
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมแคมเปญ Go Nature Go Carton ได้ที่ https://www.tetrapak.com/…/campaig…/go-nature-go-carton/home
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.