วิเคราะห์ รู้ทั้งรู้ว่าสปอยล์ แต่ทำไมถึงมีคนชอบเข้าไปดู
Entertainment

วิเคราะห์ รู้ทั้งรู้ว่าสปอยล์ แต่ทำไมถึงมีคนชอบเข้าไปดู

18 ธ.ค. 2021
วิเคราะห์ รู้ทั้งรู้ว่าสปอยล์ แต่ทำไมถึงมีคนชอบเข้าไปดู /โดย ลงทุนเกิร์ล
วิเคราะห์ รู้ทั้งรู้ว่าสปอยล์ แต่ทำไมถึงมีคนชอบเข้าไปดู /โดย ลงทุนเกิร์ล
Spider-Man: No Way Home อาจจะเป็นภาพยนตร์ที่ใคร ๆ ต่างให้ความสนใจในขณะนี้ เพราะนอกจากจะได้เจอหน้านักแสดงตัวร้ายรุ่นเก่า อย่าง Willem Dafoe กับบทบาท Green Goblin หรือ Alfred Molina ที่กลับมาในบท Doctor Octopus และ Jamie Foxx ในบท Electro 
ก็ยังรอลุ้นว่าการกลับมาของสไปเดอร์แมนคนก่อน ๆ อย่าง Tobey Maguire และ Andrew Garfield จะเป็นเพียงแค่ข่าวลือหรือไม่ 
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ฉายไปแล้วในต่างประเทศ ทำให้มีหลาย ๆ คน ต้องหลบสปอยล์กันยกใหญ่ 
แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีคนอีกกลุ่มที่วิ่งเข้าหา คลิปสปอยล์ของภาพยนตร์เรื่องนี้
แล้วทำไมบางคนถึงชอบดูสปอยล์ ? ลงทุนเกิร์ลจะวิเคราะห์ให้ฟัง
การสปอยล์ภาพยนตร์ เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว และเมื่อประกอบเข้ากับเทคโนโลยีในปัจจุบัน ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะห้ามปรามไม่ให้เกิดขึ้น 
อย่างไรก็ตาม มีความพยายามที่จะควบคุมคอนเทนต์เหล่านี้อยู่ เช่น Internet Movie Database (IMDb) หรือเว็บไซต์สำหรับวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ที่ออกกฎให้ทุกคนที่เขียนวิจารณ์ภาพยนตร์ ต้องใส่สัญลักษณ์เตือนว่ามีการเปิดเผยเนื้อหาหรือไม่ 
ซึ่งหากใครฝ่าฝืนกฎและเขียนเนื้อหาที่สปอยล์ โดยไม่ระบุให้ชัดเจน ก็มีสิทธิ์ที่จะถูก Blacklist จากเว็บไซต์ได้เลยทีเดียว
แต่พอมาอยู่ในพื้นที่เปิดอย่างในโซเชียลมีเดีย ไร้ผู้กำกับดูแล การหลีกเลี่ยงเนื้อหาสปอยล์เหล่านี้ ก็เป็นเรื่องที่ยากขึ้น 
ทำให้หลาย ๆ ครั้ง เราก็พลาดท่าเหลือบไปเห็นคอนเทนต์เหล่านี้ โดยไม่ทันตั้งตัว 
ซึ่งเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่ ไม่พอใจกับการสปอยล์ ก็เพราะการรู้ข้อมูลบางอย่าง อาจทำให้เสียอรรถรสเวลาได้ดูภาพยนตร์ฉบับเต็ม และไม่รู้สึกตื่นเต้นเมื่อฉากนั้นถูกฉายขึ้นมา 
หรือบางครั้งถ้าเห็นมาก ๆ เข้า ก็รู้สึกหมดสนุก จนอาจถึงขั้นไม่อยากไปดูในโรงภาพยนตร์ เลยทีเดียว
แต่ในทางกลับกัน ก็ยังมีอีกหลาย ๆ คนที่ชอบรู้เรื่องราวจุดพลิกผันของเรื่อง ก่อนที่จะได้ดูภาพยนตร์จริง
สำหรับเรื่องนี้ เหตุผลแรก อธิบายได้ด้วยพฤติกรรม FOMO หรือ Fear Of Missing Out ซึ่งเป็นลักษณะของคนที่กลัวจะตกเทรนด์ จนต้องตามติดทุกกระแส อัปเดตทุก ๆ เรื่องอย่างรวดเร็ว จนถึงขั้นสิงอยู่ในโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลา 
ดังนั้นถึงแม้ว่าตัวเองจะไม่ได้อินกับคอนเทนต์เหล่านั้น แต่พอเป็นเรื่องที่กำลังเป็นกระแส จึงไม่อยากพลาดที่จะตามไปเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ก่อนที่จะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง 
และแหล่งข้อมูลสำหรับหัวข้อภาพยนตร์ที่ดี ก็คือ การไปหาคอนเทนต์ที่มีการสปอยล์ จะได้ไม่ต้องเสียเวลาเข้าไปดูเต็ม ๆ เห็นปุ๊บรู้จุดไคลแมกซ์ของเรื่องทันทีเลย 
นอกจากนั้น ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มองว่าการรู้เนื้อหาก่อนชมภาพยนตร์ในโรง จะช่วยเพิ่มอรรถรสของการดูภาพยนตร์ให้สนุกมากยิ่งขึ้น 
ซึ่งพฤติกรรมนี้ก็ได้รับการทดลองตามหลักจิตวิทยา ในปี 2011 โดยคุณ Nicholas Christenfeld และคุณ Jonathan Leavitt นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย 
พวกเขาได้ให้ผู้สมัครทั้ง 30 คน เลือกอ่านหนังสือสั้น จาก 12 เรื่อง โดยที่ 2 เรื่องในนั้น จะมีคำอธิบายตอนจบเอาไว้แล้ว 
ผลปรากฏว่าคนเลือกอ่านหนังสือที่มีสปอยล์มากกว่า แม้บางเรื่องจะบอกรายละเอียดการหักมุม หรือจุดไคลแมกซ์ไว้หมดแล้วก็ตาม 
เนื่องจากผู้ทดลองรู้สึกเข้าใจโครงเรื่องมากขึ้น และไม่รู้สึกกลัวที่จะพลาดข้อมูลที่สำคัญ รวมทั้งยังรู้สึกสนุกขึ้น เพราะไม่ต้องคอยกังวลว่า ตอนจบของเรื่องจะสวยงามหรือว่าแสนเศร้า
ซึ่งความรู้สึกของผู้อ่านที่ได้รับรู้เรื่องการสปอยล์ตอนจบ ก็คงไม่ต่างอะไรกับการรู้จุดหักมุมของภาพยนตร์ 
อย่างสุดท้าย ช่วยในเรื่องการเตรียมใจ และการคาดการณ์คุณภาพของภาพยนตร์
โดยบางคนก็เลือกอ่านสปอยล์ภาพยนตร์ก่อน เพราะจะได้เตรียมรับมือกับความผิดหวัง, ความกลัว และความตื่นเต้น เช่น การไปดูภาพยนตร์สยองขวัญ การรู้ว่าช่วงไหนที่ผีจะโผล่ออกมา คงช่วยให้เราสามารถเตรียมใจได้ไม่น้อย 
นอกจากนั้นการอ่านสปอยล์ยังช่วยเราในการตัดสินใจ ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คุ้มค่ากับเงินและเวลา ที่เราจะไปดูที่โรงภาพยนตร์หรือไม่
ยิ่งบวกกับสถานการณ์โรคระบาด ที่ทำให้ภาพยนตร์ ถูกนำมาฉายบนสตรีมมิงเร็วขึ้นแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้คนอดใจไม่ไปชมในโรง และรอให้ภาพยนตร์มาเข้าแพลตฟอร์มที่ตัวเองเป็นสมาชิกแทน
อ่านมาถึงตรงนี้ เราอาจจะคิดว่าการสปอยล์ภาพยนตร์ คงส่งผลเสียต่อรายได้ยอดจำหน่ายตั๋ว เนื่องจากผู้ชมบางส่วนอาจจะตัดสินใจไม่ไปชมในโรง หลังจากเจอบทวิจารณ์ด้านลบ หรือการเล่าจุดหักมุม
อย่างในกรณีของ “Avengers: Endgame” สองพี่น้อง Russo ผู้กำกับภาพยนตร์และเหล่านักแสดง ก็ได้ออกมาร่วมกันติดแฮชแท็ก #DontSpoilTheEndgame เพื่อขอแฟน ๆ ให้งดสปอยล์เนื้อหาของภาพยนตร์ 
เพราะเพียงจุดไคลแมกซ์เล็ก ๆ ของเรื่อง อาจจะส่งผลไปถึงเนื้อหาหลักของทั้งจักรวาลเลยก็ได้ 
ซึ่งการที่พี่น้อง Russo ออกมาพูดแบบนี้ ก็เป็นการโปรโมตที่ชาญฉลาดบนโลกออนไลน์ เพราะนอกจากจะทำให้บางคนรู้สึกผิดที่จะสปอยล์เนื้อหาแล้ว ยังทำให้ภาพยนตร์เป็นที่พูดถึงมากขึ้น
นอกจากนั้นยังทำให้คนดูเกิดความสงสัยว่าในภาพยนตร์น่าจะมีเหตุการณ์สำคัญบางอย่างเกิดขึ้น จนต้องรีบไปดูภาพยนตร์เป็นรอบแรก ๆ เพราะกลัวว่าจะมีใครมาสปอยล์ฉากสำคัญ ๆ ก่อน
และการห้ามนี้เอง ก็อาจเป็นส่วนที่ส่งผลให้มียอดขายตั๋วจำนวนมหาศาล รายได้ในช่วงเปิดตัว พุ่งทะยานไปถึงกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นยอดเปิดตัวที่สูงเป็นประวัติการณ์ สูงเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับ Avengers: Infinity War
แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ ในบางครั้ง การสปอยล์กลับส่งผลดี ต่อรายได้จากการขายตั๋วของภาพยนตร์ได้เช่นกัน
เรื่องนี้อ้างอิงจากผลวิจัยของ Journal of Marketing พบว่า การที่มีคนสปอยล์เนื้อหา โดยเฉพาะการสปอยล์ในระดับที่รุนแรง เช่น ความสัมพันธ์หรือความตายของตัวละคร เป็นตัวเร่งที่ทำให้คนตัดสินใจไปดูภาพยนตร์มากขึ้น 
แต่จะส่งผลดีกับภาพยนตร์ที่มีเรตติงระดับปานกลาง ที่อาจจะไม่ได้ใช้งบการโฆษณาจำนวนมากเท่านั้น เพราะเมื่อคนได้อ่านสปอยล์ที่ดี ก็ส่งผลให้รู้สึกมั่นใจกับคุณภาพของภาพยนตร์ขึ้น
ในทางกลับกัน ถ้าเป็นภาพยนตร์ที่มีเรตติงสูงหรือต่ำไปเลย การสปอยล์ในแง่บวก อาจทำให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม และทำให้ผู้ชมไม่เชื่อถือในคุณภาพของภาพยนตร์แทน
การสปอยล์จึงถือเป็น อีกหนึ่งช่องทางในการโปรโมตภาพยนตร์ แบบปากต่อปากไปในตัว และทำให้เข้าถึงผู้ชมได้ในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม การที่เราไปดูภาพยนตร์ในโรงกับเพื่อน และออกมาพูดคุยเนื้อหาทันทีอย่างออกรส ก็อาจจะเป็นเรื่องที่ทำได้ปกติ 
แต่ถ้าเราอยากถ่ายทอดความรู้สึกเกี่ยวกับภาพยนตร์บนโลกโซเชียล บางครั้งก็อาจกลายเป็นคนที่สปอยล์ โดยไม่รู้ตัว
แล้วเราต้องใช้ระยะเวลาเท่าไรกัน ถึงเหมาะสมในการเปิดวงสนทนา ?
ถ้าให้พูดตามหลักแล้ว โดยปกติภาพยนตร์จะฉายในโรงประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งเวลาที่เหมาะสมในการพูดคุย ก็ควรทิ้งระยะเวลาอย่างน้อย 5 วันหลังจากที่ภาพยนตร์ฉายออกไป
ซึ่งการสปอยล์อาจจะไม่ใช่แค่การเล่าเนื้อหาบางส่วน แต่การทำคลิปแสดงรีแอ็กชัน “แชร์มุมมองเกี่ยวกับภาพยนตร์” หรือที่เราเรียกคลิป “POV” ก็ถือว่าเป็นการสปอยล์ภาพยนตร์เช่นกัน 
แล้วถ้าเราอยากหนีสปอยล์ทั้งหมดจริง ๆ จะต้องทำอย่างไร ? 
ทางที่ดีก็พยายามอย่า Google เกี่ยวกับภาพยนตร์ที่เราตั้งตารอดูเด็ดขาด หรือปิดการแจ้งเตือนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ล่วงหน้าไว้ก่อน 
นอกจากนั้น การเลือกเล่นแพลตฟอร์มโซเชียลก็สำคัญเหมือนกัน
อย่างอัลกอริทึมของ TikTok จะเสนอแต่เนื้อหาที่เราน่าจะสนใจเท่านั้น ซึ่งถ้าเราเลือกที่จะเลื่อนผ่านคอนเทนต์สปอยล์เหล่านั้นเร็ว ๆ ก็มีโอกาสที่จะทำให้เราไม่เห็นเนื้อหาสปอยล์อีก 
ดังนั้นก็เหลือแค่การหักห้ามใจของเราแล้วว่าจะกดเข้าไปเสพสื่อนั้นหรือไม่ 
แต่สำหรับอัลกอริทึมของ YouTube กลับมักโชว์เนื้อหาคอนเทนต์ที่เป็นกระแสนิยม รวมทั้งยังมีภาพปกที่สามารถสปอยล์คอนเทนต์โต้ง ๆ ให้เรารู้ก่อนได้ 
อย่างเคสล่าสุดที่หลายคนได้เห็นคลิปสปอยล์จากเรื่อง Spider-Man: No Way Home ที่ถึงแม้จะไม่กดเข้าไปดูคลิปเต็มก็ตาม แต่ก็โดนรูปปกเล่นงานจนได้
ท้ายที่สุดนี้ไม่ว่าเราจะชอบแสดงความคิดเห็น หรือรักการอ่านสปอยล์ไม่ใช่เรื่องที่ผิด หรือทำไม่ได้ แต่ก็ยังมีอีกหลาย ๆ คนที่ไม่เอนจอยกับการรับรู้เนื้อหาก่อน
ดังนั้นก่อนจะแสดงความคิดเห็น ก็ควรนึกถึงใจคนรอดู และเลือกแสดงในพื้นที่และระยะเวลาที่เหมาะสมจะดีกว่า..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.