Rachel Carlson ผู้สร้างกิจการมูลค่า 1.3 แสนล้าน ทำธุรกิจอะไร ?
Business

Rachel Carlson ผู้สร้างกิจการมูลค่า 1.3 แสนล้าน ทำธุรกิจอะไร ?

21 ธ.ค. 2021
Rachel Carlson ผู้สร้างกิจการมูลค่า 1.3 แสนล้าน ทำธุรกิจอะไร ? /โดย ลงทุนเกิร์ล
หากเรามองไปที่บริษัทใหญ่ ๆ น้อยนักที่จะเห็นผู้หญิงยืนอยู่ในตำแหน่งสูง ๆ ในองค์กร
แต่เรื่องนี้กลับไม่ใช่สำหรับคุณ Rachel Carlson นักธุรกิจสาวชาวอเมริกัน วัย 32 ปี ที่สามารถสร้างยูนิคอร์นสตาร์ตอัปขึ้นมา และบริหารจนมีมูลค่าสูงถึง 1.3 แสนล้านบาท
แล้วคุณ Carlson สร้างเนื้อสร้างตัวจากธุรกิจอะไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เมื่อไม่นานมานี้ Forbes ได้จัดอันดับให้คุณ Rachel Carlson เป็นหนึ่งในผู้หญิงที่ร่ำรวยด้วยตัวเองประจำปี 2021 ซึ่งถูกประเมินว่ามีทรัพย์สินมูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาทไว้ในครอบครอง
แต่นี่ก็ไม่ใช่ตำแหน่งแรกที่เธอได้รับ เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2017 คุณ Carlson ก็ติดอยู่ในหนึ่งในการจัดอันดับ “30 Under 30 List” หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จก่อนอายุ 30 ปี
และธุรกิจที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จในช่วงอายุ 30 ปี ก็คือ “Guild Education” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “Guild” แพลตฟอร์มด้านการศึกษา ธุรกิจมูลค่าแสนล้านบาทของเธอในปัจจุบันนั่นเอง
ซึ่งดีกรีก่อนที่เธอจะประสบความสำเร็จในธุรกิจ Guild ก็ไม่ธรรมดาเลย
คุณ Carlson คว้าใบปริญญาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ถึง 3 ใบ
ปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์
ต่อด้วยปริญญาโทด้านศึกษาศาสตร์
และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ หรือ MBA อีกใบ
ซึ่งหลังจากเรียนจบระดับปริญญาตรี คุณ Carlson ก็ได้ทำงานเป็นส่วนหนึ่งในทำเนียบขาว ช่วงที่บารัก โอบามา เป็นประธานาธิบดี
ต่อมา ตอนที่กำลังเรียนปริญญาโท เธอยังได้ก่อตั้ง Student Blueprint แพลตฟอร์มสำหรับช่วยนักศึกษาวางแผนอาชีพในอนาคต ก่อนที่จะขายบริษัทไปในปี 2014 เพื่อกลับมาโฟกัสด้านการเรียน
และหลังจากที่คุณ Carlson เรียนจบ และผ่านประสบการณ์ความสำเร็จของ Student Blueprint มาแล้ว เธอจึงตัดสินใจเดินหน้าต่อสู่โปรเจกต์ถัดไป นั่นก็คือ Guild
ดังนั้นในปี 2015 คุณ Carlson จึงเริ่มนำเสนอโปรเจกต์นี้ ให้กับอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัย และได้รับเงินทุนรอบ Seed จำนวน 66 ล้านบาท
ซึ่งก็ไม่ใช่เงินก้อนสุดท้าย เนื่องจาก Guild สามารถระดมทุนไปได้อีกหลายรอบ โดยล่าสุดคือ เดือนมิถุนายน ปี 2021 ที่ผ่านมา ที่ระดมทุนเพิ่มได้กว่า 5,100 ล้านบาท จาก Bessemer Venture Partners และ Cowboy Ventures ทำให้ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท
แล้วแพลตฟอร์ม Guild น่าสนใจอย่างไร ? ทำไมคนถึงมาลงทุนมากขนาดนี้
หากเราพูดถึงแพลตฟอร์มด้านการศึกษา ก็คงดูเป็นธุรกิจที่ไม่ได้แปลกใหม่อะไร แต่สิ่งที่น่าสนใจของ Guild อยู่ที่กลุ่มเป้าหมาย
เพราะแพลตฟอร์มนี้ไม่ได้สร้างสำหรับ “คนวัยเรียน” แต่สร้างมาสำหรับ “คนวัยทำงาน” โดยเฉพาะ “พนักงานหน้างาน” หรือที่เรียกว่า Frontline ในองค์กรขนาดใหญ่
โดย Guild จะเป็นตัวกลางที่ช่วยให้พนักงานหน้างาน มีโอกาสไปรับใบปริญญาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และยังช่วยให้นายจ้างรักษาพนักงานในองค์กรไว้ได้อีกด้วย
ซึ่งแม้ว่าในสหรัฐอเมริกา ก็มีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่คอยช่วยเหลือพนักงานให้ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น อย่าง Bright Horizons และ InStride อยู่แล้ว
แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้ก็มีข้อด้อย อยู่ที่ “ความยุ่งยาก” ของขั้นตอนการลงเรียนในแต่ละครั้ง
อย่างปัญหาที่พนักงานต้องแบกรับภาระค่าเล่าเรียนก่อน และค่อยรอการคืนเงินหลังจากเรียนจบ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้ระยะเวลาที่นาน ทำให้หลายคนล้มเลิกที่จะเข้ารับการศึกษาไป
รวมถึงปัญหา ที่ทางฝั่งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ก็ไม่มีเงินทุนที่เพียงพอ และไม่สามารถจัดสรรเวลาที่เหมาะสม ให้กับนักเรียนที่เป็นพนักงานด้วยเช่นกัน
เมื่อเรื่องราวเป็นอย่างนี้ คุณ Carlson จึงนำข้อบกพร่องของระบบ มาต่อยอดเป็นธุรกิจ
แล้ว Guild เข้ามาแก้ปัญหา และแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่างไร ?
อันดับแรก พนักงานไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายเอง
เนื่องจาก จริง ๆ แล้ว หลายองค์กรเองก็เต็มใจ และพร้อมที่จะจ่ายเงินสนับสนุนให้พนักงานของตนเองได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น เพราะนอกจากจะได้พัฒนาศักยภาพของพนักงานแล้ว เงินตรงนี้สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้ด้วย
ซึ่งปัจจุบันลูกค้าของ Guild ก็เป็นถึงระดับองค์กรชั้นนำในสหรัฐอเมริกา อย่าง The Walt Disney Company, Walmart และ Chipotle
ต่อมา ออกแบบโปรแกรมเรียนให้เหมาะกับพนักงานได้
โดยองค์กรสามารถออกแบบและปรับแต่งโปรแกรม ตามความต้องการของพนักงาน แล้ว Guild จะทำหน้าที่นำข้อเสนอเหล่านี้ไปยื่นต่อมหาวิทยาลัย ในเครือข่ายที่มีมากกว่า 100 แห่ง เพื่อสร้างเป็นโปรแกรมที่เหมาะสมกับองค์กรโดยเฉพาะ
ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้ช่วยแค่พนักงานเรื่องการจัดระเบียบนาฬิกาชีวิต ตั้งแต่เรื่องการทำงาน, ครอบครัว และการเรียนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้บริษัทได้รับบุคลากร ที่มีความสามารถตรงกับความต้องการอีกด้วย
ดังนั้นหากใช้บริการแพลตฟอร์มของ Guild Education ปัญหาเหล่านี้ก็จะหมดไป เพราะบริษัทสามารถกำหนดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะกับพนักงานได้
อย่างสุดท้าย จัดการให้เสร็จสรรพ
นอกจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยแล้ว Guild ยังมีผู้ให้คำปรึกษาอีกเกือบ 3,000 คน ที่จะคอยช่วยเลือกและให้คำแนะนำ ตลอดจนช่วยสมัครโปรแกรมพิเศษที่มีมากกว่า 2,357 โปรแกรมให้กับพนักงาน
ซึ่งการเป็นตัวกลางในการติดต่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะครอบคลุมไปถึงการต่อรองส่วนลดเรื่องค่าเรียน และสร้างความสะดวกสบายในการชำระเงินระหว่างบริษัทและมหาวิทยาลัย
ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แพลตฟอร์มการศึกษานี้เติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะว่าโมเดลธุรกิจของ Guild เข้ามาลดช่องว่างระหว่างองค์กรและมหาวิทยาลัย และทำให้โปรแกรมเรียนต่าง ๆ สะดวกสบาย เหมาะสมกับทุกฝ่ายได้ยิ่งขึ้น
อ่านมาถึงตรงนี้ อาจสงสัยว่า แล้ว Guild จะเรียกเก็บเงินจากจุดไหน ?
รายได้หลักของ Guild Education จะมาจากค่าโฆษณาบนแพลตฟอร์ม ที่หลาย ๆ มหาวิทยาลัยต่างยอมจ่าย เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้สมัครที่มีคุณสมบัติ, เทคโนโลยี, การชำระเงิน และค่าบริการนักศึกษา
ถึงแม้ว่าคุณ Carlson จะไม่เปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ แต่บางคอร์สเรียน ก็มีมหาวิทยาลัยที่ยอมจ่ายเงินสูงถึง 1 แสนบาท เพื่อที่จะดึงดูดนักเรียนใหม่ ๆ เพียง 1 คน
นอกจากนั้นยังมีรายได้จากฝั่งองค์กรที่เข้ามาใช้บริการของ Guild ซึ่งจะได้รับเมื่อพนักงานเรียนจบคอร์สแล้วเท่านั้น
ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้ Forbes จึงได้ประเมินไว้ว่าในปี 2020 บริษัท Guild Education น่าจะสร้างรายได้แตะ 3,300 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อย
เรียกได้ว่า คุณ Rachel Carlson ก็เป็นผู้หญิงเก่ง สามารถหาคำตอบให้กับปัญหาเชิงระบบที่อยู่ตรงหน้ามานาน แต่กลับถูกหลายฝ่ายมองข้าม
โดยอาศัยการเป็นตัวกลาง มาผสานช่องว่างที่มีอยู่ในตลาด จนกลายเป็นธุรกิจ วิน-วิน ที่ตอบโจทย์กับทุกฝ่าย
คุณ Rachel Carlson กลายเป็นผู้หญิงที่รวยด้วยตัวเอง จากทรัพย์สินมูลค่าหมื่นล้านบาท
มหาวิทยาลัย สามารถขายคอร์สการเรียนได้เพิ่มขึ้น
องค์กร ได้พนักงานที่มีความสามารถสูงขึ้น
และที่สำคัญที่สุดคือ “พนักงาน” ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา ซึ่งจะกลายเป็นวิชาความรู้ติดตัวพวกเขาไป ซึ่งก็คงสอดคล้องกับคำกล่าวที่ว่า
ถ้าเราให้ปลาใครหนึ่งตัว เขามีกินแค่หนึ่งวัน
แต่ถ้าสอนเขาจับปลา เขาจะมีกินตลอดชีวิต..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.