รู้จัก Whoscall แอปสแกน “เบอร์แปลก” บอกได้ตั้งแต่คนขายประกัน ยันมิจฉาชีพ
Business

รู้จัก Whoscall แอปสแกน “เบอร์แปลก” บอกได้ตั้งแต่คนขายประกัน ยันมิจฉาชีพ

24 ม.ค. 2022
รู้จัก Whoscall แอปสแกน “เบอร์แปลก” บอกได้ตั้งแต่คนขายประกัน ยันมิจฉาชีพ /โดย ลงทุนเกิร์ล
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าช่วงนี้ตามข่าวและโซเชียลต่าง ๆ มีการพูดถึงโทรศัพท์จากแก๊งมิจฉาชีพอยู่ตลอด
และก็มีหลายคนที่ต้องโดนหลอก เพียงเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการ
นอกจากนี้การจะแยกแยะเบอร์แปลก ๆ ที่โทรเข้ามาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะบางครั้งก็อาจเป็นสายสำคัญที่เราไม่ได้บันทึกเบอร์เก็บไว้
แล้วเราจะมีวิธีไหนบ้าง ที่จะเข้ามาช่วยบอกเราว่า เบอร์ไหนคือเบอร์ที่ควรรับ และเบอร์ไหนไม่ควร
วันนี้ลงทุนเกิร์ลจะพาทุกคนมารู้จักกับแอปพลิเคชัน Whoscall
ซึ่งจะคอยช่วยบอกเราว่า เบอร์ที่โทรเข้ามาเป็นเบอร์ใครกันแน่ แม้เราจะไม่เคยบันทึกเบอร์เหล่านั้นก็ตาม
Whoscall น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ Whoscall นั้นมาจากคุณ Jeff Kuo หนุ่มชาวไต้หวัน ซึ่งได้รับสายจาก Spam Call จนทำให้เขาเริ่มอยากที่จะทำแอปพลิเคชันที่ช่วยป้องกัน การได้รับสายอันไม่พึงประสงค์นี้
พอเรื่องเป็นแบบนี้ เขาและเพื่อนอีก 2 คน ได้แก่ คุณ Jackie Chang และคุณ Reiny Song จึงได้รวมตัวกัน เพื่อช่วยสร้างแอปพลิเคชัน Whoscall ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2010 ทาง Google Play
หลังจากที่เปิดตัวได้ไม่นาน แอปพลิเคชันนี้ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากหลายประเทศ
และแอปพลิเคชันนี้ก็ยิ่งได้รับความสนใจยิ่งขึ้นไปอีก เมื่ออดีต CEO ของ Google ได้กล่าวถึง Whoscall ขณะเดินทางไปที่ไต้หวัน ในปี 2011 ว่า
“Whoscall จะบอกว่าเบอร์แปลก ๆ ที่โทรมาหาคุณคือใคร
โดยแอปพลิเคชันนี้ก็เติบโตไวมากทั้งในสหรัฐอเมริกา, อินเดีย และจีน และมันถูกสร้างขึ้นที่ไต้หวัน”
สำหรับในช่วงแรก ๆ ของการทำแอปพลิเคชัน Whoscall เหล่าผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนยังมองว่า Whoscall เป็นเพียงแค่งานพาร์ตไทม์เท่านั้น แต่เมื่อได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาจึงตัดสินใจหันมาทุ่มเทเวลาให้กับ Whoscall มากขึ้น
และในที่สุด ปี 2012 ทั้ง 3 คนก็ได้ก่อตั้งบริษัท Gogolook ขึ้น
โดยมีเป้าหมาย เพื่อป้องกันการถูกฉ้อโกงผ่านทางโทรศัพท์ให้กับคนทั่วโลก
ที่น่าสนใจ คือ Whoscall ใช้เวลาไม่นาน ก็กลายเป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันที่ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก และยังมียอดผู้ใช้เติบโตในหลาย ๆ ประเทศอีกด้วย
ซึ่งความโดดเด่นของ Whoscall นี้ก็ได้ไปเตะตา บริษัท Naver ผู้เป็นเจ้าของแอปพลิเคชันแช็ต LINE ที่เรารู้จักกัน และทำให้ Naver ตัดสินใจเข้าซื้อบริษัท Gogolook ในปี 2013 ด้วยจำนวนเงินกว่า 375 ล้านบาท
ต่อมาในปี 2014 Whoscall ก็เปิดให้ดาวน์โหลดบน App Store เป็นครั้งแรก
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะยังสงสัยว่าแล้ว Whoscall ทำงานอย่างไร
และรู้ได้อย่างไรว่า เบอร์แปลก ๆ เหล่านั้นเราควรจะรับหรือไม่
หนทางแรกของบริษัทก็คือ การร่วมมือกันกับองค์กร หรือบริษัทอื่น ๆ
อย่างเช่น การร่วมมือกันของ Gogolook และบริษัทด้านการขนส่งสินค้าอย่างบริษัท Transnet
โดยการร่วมมือในครั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มอัตราในการรับสายของพัสดุที่กำลังจะส่งถึงบ้าน
หรือการเข้าซื้อบริษัท Call Defender ซึ่งเป็นบริษัทที่มีรูปแบบคล้าย ๆ กับ Whoscall จากฮ่องกง
เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแอปพลิเคชันที่กำลังเป็นที่นิยมไปทั่วโลก
นอกจากนี้ทางบริษัทยังได้ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไต้หวัน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติของเกาหลี เพื่อร่วมมือกันแลกเปลี่ยนข้อมูล เทคนิคต่าง ๆ
เพื่อต่อต้านและเรียนรู้รูปแบบการฉ้อโกงที่เกิดขึ้น และนำมาพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น
ส่วนหนทางที่สองก็คือ จากการกรอกข้อมูลของผู้ใช้งาน Whoscall
โดยผู้ใช้งานทุกคนสามารถกรอกข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ไม่พึงประสงค์ลงในแอปพลิเคชันได้
ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ก็จะถูกแชร์ไปยังผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน Whoscall มากกว่า 90 ล้านคน จาก 31 ประเทศทั่วโลก
รวมถึงมีข้อมูลเกี่ยวกับเบอร์โทรศัพท์กว่า 1,600 ล้านเบอร์อยู่ในฐานข้อมูล ซึ่งมีทั้งเบอร์ที่คนไม่ได้ต้องการบันทึก เช่น เบอร์คนส่งของ หรือเบอร์ที่เราควรหลีกเลี่ยงรวมกัน
เมื่อมาถึงตรงนี้หลายคนอาจมองว่า Whoscall ก็คงเป็นเพียงแค่แอปพลิเคชันธรรมดา ๆ ที่นอกเหนือจากการที่บอกเบอร์โทรศัพท์ที่สมควรรับหรือไม่รับ ก็ไม่สามารถทำอะไรได้อีก
แต่ในความเป็นจริงแล้วสำหรับ Whoscall กลับไม่ได้มองตัวเองเป็นแบบนั้น
ด้วยฐานข้อมูลที่ Whoscall มีเกี่ยวกับการฉ้อโกงในรูปแบบต่าง ๆ ทางโทรศัพท์
รวมถึงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์มากมาย ทำให้บริษัทเริ่มหันเข้ามาสู่ธุรกิจด้าน FinTech
เพราะการฉ้อโกงส่วนใหญ่มักจะอยู่ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการเงินทั้งนั้น
ไม่ว่าจะหลอกให้ทำสินเชื่อ หลอกให้โอนเงิน หลอกเอาเลขบัตรเครดิต
และบุคคลที่ทำงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็มักจะรับค่าจ้างเป็นเงินสด เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากตำรวจและธนาคาร ทำให้เกิดเป็น “เครดิตที่มองไม่เห็น”
พอเรื่องเป็นแบบนี้ บริษัท Gogolook จึงวางแผนการเปิดตัวอีกแพลตฟอร์มชื่อว่า “Roo”
โดยเป็นแพลตฟอร์มที่มีหน้าที่เอาไว้เปรียบเทียบสินเชื่อต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับผู้ที่ต้องการสินเชื่อ
และนำข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ของคนที่เคยถูกรายงานมายัง Whoscall ว่าเป็นผู้ฉ้อโกง
หรือเป็นเบอร์ที่มีการถูกบล็อกบ่อยครั้งหรือไม่ ทำงานร่วมกับ AI เพื่อช่วยในการตรวจสอบ
“เครดิตที่มองไม่เห็น” ของบุคคลนั้น ๆ ให้แก่ธนาคาร
ช่วยให้ธนาคารสามารถตรวจสอบ และสามารถประเมินการให้เครดิตแก่บุคคลนั้น ๆ ได้ดีขึ้น
และในอนาคตอาจรวมไปถึงการสมัครบัตรเครดิต การซื้อประกัน และการลงทุนต่าง ๆ ด้วย
ซึ่งก็เป็นที่น่าติดตามว่าในอนาคตบริษัท Gogolook
จะทำให้ Whoscall และ Roo สามารถเติบโตไปได้ในทิศทางไหนต่อไป
และกรณีของคุณ Jeff Kuo เองก็ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจที่ดีมากทีเดียว
เพราะเพียงแค่โทรศัพท์หนึ่งสาย ก็สามารถเปลี่ยนให้กลายเป็นแอปพลิเคชันที่คนใช้ทั่วโลก
แล้วสำหรับพวกเราเอง ในอนาคตก็อาจจะมีโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาเพื่อเปลี่ยนชีวิตเราก็ได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.