สรุปกลยุทธ์การใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” ที่ทำให้ Tiffany & Co. เป็นแบรนด์ในฝันของสาว ๆ
Business

สรุปกลยุทธ์การใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” ที่ทำให้ Tiffany & Co. เป็นแบรนด์ในฝันของสาว ๆ

9 ก.พ. 2022
สรุปกลยุทธ์การใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” ที่ทำให้ Tiffany & Co. เป็นแบรนด์ในฝันของสาว ๆ /โดย ลงทุนเกิร์ล
ในยุคที่การใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” กลายเป็นท่ามาตรฐานของทุกแบรนด์ เพื่อที่จะพาแบรนด์เข้าไปนั่งในใจลูกค้า
โดยเฉพาะบรรดาแบรนด์หรู ที่ต่างทุ่มงบไม่อั้น เพื่อคว้าซูเปอร์สตาร์ตัวท็อป มาเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ที่หรูหรา
แต่ถ้าพูดถึงหนึ่งในแบรนด์หรูที่ใช้กลยุทธ์ Influencer Marketing ในการติดปีกให้แบรนด์กลายเป็นตำนานได้อย่างน่าสนใจ ต้องมีชื่อของ Tiffany & Co.
Tiffany & Co. เป็นแบรนด์เครื่องประดับสุดหรู ที่ตอนนี้เป็นหนึ่งในอาณาจักร LVMH เจ้าของแบรนด์หรู รายใหญ่สุดในโลกอย่าง Louis Vuitton, Dior, Givenchy, Fendi, Celine และอีกมากมาย
ซึ่งหากย้อนไปสำรวจ เส้นทางความสำเร็จของแบรนด์ จะพบว่า Tiffany & Co. มีการใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่ทรงพลัง เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สร้างชื่อ ให้แบรนด์กลายเป็นเครื่องประดับในฝันของสาว ๆ ทั้งโลก มายาวนาน ตั้งแต่อินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายด้วยซ้ำ ​
แล้ว Tiffany & Co. มีวิธีสร้างแบรนด์ด้วยอินฟลูเอนเซอร์อย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ด้วยภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่เป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราสง่างาม
เครื่องประดับแต่ละชิ้นล้วนรังสรรค์ด้วยสไตล์สุดคลาสสิก และมีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์​
จึงไม่แปลกที่ทำเนียบลูกค้าของ Tiffany & Co. จะมีตั้งแต่สมาชิกราชวงศ์ ครอบครัวชนชั้นสูง นักการเมือง เช่น อดีตประธานาธิบดี คุณ Abraham Lincoln, คุณ Franklin D. Roosevelt และคุณ John F. Kennedy ไปจนถึงเซเลบริตี อย่างคุณ Elizabeth Taylor หนึ่งในนักแสดงหญิงที่โด่งดังที่สุด ในยุคทองของฮอลลีวูด
แน่นอนว่า การที่มีลูกค้าระดับ A-List ของสังคม ก็เหมือนมีอินฟลูเอนเซอร์เกรด A ในมืออยู่แล้ว
แต่เพื่อให้แบรนด์ยิ่งเลอค่า และยิ่งเป็นที่หมายปอง Tiffany & Co. จึงต่อยอดให้แบรนด์ด้วยการพาแบรนด์ไปอยู่ท่ามกลางสปอตไลต์อย่างต่อเนื่อง
อย่างตอนที่ Tiffany & Co. เป็นสปอนเซอร์ในงาน Tiffany Benefit Ball ในปี 1957
ทางแบรนด์ก็เลือกให้คุณ Mary Whitehouse ภริยาของคุณ Edwin Sheldon Whitehouse เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในเวลานั้น เป็นผู้สวมใส่สร้อยคอในตำนาน
โดยสร้อยเส้นนั้น ประดับด้วย “Tiffany Diamond” หรือเพชรสีเหลืองน้ำงามขนาด 287.42 กะรัต ที่ขุดได้จากเหมือง Kimberley ในแอฟริกาใต้ ในปี 1877 และคุณ Charles Lewis Tiffany ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Tiffany & Co. ได้ซื้อต่อในปีถัดมา
แต่ในครั้งนั้น ผู้ที่มีโอกาสได้ชื่นชมความงามของเพชรที่เรียกได้ว่าเป็น Rare Item ก็อาจอยู่ในวงจำกัด
กระทั่งอีก 4 ปีต่อมา “Tiffany Diamond” ถึงค่อยกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
เมื่อนักแสดงชื่อดังอย่างคุณ Audrey Hepburn สวมสร้อยคอดังกล่าว ไปร่วมงานโปรโมตภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s ที่โด่งดังเป็นพลุแตก และสร้างภาพจำให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะฉากที่เธอยืนจิบกาแฟ พลางยืนชมเครื่องประดับอยู่หน้าร้านเครื่องประดับ Tiffany & Co. ในนิวยอร์ก
ซึ่งหนึ่งในเรื่องตลกร้าย ที่เป็นที่เล่าขานจากการใช้ร้าน Tiffany & Co. เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าว คือ ทางแบรนด์ได้เตรียมบอดีการ์ดมาเฝ้าอย่างดี
ไม่ใช่เพราะกลัวว่าเครื่องประดับราคาแพงจะสูญหาย
แต่สิ่งที่พวกเขาจับตามอง แบบไม่อาจละสายตา กลับเป็นบรรดากล่องใส่เครื่องประดับสี Tiffany Blue
ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า กล่องดังกล่าว จะมอบให้กับลูกค้าที่ซื้อเครื่องประดับจากแบรนด์เท่านั้น
เหมือนอย่างที่ครั้งหนึ่งคุณ Charles Lewis Tiffany ผู้ก่อตั้งแบรนด์ เคยพูดไว้ว่า​
“ของเพียงอย่างเดียวในร้าน ที่พนักงานไม่สามารถขายให้ได้ ไม่ว่าลูกค้าจะจ่ายเงินให้มากเพียงใด คือ กล่องใส่เครื่องประดับ เพราะเราจะมอบให้กับลูกค้าเท่านั้น”
ต่อมา หลังจากแจ้งเกิดผ่านซูเปอร์สตาร์ที่เป็นเหมือนไอคอนิกของแบรนด์แล้ว
Tiffany & Co. ยังเป็นส่วนหนึ่งในวงการภาพยนตร์ ซีรีส์เรื่องดัง รวมทั้งเพลงอย่างต่อเนื่อง
อย่างภาพยนตร์เรื่อง Legally Blonde หรือซีรีส์เรื่องดังอย่าง Gossip Girl ที่นักแสดงมีการสวมใส่เครื่องประดับของ Tiffany & Co. รวมไปถึงเพลง Diamonds are a Girl’s Best Friend ที่ร้องโดยคุณ Marilyn Monroe มีการเอ่ยถึงชื่อแบรนด์ Tiffany & Co. ถึง 2 ครั้งในเนื้อเพลง
นอกจากนี้ Tiffany & Co. ยังเป็นแบรนด์ขวัญใจเหล่าคนดังในวงการฮอลลีวูด ที่มักเลือกเครื่องประดับของแบรนด์ไปสวมใส่ เมื่อต้องเดินพรมแดง
ซึ่งเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของ Tiffany & Co. ในฐานะแบรนด์เครื่องประดับที่มีความหรูหรา เหนือกาลเวลาได้เป็นอย่างดี และยังทำให้แบรนด์อยู่ในกระแสตลอดเวลา
แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป เทรนด์ของผู้บริโภคไม่เหมือนเดิม ในฐานะแบรนด์ในตำนาน
Tiffany & Co. เองก็ต้องปรับภาพลักษณ์แบรนด์ ให้มีความทันสมัย สามารถจับต้องได้มากขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มมิลเลนเนียลส์
ซึ่งนอกจาก Tiffany & Co. จะใช้กลยุทธ์เพิ่มความหลากหลายให้สินค้า
ด้วยการเปิดตัว แหวนหมั้นสำหรับผู้ชาย ตอบโจทย์แฟชั่นที่มีความเป็น Unisex และความหลากหลายทางเพศ
Tiffany & Co. ยังขยันไปคอลลาบอเรชันกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อสร้างสีสันให้กับแบรนด์
เช่น จับมือกับ​ Supreme ออกสร้อยไข่มุก และจี้รุ่น Return to Tiffany
หรือร่วมกับแบรนด์นาฬิกาหรู เปิดตัว Patek Philippe รุ่น 5711 Nautilus หน้าปัดสี Tiffany Blue ที่มีเพียง 170 เรือน
พร้อมกันนี้ ยังแตกไลน์ไปสู่สินค้าในกลุ่มน้ำหอม คาเฟ และของแต่งบ้าน
ซึ่งถ้ายังจำกันได้ ไอเทมที่ทำให้กลายเป็น Talk of the Town ในบ้านเรา คือ กระป๋องใส่เครื่องเขียน
ที่เห็นราคาแล้วหลายคนถึงกับขยี้ตา เพราะวางขายในราคา 1,100 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 36,560 บาท
เพราะแม้จะเคลมว่าใช้วัสดุเกรดพรีเมียม แถมยังมีแถบสี Tiffany Blue ซึ่งเป็นสีเอกลักษณ์
ที่ถึงขั้นต้องจดเครื่องหมายการค้า เพื่อไม่ให้แบรนด์เครื่องประดับอื่น ๆ นำไปใช้ได้
แต่พอดูมุมไหนก็คล้ายกระป๋องนมบ้านเรา ราวกับแฝดพี่แฝดน้องอยู่ดี
นอกจากนั้น อีกไม้ตายที่ Tiffany & Co. ไม่เคยทิ้ง คือ การใช้อินฟลูเอนเซอร์ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้แบรนด์
ไม่ว่าจะเป็น การเลือก Lady Gaga ไอคอนคนดังที่มีแครักเตอร์ที่โดดเด่น มาเป็นพรีเซนเตอร์ในคอลเลกชัน “Tiffany HardWear” ได้อย่างสตรอง ช่วยสลัดภาพแบรนด์สำหรับสาวหวาน มาสู่ผู้หญิงยุคใหม่ ที่เก่งและแกร่งได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญ Lady Gaga ยังเป็นผู้หญิงคนที่ 3 ที่ได้สวม Tiffany Diamond ในงานประกาศรางวัลออสการ์เมื่อปี 2019 อีกด้วย
และล่าสุด Tiffany & Co. ยังชวนคู่รักคนดังอย่าง Beyoncé และ Jay-Z มาเป็นพรีเซนเตอร์คนใหม่
แถมเพิ่มความปัง ด้วยการให้ Beyoncé ได้เป็นผู้หญิงผิวดำคนแรกของโลก และนับเป็นผู้หญิงคนที่ 4 ที่ได้สวมใส่ Tiffany Diamond
งานนี้ไม่ต้องบอกว่า ปังขนาดไหน เพราะแค่เปิดตัวก็โกยพื้นที่สื่อไปเต็ม ๆ
ยังไม่รวมการที่ก่อนหน้านี้ Tiffany & Co. เปิดไพ่ใบสำคัญ ด้วยการแต่งตั้งให้ โรเซ Blackpink เป็น Global Brand Ambassador จนกลายเป็นกระแส Talk of the World ไม่ว่าเจนฯ ไหน ก็ต้องคุ้นหูและรู้จัก Tiffany & Co.
มาถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่า “Influencer Marketing” เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญในการสร้างแบรนด์อย่างไร​
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ รู้หรือไม่ว่า Tiffany & Co. ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นร้านเครื่องประดับ
แต่ตั้งต้นจากการเป็นร้านขายเครื่องเขียนและกิฟต์ช็อปเล็ก ๆ ในนิวยอร์ก ที่อาศัยเงินทุน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 33,000 บาท)
ที่สำคัญ หนึ่งในผู้ก่อตั้งยังหยิบยืมเงินมาจากคุณพ่อ เพื่อเปิดร้าน
แถมวันแรกที่เปิดร้านยังทำยอดขายได้เพียง 4.38 ดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น (ราว 167 บาท)
แต่จากความพยายามที่ไม่ลดละ ทำให้ใช้เวลาไม่กี่ปี กิจการที่เหมือนจะร่อแร่ก็เริ่มไปได้สวย พร้อมผันตัวเองมาจับตลาดเครื่องประดับ ตั้งแต่ปี 1840 ก่อนจะกลายเป็นสินค้าหลัก
และเมื่อสินค้ามีคุณภาพ บวกกับกลยุทธ์ที่มาถูกทาง ก็ทำให้ Tiffany & Co. กลายเป็นแบรนด์เครื่องประดับ ที่ครองใจคนทั้งโลก​ได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.