จากอาชีพสไตลิสต์ สู่เจ้าของแบรนด์สตรีตแฟชั่นไทย ที่ Rihanna เลือกใส่
Fashion

จากอาชีพสไตลิสต์ สู่เจ้าของแบรนด์สตรีตแฟชั่นไทย ที่ Rihanna เลือกใส่

11 ก.พ. 2022
จากอาชีพสไตลิสต์ สู่เจ้าของแบรนด์สตรีตแฟชั่นไทย ที่ Rihanna เลือกใส่ /โดย ลงทุนเกิร์ล
หากพูดถึง “อาชีพสไตลิสต์” ในวงการแฟชั่นไทย ค่อนข้างเป็นเรื่องน่าเศร้า
เพราะลูกค้าหลายคนมักมองข้ามความสำคัญของอาชีพนี้ เช่น มองว่าการจัดหาเครื่องแต่งกายและพร็อปต่าง ๆ ให้ได้ตามบรีฟที่วางไว้ เป็นงานที่ง่ายและใช้เวลาไม่นาน
ทำให้หลาย ๆ ครั้ง อาชีพนี้จึงถูกกดราคาค่าตัว หรือบางครั้งบรีฟก็มาอย่างอลังการ แต่งบประมาณแค่หลักพัน และให้เวลาคิดงานเพียงไม่กี่วัน ซึ่งบางคนถึงกับให้คำจำกัดความของอาชีพนี้ว่า “กรรมกรแฟชั่น” เลยทีเดียว
ซึ่งจริง ๆ แล้วอาชีพนี้ใช้ทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์”
ศาสตร์ในที่นี้คือ การคำนวณ การวางแผนจัดหาอุปกรณ์เครื่องแต่งกายให้ได้ ภายใต้งบประมาณและเวลาที่จำกัด
ศิลป์ คือการออกแบบดีไซน์ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ ทำผลงานออกมา ให้ตรงตามคอนเซปต์ที่วางไว้
แล้วถ้าให้ยกตัวอย่างคนไทย ที่ประสบความสำเร็จในสายอาชีพสไตลิสต์ล่ะ ?
วันนี้เราจะมาพูดถึง เส้นทางความสำเร็จของแบรนด์ Dry Clean Only ที่ต่อยอดธุรกิจจากอาชีพสไตลิสต์ สู่แบรนด์สตรีตแฟชั่นไทย ที่ริฮานนาและบียอนเซ่เลือกใส่
Dry Clean Only ทำได้อย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟังค่ะ
จุดเริ่มต้นของแบรนด์ เกิดจากคุณเบส ปฏิพัทธ์ ชัยภักดี นักเรียนแฟชั่นรุ่นแรกที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเรียนเพียง 2 ปี ก็ตัดสินใจลาออก เพราะไม่สามารถแบกรับค่าเทอมไหว
หลังจากลาออกก็ออกมาหาประสบการณ์เอง เริ่มต้นด้วยการเป็นผู้ช่วยสไตลิสต์และผู้ช่วยดีไซเนอร์ สั่งสมประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ
จนอยู่มาวันหนึ่ง คุณเบสรู้สึกว่า การไปสำเพ็งเพื่อซื้อผ้า การรอช่าง และการทำแพตเทิร์น เป็นเรื่องที่จำเจและน่าเบื่อ
ที่สำคัญคือ เขามองว่า การเป็นคนทำเสื้อผ้า มันสามารถคิดต่างได้
จึงเริ่มหยิบเสื้อยืดเก่า ๆ ที่มีอยู่ในตู้อยู่แล้ว มาดัดแปลงด้วยการปักเย็บให้มีลูกเล่น ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น
เมื่อลองทำแล้ว ก็ได้เสียงตอบรับที่ดีจากคนรอบข้าง บวกกับต้องการมีอาชีพเป็นของตัวเองอยู่แล้วด้วย จึงขอเงินแม่จำนวน 20,000 บาท มาเป็นทุนในการเปิดร้านเล็ก ๆ ที่จตุจักร
ซึ่งแม้จะเป็นร้านเล็ก ๆ แต่เอกลักษณ์และความโดดเด่นของแบรนด์ ในการทำสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้วให้กลายเป็นงานคราฟต์ ก็ไปเตะตาทำให้สไตลิสต์หลาย ๆ คน เลือกมาซื้อเสื้อผ้าแบรนด์ Dry Clean Only ไปใช้งาน
โดยที่มาของชื่อ Dry Clean Only ก็เรียบง่ายมาก ๆ เนื่องจากตอนนั้น คุณเบสไม่มีทุนในการสั่งผลิตป้ายชื่อแบรนด์ เลยแก้ปัญหาด้วยการไปซื้อป้ายสำเร็จรูปที่ร้านซักแห้งมักจะใช้กัน ก็คือป้ายที่เขียนว่า “Dry Clean Only” ซึ่งแปลว่า “ซักแห้ง” นั่นเอง
เมื่อบรรดาสไตลิสต์ซื้อชุดไปใช้ในงานต่าง ๆ จึงเหมือนเป็นการบอกปากต่อปากในวงการแฟชั่น
จนในที่สุด สไตลิสต์ของริฮานนาก็ได้ซื้อเสื้อของร้าน Dry Clean Only ไปให้เธอใส่ ซึ่งเสื้อตัวนั้น เป็นเสื้อยืดสีดำสกรีนลายการ์ตูนธรรมดา ๆ แต่ถูกนำมาตัดเป็นแขนกุด และเพิ่มลูกเล่นความเก๋ ด้วยการปักมุกลงตรงบริเวณแขนเสื้อ
รวมถึง บียอนเซ่ ตัวแม่แห่งวงการเพลง R&B ก็ถูกอกถูกใจเหมาเสื้อผ้าจาก Dry Clean Only และหยิบไปสวมใส่ถึง 17 ชุด
หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีตัวแทนจากญี่ปุ่นสนใจอยากเอาเสื้อผ้าแบรนด์ Dry Clean Only ไปวางขาย จึงติดต่อมาถามว่าอยากไปทำคอลเลกชันให้เขาที่โน่นหรือไม่ และแน่นอนว่าคุณเบสก็ตอบตกลงอย่างไม่ต้องสงสัย
ทั้งหมดนี้จึงเป็นจุดเปลี่ยน ที่ทำให้แบรนด์ Dry Clean Only เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดต่างประเทศ
โดยสาเหตุที่ Dry Clean Only ประสบความสำเร็จ และแตกต่างจากแบรนด์ทั่วไป ก็ไม่ใช่อะไรอื่นไกล แต่คือมุมมองของคุณเบส ที่มองว่าเสื้อผ้าไม่ได้ขายได้ด้วยตัวของมันเอง แต่ “การสร้างเรื่องราวให้กับเสื้อผ้า” ต่างหากที่ทำให้มันขายได้
นอกจากเสื้อผ้าที่ต้องสวยแล้ว การทำให้เสื้อผ้ามีที่มาที่ไปหรือมีเรื่องราว มันจะทำให้เสื้อตัวนั้นมีคุณค่าในสายตาของคนสวมใส่ และลูกค้าก็จะจดจำแบรนด์ได้ บอกต่อ รวมถึงกลับมาหาเราอีกครั้ง
ซึ่งหัวใจหลักของ Dry Clean Only คือการดัดแปลง และปรับปรุงของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้กลายเป็นงานคราฟต์ ที่ไม่มีใครเหมือน รวมถึงให้ความสำคัญกับความ Rare และแพตเทิร์น ดังนั้น เสื้อผ้าแต่ละตัวที่ผลิตออกมาจึงมีความพิเศษในตัวของมันเอง
จากการที่แบรนด์ไปดังไกลถึงต่างประเทศ ทางคุณเบสเองก็เซอร์ไพรส์ และไม่คาดคิดมาก่อนว่าแบรนด์เล็ก ๆ ของตัวเอง จะมีคนดังระดับฮอลลีวูดสวมใส่ และมีคนจ้างให้ไปทำคอลเลกชันให้ที่ญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม คุณเบสก็มีมุมมองที่น่าสนใจว่า ความสำเร็จของวันนี้ก็เป็นเรื่องของวันนี้ ส่วนวันรุ่งขึ้นก็จะเป็นเรื่องใหม่แล้ว
ดังนั้น Dry Clean Only จึงมีการพัฒนาและเกิดโปรเจกต์ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น การจับมือกับ Heineken ผลิตเสื้อผ้าคอลเลกชันพิเศษ วางขายเพียงไม่กี่ตัวบนโลก หรือการจับมือกับโซดาสิงห์ เปิดตัวเสื้อ Limited Edition
จากเรื่องราวทั้งหมดทำให้เราเห็นว่า ตลาดเสื้อผ้าที่หลายคนมองว่าอิ่มตัว สุดท้ายแล้วมันก็ยังมีช่องว่างทางการตลาดอยู่ดี หากเราคิดต่างและมีจุดยืนเป็นของตัวเอง
เหมือนกับคุณเบส ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Dry Clean Only ที่ต่อยอดแบรนด์จากอาชีพสไตลิสต์ที่ตัวเองเคยทำมาก่อน แล้วมองหาจุดยืนที่แตกต่างของตัวเองในตลาดเสื้อผ้า เมื่อรู้แล้วก็ต้องมีภาพในหัวว่าเราจะเดินไปถึงจุดไหน
แล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการไปให้สุด ถ้าไม่สำเร็จ ไม่เลิก นั่นเอง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.