กรณีศึกษา ทำไมสินค้าแบรนด์หรูมือสองในญี่ปุ่น ถึงขายดี ?
Business

กรณีศึกษา ทำไมสินค้าแบรนด์หรูมือสองในญี่ปุ่น ถึงขายดี ?

13 ก.พ. 2022
กรณีศึกษา ทำไมสินค้าแบรนด์หรูมือสองในญี่ปุ่น ถึงขายดี ? /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ ? ญี่ปุ่นนิยมซื้อสินค้าแบรนด์หรูมือสองมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980 และถือว่าเป็นประเทศบุกเบิกของดินแดนสินค้ามือสอง
ซึ่งปัจจุบันการเติบโต ของตลาดแบรนด์หรูมือสอง ก็ยังไม่มีทีท่าที่จะลดลง โดยในปี 2021 มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 65% จากปี 2017
แล้วทำไมสินค้าแบรนด์หรูในญี่ปุ่นถึงขายดี ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ในปี 2020 ตลาดแบรนด์หรูในประเทศญี่ปุ่น ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 6.8 แสนล้านบาท ตามหลังสหรัฐอเมริกาที่อยู่อันดับ 1 และจีนที่อยู่อันดับ 2
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการช็อปปิงแบรนด์หรูในประเทศญี่ปุ่น จะเป็นรองจากประเทศจีน แต่การซื้อ-ขายสินค้าแบรนด์หรูมือสองในประเทศญี่ปุ่น กลับใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น
โดยมีสัดส่วนการซื้อ-ขายสินค้าแบรนด์หรูมือสองอยู่ที่ 28% จากตลาดสินค้าแบรนด์หรูมือสองทั่วโลก
อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าธุรกิจการซื้อ-ขายสินค้าแบรนด์หรูมือสอง ในประเทศญี่ปุ่น มีมานานตั้งแต่ทศวรรษ 1980
หลังจาก “วิกฤติฟองสบู่แตก” ที่ทำให้คนญี่ปุ่นต้องประหยัดอดออม ไม่กล้าใช้จ่าย และเริ่มหันมาขายสินค้าแบรนด์หรูของตนเองเพื่อประทังชีวิต
อย่างไรก็ตาม แม้เหตุการณ์ในครั้งนี้ จะเป็นวิกฤติทำให้คนอดอยากปากแห้ง แต่มันก็ส่งผลดีให้ตลาดสินค้ามือสอง ในประเทศญี่ปุ่น ค่อย ๆ เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ
แม้ว่าตอนแรก ๆ คนญี่ปุ่นบางกลุ่ม จะยังมีความคิดแง่ลบ กับธุรกิจซื้อ-ขายสินค้ามือสอง โดยมองว่าเหมือน
“โรงรับจำนำ” ที่เอาของมีค่าไปแลกกับเงินเพื่อเอาชีวิตรอด
แต่ทัศนคติของคนญี่ปุ่นก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อธุรกิจสินค้ามือสอง เริ่มมีการจัดการที่เป็นระบบ และน่าเชื่อถือมากขึ้น จนกลายเป็นธุรกิจที่แพร่หลายในปัจจุบัน
อย่างในปี 2003-2017 ตลาดแบรนด์หรูมือสองของญี่ปุ่น มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 7% และทำให้เกิดธุรกิจ
ซื้อ-ขายแบรนด์หรูมือสองมากมาย รวมทั้งมีอีกหลาย ๆ องค์กรด้านความปลอดภัยที่ให้การสนับสนุน
นอกจากนั้น ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีก่อน เราคงคุ้นเคยกับวลี “หากของสิ่งไหนไม่สปาร์กจอย ก็ทิ้งไป..” ของคุณมาริเอะ คนโด ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดระเบียบบ้าน
ซึ่งสารคดีที่เธอเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ก็ทำให้ใครหลาย ๆ คน จุดประกายการจัดบ้าน และยอมตัดใจทิ้งสิ่งของเก่า ๆ ที่เคยเก็บไว้
ซึ่งวลีนี้ก็ไม่ได้จุดประกายแค่ชาวไทยเท่านั้น แต่ชาวญี่ปุ่นก็ถูกใจไลฟ์สไตล์มินิมัลนี้เช่นกัน ส่งผลให้ตลาดซื้อ-ขายสินค้ามือสองกลับมาเติบโตแบบพุ่งระเบิด
ที่น่าสนใจคือ ในด้านผู้บริโภค นอกจากสินค้าแบรนด์หรูมือสอง จะขายดีกับคนในประเทศแล้ว สำหรับนักท่องเที่ยวก็ขายดีไม่แพ้กัน และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญในธุรกิจนี้ ก็ยังคงเป็น “นักท่องเที่ยวชาวไทย” อีกด้วย
โดยจากข้อมูลของ Komehyo บริษัทซื้อ-ขายสินค้ามือสอง ระบุว่าก่อนวิกฤติโรคระบาด คนไทยซื้อสินค้าแบรนด์หรูมือสอง ในสาขาของบริษัทที่ประเทศญี่ปุ่น ตกปีละ 115-143 ล้านบาทเลยทีเดียว
แล้วทำไมสินค้าแบรนด์หรูมือสองในญี่ปุ่นถึงได้ขายดิบขายดี มีชาวต่างชาติแวะเวียนมาซื้อตลอด ?
อันดับแรก คือ “ราคา”
โดยสินค้ามือสองจะมีราคาถูกกว่าสินค้ามือหนึ่งถึง 30-70% ดังนั้นเราจึงสามารถครอบครองแบรนด์หรูได้ในราคาที่ย่อมเยากว่า
แต่ก็ไม่ใช่ว่าสินค้าทุกรุ่นจะมาในราคาที่ถูกกว่าเสมอไป เพราะถ้าเป็นสินค้ารุ่นที่หายาก ไม่มีการผลิตแล้ว
บางคนก็ยอมซื้อในราคาแพง เพื่อนำไปต่อยอดการเก็งกำไรในอนาคต
อันดับสอง คือ “สินค้าสภาพดีเหมือนใหม่”
อย่างที่รู้กันดีว่าคนญี่ปุ่นมีมารยาทนอบน้อม และที่สำคัญรักความสะอาด ซึ่งพฤติกรรมนี้ก็ส่งผลให้คนญี่ปุ่นใช้ของอย่างทะนุถนอม รักษาของให้ดีเหมือนใหม่
และยิ่งสำหรับคนที่ขายสินค้ามือสอง หากนำสินค้าไปขายในสภาพที่ดีเท่าไร ก็ยิ่งได้ผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้น คนญี่ปุ่นจึงมักใช้ของอย่างระมัดระวัง เผื่อหากต้องการขายสินค้าในอนาคต
ต่อมา “สินค้ามีมาตรฐาน”
ประเทศญี่ปุ่นมีบริการซื้อ-ขายสินค้ามือสองที่ได้มาตรฐาน และน่าเชื่อถือมากมายหลายแห่ง ซึ่งแต่ละบริษัทก็มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี เช่น Sanoya, Brand Off, Roka Shira รวมถึง Komehyo ที่มีสาขาอยู่ที่ประเทศไทย
เรื่องนี้อาจจะเป็นเพราะ เมื่อมีการแข่งขันทางธุรกิจที่สูง การรักษามาตรฐานจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ทำให้หลาย ๆ บริษัทพัฒนาระบบการตรวจสอบตลอดเวลา เพื่อป้องกันสินค้าปลอมแปลง รวมถึงการคัดเลือกสินค้าที่จะนำมาวางขายด้วยเช่นกัน
อย่างบริษัท Komehyo ก็มีช่างผู้เชี่ยวชาญมากกว่า 300 คนในการตรวจเช็กสินค้าแต่ละประเภท ซึ่งพัฒนาควบคู่ไปกับฐานข้อมูลที่ใช้มากกว่า 1.4 ล้านรายการต่อปี
และอย่างสุดท้าย “มีบทลงโทษชัดเจน”
นอกจากระบบการจัดการที่เป็นเลิศแล้ว บทลงโทษของการซื้อ-ขายสินค้าปลอม ก็มีความเคร่งครัดไม่แพ้กัน โดยประเทศญี่ปุ่นมีหลายองค์กรที่เข้ามาควบคุมเรื่องสินค้าแบรนด์หรู
ดังนั้น ลูกค้าจึงมั่นใจยิ่งขึ้นว่า การซื้อสินค้ามือสองในประเทศญี่ปุ่น จะได้รับแต่ของแท้ 100% หากซื้อกับบริษัทที่เชื่อถือได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดแบรนด์หรูมือสองในประเทศญี่ปุ่น จะเป็นตลาดที่เติบโต แต่ก็ตามมาด้วยการแข่งขันที่ดุเดือด
โดยนักวิเคราะห์บางคนก็บอกว่า ญี่ปุ่นใกล้ถึงทางตันของธุรกิจแบรนด์หรูมือสอง เนื่องจากสินค้าแบรนด์หรูมือสองบางรุ่นเริ่มหาได้ยากขึ้น และมีราคาพุ่งสูง
รวมทั้งสินค้าบางชิ้นก็ขายได้ช้าลง สวนทางกับบริษัทซื้อ-ขายแบรนด์หรูที่มีจำนวนมากขึ้น
ดังนั้นหลาย ๆ บริษัทจึงเริ่มหันมารุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งประเทศที่มีโอกาสเติบโตในธุรกิจสินค้าแบรนด์หรูมือสองมากที่สุด ก็คือ “ประเทศจีน” ที่ในปี 2020 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 9 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5% ของมูลค่าทั่วโลก
โดยล่าสุดบริษัท Brand Off แบรนด์ลูกของ Komehyo ก็ได้หันมาจับมือทำธุรกิจร่วมกับ Tmall Global หนึ่งช่องทางแบรนด์หรู ของแพลตฟอร์ม Alibaba เนื่องจากต้องการขยายฐานลูกค้า
ท้ายที่สุดนี้ เราอยากจะฝากหนึ่งทัศนคติ การซื้อสินค้าแบรนด์หรูมือสองของชาวญี่ปุ่น ที่เป็นแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรม นั่นก็คือ “การเคารพงานฝีมือ”
เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมีความเข้าใจสินค้าอย่างลึกซึ้ง ในเรื่องความยากลำบาก ในการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้น ไม่ว่าจะในแง่ความคิด แรงงาน และกระบวนการผลิต
ดังนั้น ถึงแม้สินค้าที่พวกเขาซื้อจะเคยผ่านมือใครมาบ้างในอดีต ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าพวกเขาได้ซื้อสินค้าที่ถูกลิขสิทธิ์หรือไม่..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.