อีกมุมของอาชีพ “อินฟลูเอนเซอร์” ที่อาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
Business

อีกมุมของอาชีพ “อินฟลูเอนเซอร์” ที่อาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

20 ก.พ. 2022
อีกมุมของอาชีพ “อินฟลูเอนเซอร์” ที่อาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด /โดย ลงทุนเกิร์ล
“อินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือยูทูบเบอร์” กลุ่มอาชีพที่มาแรงในช่วงหลัง ด้วยภาพลักษณ์งานที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ รายได้ที่ดี แถมไม่ต้องทำงานประจำ
ทำให้อาชีพเหล่านี้กลายเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตามภาพลักษณ์งานที่สวยหรู ก็อาจจะไม่ได้งดงามอย่างที่ทุกคนคิด
แล้วเบื้องหลังอาชีพ ที่บางคนก็มองว่าสบายเป็นอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จริง ๆ แล้วเมื่อพูดถึงอาชีพอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือยูทูบเบอร์
หลายคนอาจจะสงสัยว่า อาชีพเหล่านี้มีความแตกต่างกันอย่างไร ?
ในความเป็นจริงแล้ว ทุกอาชีพที่กล่าวมา จะมีลักษณะการทำงานที่เหมือนกันก็คือ การทำคอนเทนต์
เช่น หากเป็นบิวตีบล็อกเกอร์ ก็สามารถจะเป็นยูทูบเบอร์และอินฟลูเอนเซอร์ไปพร้อม ๆ กันได้
ขึ้นอยู่กับว่าเราทำคอนเทนต์ลักษณะไหนลงบนแพลตฟอร์มอะไร
ทำให้สิ่งที่คนทำงานสายอาชีพนี้มีเหมือนกันคือ “คอนเทนต์” ที่ผลิตออกมา
รวมไปถึงช่องทางทำมาหากินอย่าง “โซเชียลมีเดีย” ที่ใช้ในการเผยแพร่คอนเทนต์
อ่านมาแบบนี้ การเริ่มต้นอาชีพนี้ก็ดูจะไม่ยากใช่ไหมคะ ?
เพราะเพียงแค่ทำคอนเทนต์ลงบนแพลตฟอร์ม ก็ดูเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็ทำได้
แต่ความเป็นจริงทุกอย่างย่อมมีต้นทุน ทั้งในแง่ของเวลาและเงินทอง
เช่น หากเราทำคอนเทนต์เกี่ยวกับการให้ความรู้ เราอาจจะไม่ได้ต้องใช้ต้นทุนด้านเงินทอง
แต่เราก็ต้องหมดเวลาไปกับการหาข้อมูล และวิเคราะห์เนื้อหาออกมา
หรือหากเราทำคอนเทนต์แนวความงาม เราก็จำเป็นต้องเสียเงินเพื่อซื้อของมารีวิวและค่าอุปกรณ์
และเมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้น ถึงจะมีสปอนเซอร์ หรือมีแบรนด์ต่าง ๆ มาจ้างงาน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ก็หมายความว่ากว่าอาชีพเหล่านี้จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเราได้
ก็ต้องสั่งสม “ชื่อเสียง” ให้ได้มากเสียก่อน และแน่นอนว่าไม่มีใครตอบได้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไร
อาจจะเป็น 1 เดือน 1 ปี หรือ 10 ปี ก็เป็นไปได้
มากไปกว่านั้น ต่อให้เรามีชื่อเสียงอยู่ในมือ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำรายได้ได้มากเพียงพอ
ที่จะเลี้ยงชีพของตัวเองได้ เพราะด้วยปริมาณอินฟลูเอนเซอร์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในแพลตฟอร์ม
ทำให้เกิดการแข่งขันกันในวงการ จนส่งผลให้เกิดการ “กดราคา” กันเอง
โดยปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์จะถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 ระดับ ได้แก่
Nano มีผู้ติดตามประมาณ 1,000-10,000 บัญชี
Micro มีผู้ติดตามประมาณ 10,000-100,000 บัญชี
Macro มีผู้ติดตามประมาณ 100,000-1,000,000 บัญชี
Mega หรือ Celebrity มีผู้ติดตามประมาณ 1,000,000 บัญชีขึ้นไป
และในแต่ละระดับก็จะมีรายได้ที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มที่อินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นอยู่
เพราะความยากง่าย ในการสร้างคอนเทนต์ที่แตกต่างกันในแต่ละแพลตฟอร์ม
โดยจากการสำรวจรายได้ของอินฟลูเอนเซอร์ระดับ Nano ในยุโรป จากแต่ละแพลตฟอร์ม ของ Influencer Marketing Hub พบว่า
Twitter ประมาณ 2-20 ดอลลาร์สหรัฐต่อโพสต์ หรือประมาณ 60-600 บาท
TikTok ประมาณ 5-25 ดอลลาร์สหรัฐต่อโพสต์ หรือประมาณ 150-750 บาท
Instagram ประมาณ 10-100 ดอลลาร์สหรัฐต่อโพสต์ หรือประมาณ 300-3,000 บาท
YouTube ประมาณ 20-200 ดอลลาร์สหรัฐต่อวิดีโอ หรือประมาณ 600-6,000 บาท
Facebook ประมาณ 25-250 ดอลลาร์สหรัฐต่อโพสต์ หรือประมาณ 750-7,500 บาท
เมื่อดูที่รายได้ขั้นต่ำของแต่ละแพลตฟอร์มจะพบว่า เป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำมาก
แถมยังมีอินฟลูเอนเซอร์บางคนที่โหยหาคอนเทนต์มาก ๆ และยอมรับงาน “ฟรี”
จนกลายเป็นว่า “การรับงานฟรี” เป็นการทำร้ายอินฟลูเอนเซอร์คนอื่น ที่ต้องทำมาหากินกับอาชีพนี้
และยิ่งถ้าแบรนด์จ้างอินฟลูเอนเซอร์จำนวนมาก ๆ หลายแบรนด์ก็พยายามจะมองหา “ช่องทางฟรี”
เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย และด้วยปริมาณอินฟลูเอนเซอร์ที่ล้นตลาด ก็ทำให้แบรนด์ไม่จำเป็นต้องง้อ
อินฟลูเอนเซอร์ที่คิดเงิน เพราะอย่างไรก็ยังมีตัวเลือกอื่นอีกเยอะ ที่มีโอกาสจะรับงานแบบฟรี ๆ
ด้านอินฟลูเอนเซอร์เอง ก็ปฏิเสธไม่ได้อีกว่า ถ้าอยากมีงานและสร้างชื่อเสียงสำหรับงานในอนาคต
ช่วงแรก ๆ ก็จำเป็นต้องทำงานฟรีก่อน เพื่อให้แบรนด์เห็นผลงาน เห็นคอนเทนต์ มีจำนวนผู้ติดตาม
และเปิดโอกาสไปสู่การว่าจ้างงานต่อไป
นอกจากนั้น สำหรับตลาดต่างประเทศ อีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมก็คือ Affiliate Marketing
หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า “การตลาดแบบพันธมิตร”
ซึ่งเป็นอีกช่องทางที่ช่วยให้อินฟลูเอนเซอร์มีรายได้ โดยที่แบรนด์ไม่ได้ให้เป็นค่าจ้าง แต่จ่ายเป็นค่าคอมมิชชันแทน หากอินฟลูเอนเซอร์สามารถขายสินค้าได้
ด้วยการให้อินฟลูเอนเซอร์ใส่ลิงก์ขายสินค้าไว้ในช่องทางโซเชียลของตนเอง ส่วนแบรนด์ก็จะได้คอนเทนต์ที่มีความเรียล มาใช้ในการโปรโมตเพื่อทำการตลาดต่อไป
เช่น แบรนด์ Foxybae ก็ใช้การตลาดนี้เพื่อให้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยสร้างคอนเทนต์
จนอุปกรณ์ทำผม ซึ่งเป็นสินค้าหลักของแบรนด์ขายได้กว่า 900 ล้านบาท หลังเปิดตัวเพียง 4 ปีเท่านั้น
ในขณะเดียวกัน ก็มีอินฟลูเอนเซอร์หลายคน ที่เมื่อเริ่มมีชื่อเสียง มีผู้ติดตามจำนวนมาก หรือมีเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์ ก็เริ่มทำแบรนด์และขายสินค้าควบคู่ไปด้วย เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรอการจ้างงานจากภายนอกเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม ความยากของการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่อง “รายได้” อย่างเดียวเท่านั้น
รู้หรือไม่ว่า 19.2% ของการบุลลีกันเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ
บางคนก็ต้องจากโลกนี้ไป เพราะไม่สามารถอยู่กับคำก่นด่าของสังคมโลกออนไลน์ได้
อย่างกรณีของ ซอลลี อดีตสมาชิกวง f(x) จากค่าย SM Entertainment
ซึ่งแม้เธอจะไม่ได้เป็นอินฟลูเอนเซอร์ แต่ก็ถือว่าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ที่ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า เพราะสังคมออนไลน์ เนื่องจากทุกคนสามารถแสดงความเห็นอะไรก็ได้
โดยไม่คิดถึงจิตใจของคนที่ได้อ่าน
จนเป็นสาเหตุที่ทำให้จิตใจของเด็กสาวคนหนึ่งแตกสลาย จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อีกต่อไป
ถึงเราจะเริ่มเห็นหลายคนลุกขึ้นสู้ ด้วยการฟ้องร้องคนที่มาแสดงความเห็นเสีย ๆ หาย ๆ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้มแข็งพอที่จะก้าวข้ามความโหดร้ายเหล่านั้นไปได้
และในทางกลับกัน ด้านอินฟลูเอนเซอร์เอง ก็ต้องระวังเวลาที่จะพูดอะไรออกไปสู่สังคมออนไลน์เช่นกัน
เพราะเมื่อ “คำพูด” ถูกอัปโหลดสู่อินเทอร์เน็ต ก็จะกลายเป็น “สาธารณะ” ที่ทุกคนมีสิทธิ์วิจารณ์
และหลายครั้งสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์พูด ก็ไม่ได้มีความหมายที่อยากจะโจมตีใคร เป็นเพียงการ “แสดงความคิดเห็นส่วนตัว” เท่านั้น
แต่ในสังคมที่ทุกคนมีความคิดแตกต่างกัน จึงไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจความหมายที่ต้องการจะสื่อ หรือในขณะเดียวกัน เมื่อความคิดของเราไม่ตรงกับมาตรฐานของสังคม ก็ย่อมไม่เป็นที่ยอมรับ
ฉะนั้น “อินฟลูเอนเซอร์” ที่หลายคนอาจมองว่าสบายและง่าย แค่ถ่ายรูป ทำวิดีโอ หรือเขียนคอนเทนต์ลงบนโลกโซเชียล
อาจมีเบื้องลึกเบื้องหลังที่มากกว่านั้น เพราะทุกอาชีพบนโลกใบนี้ไม่มีคำว่า “ง่าย”
และลงทุนเกิร์ลอยากขอเป็นอีกกระบอกเสียงให้ทุกท่าน “คิดก่อนพิมพ์”
เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า คอมเมนต์ที่เราพิมพ์ไปนั้น ส่งผลกระทบอย่างไรต่อคนที่ได้อ่านบ้าง
อย่ามองว่า มันเป็นแค่เรื่องสนุก
แต่ให้คิดไว้เสมอว่า ถ้าคนนั้นคือตัวเอง
เราจะรู้สึกอย่างไร..
References:
-https://www.tubefilter.com/2017/05/24/most-desired-career-young-people-youtube/
-รายงาน Influencer Marketing Outlook ประจำปี 2020 จัดทำโดย Influencer Marketing Hub
-https://www.comparitech.com/internet-providers/cyberbullying-statistics/
-https://www.vogue.co.th/fashion/article/sullifxreflection
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.