ถอดรหัส ความสำเร็จทายาทรุ่น 3 ของบันลือกรุ๊ป
Business

ถอดรหัส ความสำเร็จทายาทรุ่น 3 ของบันลือกรุ๊ป

18 ก.พ. 2022
ถอดรหัส ความสำเร็จทายาทรุ่น 3 ของบันลือกรุ๊ป /โดย ลงทุนเกิร์ล
“ผมเกิดมาบนกองเงินกองทอง” วลีเด็ดของ “แวน ธิติพงษ์” นักธุรกิจหนุ่มพันล้าน ที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับวิดีโอคอนเทนต์จิกกัดสังคมจาก Salmon House ซึ่งได้กลายเป็นไวรัลอยู่พักใหญ่ หรือแครักเตอร์ “แม่มณี” ของธนาคารไทยพาณิชย์
รู้หรือไม่ ความสร้างสรรค์ที่เป็นภาพจำเหล่านี้ เป็นผลงานของบันลือกรุ๊ป
บริษัทที่เริ่มมาจากการเป็นสำนักพิมพ์ ก่อนจะขยายสู่ “ขายหัวเราะ” หนังสือการ์ตูนยุคบุกเบิกในประเทศไทย
ซึ่งปัจจุบัน บันลือกรุ๊ป ก็ยังคงมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง พัฒนาสื่อที่เหมาะกับยุคสมัย เช่น Salmon Books, Salmon House, The MATTER หรือ Minimore
วันนี้ลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณพิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามารับช่วงต่อยอดอาณาจักรบันลือกรุ๊ป ให้เติบโตไปอีกขั้น
บันลือกรุ๊ปปรับตัวอย่างไร ในยุคที่ถูกมองว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตายแล้ว ?
และทายาทรุ่นที่ 3 มีแนวคิดอย่างไรในการต่อยอดธุรกิจที่เก่าแก่ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
บันลือกรุ๊ปอยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์มานานกว่า 67 ปี ธุรกิจเก่าแก่ที่สานต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น
เริ่มตั้งแต่สำนักพิมพ์เล็ก ๆ ขยับขยายสู่วงการการ์ตูนแถวหน้า ที่มั่นใจได้ว่าต้องมีหลาย ๆ คน เติบโตมากับการซื้อการ์ตูนขายหัวเราะทุก ๆ สัปดาห์
โดยปัจจุบันบันลือกรุ๊ป ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอนเทนต์แบบครบวงจรอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย เป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตัวแครักเตอร์, โพรดักชันส์ เฮาส์, สื่อออนไลน์ หรือแม้แต่การจัดงานอิเวนต์
ซึ่งคนที่กำลังนั่งแท่นบริหารอาณาจักรแห่งนี้อยู่ก็คือ คุณพิมพ์พิชา ทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวอุตสาหจิต รับช่วงต่อมาจาก คุณวิธิต อุตสาหจิต หรือคุณพ่อของเธอ
เนื่องจากคุณพิมพ์พิชา ชอบติดตามคุณพ่อคุณแม่ไปทำงานที่บริษัทเสมอ ๆ ทำให้เธอเติบโตมากับการอ่านหนังสือมากมายตั้งแต่เด็ก ๆ รวมถึงช่วยทำงานจิปาถะในบริษัทตอนช่วงวัยรุ่น
ประสบการณ์เหล่านี้ ก็ก่อเกิดมาเป็นความรักด้านการอ่าน และการผลิตคอนเทนต์ ดังนั้นเธอจึงเลือกเรียนปริญญาตรี ในคณะนิเทศศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และเมื่อคุณพิมพ์พิชา มีความตั้งใจที่จะกลับมาสานต่อธุรกิจสื่อของครอบครัว เธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ ที่สถาบัน Imperial College Business School ในสหราชอาณาจักร
ซึ่งหลังเรียนจบ เธอในวัย 24 ปี ก็ตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจที่บ้านทันที โดยเข้ามาดูแลบริษัท ช่วงรอยต่อของการขยับขยายธุรกิจ จากสื่อสิ่งพิมพ์ สู่สื่อดิจิทัลพอดิบพอดี
ที่น่าสนใจคือ บันลือกรุ๊ปไม่ได้เพิ่งจะปรับเปลี่ยนธุรกิจ ตอนช่วงที่สื่อออนไลน์กำลังเริ่มเป็นกระแส
แต่จริง ๆ แล้ว บริษัทได้มีการขยับมาทำสื่อดิจิทัล อย่างแอนิเมชัน, โพรดักชันส์ เฮาส์ และสื่อออนไลน์ ตั้งแต่สมัยรุ่นที่ 2 หรือรุ่นพ่อของคุณพิมพ์พิชาแล้ว
อย่าง “วิธิตา แอนิเมชั่น” บริษัทผู้ผลิตแครักเตอร์แบบครบวงจร เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2001 ในช่วงยุคบุกเบิกของวงการแอนิเมชันในประเทศไทย
โดยช่วงแรก ๆ ก็เริ่มจากการนำแครักเตอร์ของการ์ตูนเดิมที่มีอยู่ มาทำแอนิเมชัน 2D และ 3D ฉายบนโทรทัศน์ เช่น เรื่องปังปอนด์, สามก๊ก ไปจนถึงสร้างแอนิเมชันโฆษณาให้แบรนด์อื่น ๆ
ซึ่งเรื่องนี้ คุณพิมพ์พิชาได้เสริมเอาไว้ว่า เธอไม่ได้มองตัวละครเหล่านี้ เป็นแค่ “หนังสือการ์ตูน” แต่มองให้เป็น “แบรนด์” ที่สามารถไปโลดแล่นอยู่ในช่องทาง หรือแพลตฟอร์มไหนก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่แค่ในสื่อสิ่งพิมพ์
นำอารมณ์ขันและแครักเตอร์ของขายหัวเราะ มาต่อยอดให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ในการสื่อสารกับลูกค้าในทุกอุตสาหกรรม อย่างการนำตัวการ์ตูนขายหัวเราะ มาทำคอนเทนต์อธิบายเรื่องยาก ๆ เช่น วงการแพทย์, วงการการเงิน และอื่น ๆ อีกมากมาย
รวมทั้งยังใช้รูปแบบการทำงานแบบ “สตูดิโอ” หรือทำงานเป็นทีม โดยนักเขียนจะไม่ต้องทำงานแบบ “One Man Show” หรือการฉายเดี่ยว เพื่อแบกภาระงานไว้คนเดียว
แต่จะมีทีมงานช่วยคิดคอนเทนต์ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า, วิเคราะห์การตลาด หรือมีครีเอทิฟด้านอารมณ์ขันโดยเฉพาะ เพื่อที่จะมาต่อยอดไอเดียของนักเขียน
นอกจากนั้น วิธิตา แอนิเมชั่น ยังรับออกแบบแครักเตอร์ให้กับแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย เช่น “แม่มณี” ของธนาคารไทยพาณิชย์, “ก๊อดจิ” ของบริษัท ปตท. รวมถึงสติกเกอร์ไลน์ของหลาย ๆ บริษัท ธนาคาร และบริษัทประกันภัย
ซึ่งในธุรกิจด้านอื่น ๆ ของบันลือกรุ๊ป ก็มีการนำมาต่อยอดเหมือนกัน
อย่างสำนักพิมพ์ ก็มีการแตกออกมาเป็น Salmon Books และ BUNBOOKS
และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสื่อในยุคดิจิทัล ก็มีการผลิตคอนเทนต์ที่หลากหลายสไตล์ เพื่อจะได้เข้าถึงลูกค้าหลาย ๆ กลุ่ม ซึ่งก็ได้ทีมงานมีฝีมือเข้ามาร่วมทีมด้วย
The MATTER สื่อออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ ก่อตั้งโดยคุณทีปกร วุฒิพิทยามงคล และคุณณัฐชนน มหาอิทธิดล
อีกทั้งยังได้คุณวิชัย มาตกุล และคุณธนชาติ ศิริภัทราชัย มาดูแลด้านโพรดักชันส์ ในบริษัท Salmon House ที่ผลิตคอนเทนต์เอาใจคนรุ่นใหม่
รวมถึงมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม อย่าง PIXNIQ ชุมชนสำหรับคนถ่ายภาพ หรือ Minimore ที่เป็นชุมชนสำหรับนักเขียน
ซึ่งหน้าที่ของคุณพิมพ์พิชา ก็คือการต่อยอดในส่วนของธุรกิจเดิม ให้เป็นไปในแนวทางใหม่ ๆ อย่างที่เธอเชื่อว่า ตัวการ์ตูนของบันลือกรุ๊ป ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรูปเล่ม แต่เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่ไปอยู่ที่ไหนก็ได้
เช่น ล่าสุดก็มีโปรเจกต์ที่ขายหัวเราะได้จับมือร่วมงานกับ “PLY (พลาย)” แบรนด์รองเท้าสนีกเกอร์ฝีมือคนไทย
โดยนำตัวการ์ตูนขายหัวเราะ ที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นคุณพ่อ มาต่อยอดเป็นลายรองเท้าให้แฟน ๆ ได้เก็บสะสม โดยพยายามคง DNA ของขายหัวเราะไว้ให้มากที่สุด
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงเห็นถึงการพัฒนาธุรกิจของบันลือกรุ๊ปได้เป็นอย่างดี
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว สำหรับการทำธุรกิจครอบครัว เรามักจะเห็นปัญหาที่ไม่ลงรอย หรือทัศนคติที่ไม่ตรงกันของคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่เสมอ
แต่ครอบครัวอุตสาหจิต กลับไม่มีเรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้นเลย เนื่องจากคนในครอบครัวใช้ “ความเข้าใจ” และ “การสื่อสาร” ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยของทั้ง 2 รุ่น
อันดับแรก เปิดโอกาสให้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ
โดยตลอดการบริหารงานของคุณพิมพ์พิชา ไม่เคยถูกปิดกั้นความคิดจากคนรุ่นก่อนเลย เนื่องจากคุณวิธิตเข้าใจว่าสื่อในยุคนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมของลูกค้า หรือการเติบโตของเทคโนโลยี
ดังนั้นคุณพิมพ์พิชาจึงสามารถลองผิดลองถูกได้อย่างเต็มที่ แต่ก็จะไม่ดึงดัน หากหนทางที่เลือกน่าจะมีทิศทางที่ไม่ดี รวมทั้งยังเปิดใจรับฟังคำแนะนำของคนรุ่นก่อน ที่มีประสบการณ์มาก่อน
เรียกได้ว่าการดำเนินธุรกิจของครอบครัวอุตสาหจิต ขับเคลื่อนด้วยความเข้าอกเข้าใจ และเคารพในความคิดเห็นของคนทั้ง 2 รุ่น
นี่ก็คือเรื่องราวและแรงบันดาลใจ ในการปรับตัวของบันลือกรุ๊ป จากผู้บริหารไฟแรงที่สร้างสมดุลระหว่างคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าได้อย่างลงตัว
ดังนั้นจึงก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบันลือกรุ๊ป ยังคงเติบโตในอุตสาหกรรมสื่อได้อย่างยั่งยืน..
References:
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณนิว-พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทรุ่นที่ 3 ของบันลือกรุ๊ป
-https://kaihuaror.com/hahaland
-https://www.banluegroup.com
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.