เรียนรู้ การสร้างประสบการณ์ผ่านสินค้า จากแว่นเกมเมอร์ Ophtus
Business

เรียนรู้ การสร้างประสบการณ์ผ่านสินค้า จากแว่นเกมเมอร์ Ophtus

25 ก.พ. 2022
เรียนรู้ การสร้างประสบการณ์ผ่านสินค้า จากแว่นเกมเมอร์ Ophtus /โดย ลงทุนเกิร์ล
หนึ่งในกระแสสินค้าที่มาแรงในสัปดาห์นี้ คงหนีไม่พ้นแว่นออปตัส (Ophtus) หลังจากเปิดตัวพรีเซนเตอร์ อย่างคุณปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ก็เรียกเสียงฮือฮาอยู่ไม่น้อย
ซึ่งหากใครคลุกคลีอยู่ในแวดวงเกมเมอร์ ก็น่าจะคุ้นเคยกับแว่นแบรนด์นี้ เพราะจุดเด่นที่เห็นได้ชัด ก็คือการโฆษณาผ่านอินฟลูเอนเซอร์
ที่เรียกว่า ใช้อินฟลูเอนเซอร์แทบจะทุกคนที่อยู่บนแพลตฟอร์ม จนกลายเป็นคำกล่าวติดตลกว่า “สิ่งที่หนีไม่พ้นนอกเหนือจากความตาย ก็คือโฆษณาแว่นออปตัส”
อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งที่ออปตัสให้ความใส่ใจเป็นพิเศษก็คือ “แพ็กเกจจิง”
จนกลายเป็นความแตกต่างจากแว่นแบรนด์อื่น ๆ ในท้องตลาดอย่างเห็นได้ชัด
แล้วทำไมออปตัสถึงให้ความสำคัญกับ “กล่อง” ที่สุดท้ายลูกค้าก็คงไม่ได้ใช้งาน ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักแว่นแบรนด์นี้
Ophtus เป็นแว่นกรองแสงสีฟ้าโดยเฉพาะ โดดเด่นที่ความแข็งแรงทนทานชนิดที่ว่าจะนั่งทับหรือเหยียบ แว่นก็ไม่แตก และยังสวมแล้วรู้สึกเบาสบาย
โดยจุดเริ่มต้นของแว่นออปตัส ก็มาจากปัญหาในวัยเด็กของตัวผู้ก่อตั้ง ที่มักจะปวดตาเวลาเล่นเกม เมื่อเติบโตขึ้นจึงได้หยิบเอา Pain Point ของตัวเองมาทำให้กลายเป็นธุรกิจ ที่เปิดตัวในปี 2018
แต่เนื่องจากสินค้าของออปตัส คือ “แว่น” ซึ่งเป็นสินค้าที่มีอยู่มากมายในปัจจุบัน
ทางแบรนด์จึงมองหาสิ่งที่จะทำให้แว่นของออปตัส แตกต่างจากแว่นอื่น ๆ ในท้องตลาด นอกเหนือจากตัวคุณสมบัติของสินค้า ที่พยายามวางจุดยืนเป็นแว่นกรองแสง เพื่อตัดแสงสีฟ้าโดยเฉพาะ
รวมไปถึงการเป็น “Eyewear For All” หรือแว่นที่ทุกคนสามารถใส่ได้ ไม่ใช่แค่เกมเมอร์เท่านั้น แต่ทุกคนที่ต้องประสบกับปัญหาแสงสีฟ้าจากหน้าจอต่าง ๆ ก็สามารถใช้งานแว่นออปตัสได้
และสิ่งที่ออปตัสเลือกใส่ใจเป็นลำดับถัดมา ก็คือ “แพ็กเกจจิง”
ปกติเวลาเราไปซื้อแว่นตามร้านขายแว่นต่าง ๆ ก็มักจะได้กล่องสำหรับใส่แว่นมา 1 กล่อง หรือถ้าเป็นแบรนด์หรูขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะมีทั้งกล่องกระดาษ กล่องแว่น และซองใส่แว่นมาให้
แต่สำหรับออปตัส กล่องที่ใส่สินค้ามาจะมีลักษณะไม่ต่างจากกล่องใส่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เลย
ซึ่งจุดนี้ตัวผู้ก่อตั้งก็ได้แรงบันดาลใจมาจากความชื่นชอบของตัวเอง ที่มีต่อแพ็กเกจจิง
เพราะเวลาไปช็อปปิงมาแล้ว เขามักจะชอบเก็บกล่องสวย ๆ ไว้เหมือนของแต่งบ้าน หรือเป็นของสะสม รวมไปถึงชอบความรู้สึกที่ได้ขณะแกะกล่องสินค้าที่ตัวเองซื้อมา
ที่น่าสนใจคือ เขาไม่ได้หยุดเพียงแค่ความชอบเท่านั้น แต่ยังนำกล่องที่ตัวเองชอบทั้งหมด มาดูว่าทำด้วยวัสดุอะไร และผลิตจากโรงงานไหน
จากนั้นก็ไปสั่งผลิตกล่องตามแบบฉบับที่ตัวเองชอบ เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสความรู้สึกเดียวกันกับที่เขาเคยได้รับ
ดังนั้น กล่องใส่แว่นออปตัส จึงใช้วัสดุแบบพรีเมียมที่ให้สัมผัสดี เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภค รวมถึงใส่ใจกับรูปลักษณ์ของแพ็กเกจจิง ให้กลายเป็นเหมือนของที่สามารถเก็บสะสมได้อีกชิ้นหนึ่ง
อย่างรูปแว่นที่พิมพ์อยู่บนกล่องออปตัส ก็เป็นฝีมือของช่างภาพคนไทย อย่างคุณวิศรุต อังคทะวานิช
ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่ถ่ายรูปปลากัด ซึ่งถูกใช้เป็นรูปหน้าจอของ iPhone 6s นั่นเอง
นอกจากนั้น เมื่อเปิดกล่องออกมาแล้ว ภายในกล่องก็จะไม่ต่างจากเวลาที่เราซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ที่มีคู่มือการใช้งาน พร้อมกับกล่องใส่แว่น แว่นตา และผ้าเช็ดแว่น
เรียกว่าเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ไม่เหมือนการซื้อแว่นทั่ว ๆ ไป ที่ลูกค้าก็คงไม่ได้คาดว่าจะได้รับ จึงเกิดเป็นความประทับใจ และกลายเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของแว่นออปตัสเลยก็ว่าได้
อ่านมาถึงตรงนี้ สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากออปตัส ก็คือ
การจะสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าชิ้นหนึ่ง ต่อให้มันจะเป็นสินค้าที่มีอยู่ในท้องตลาดอยู่แล้ว แต่ถ้าเราเลือกส่วนใดส่วนหนึ่งมาสร้างให้แตกต่าง ไม่ว่าสินค้าจะเป็นอะไร ภาพจำของแบรนด์และสินค้าก็จะโดดเด่นกว่าแบรนด์อื่น ๆ อย่างแน่นอน
เพราะจริง ๆ แล้วในคำว่า แบรนด์ นั้นไม่ได้มีแค่ชื่อแบรนด์ หรือโลโกเท่านั้น
แต่ทุกอย่างที่ลูกค้าได้รับ หรือประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับ ก็คือ “แบรนด์” นั่นเอง..
Reference:
-สัมภาษณ์ตรงกับผู้ก่อตั้ง Ophtus
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.