MiniLuxe ร้านทำเล็บ ที่ตั้งเป้าจะเป็นสตาร์บัคส์ แห่งวงการเสริมสวย
Business

MiniLuxe ร้านทำเล็บ ที่ตั้งเป้าจะเป็นสตาร์บัคส์ แห่งวงการเสริมสวย

4 มี.ค. 2022
MiniLuxe ร้านทำเล็บ ที่ตั้งเป้าจะเป็นสตาร์บัคส์ แห่งวงการเสริมสวย /โดย ลงทุนเกิร์ล
จะเป็นอย่างไร ถ้าเราเอากลยุทธ์ธุรกิจร้านกาแฟ มาใช้กับธุรกิจร้านเสริมสวย ?
แม้ทั้งสองธุรกิจจะดูแตกต่างกัน แต่กลยุทธ์ หรือโมเดลบางอย่าง ก็สามารถนำมาปรับใช้ร่วมกันได้
เหมือนอย่าง MiniLuxe ร้านเสริมสวยที่ได้หยิบเอากลยุทธ์ของเชนร้านกาแฟรายใหญ่ อย่างสตาร์บัคส์มาปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง
และต้องการจะนิยามตัวเองว่าเป็น “สตาร์บัคส์แห่งวงการเสริมสวย”
แล้วร้านเสริมสวย ที่ใช้กลยุทธ์แบบร้านกาแฟ จะเป็นอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ MiniLuxe มาจากคุณ Tony Tjan และคุณ John Hamel ซึ่งทั้งสองคนเป็นหุ้นส่วนกัน
โดยคุณ Tony Tjan เกิดในครอบครัวชาวจีน ที่อพยพมาที่สหรัฐอเมริกา และสมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่ ก็ล้วนมีกิจการเป็นของตัวเอง ทำให้คุณ Tony Tjan มีจิตวิญญาณการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ยังเล็ก
นอกจากนี้การเป็นครอบครัวผู้อพยพ ยังทำให้เขาเห็นช่องว่างในการประกอบกิจการว่า หลายครั้ง
สำหรับงานบริการ พนักงานที่เป็นชาวต่างชาติอพยพ มักจะได้รับค่าแรงที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับชาวอเมริกัน
ซึ่งคุณ Tony Tjan รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม ในตอนแรกเขายังไม่ได้มีไอเดีย ที่จะทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ชัดเจนนัก
จนกระทั่งปี 2005 คุณ Tony Tjan, คุณ John Hamel และผู้ร่วมก่อตั้งอีก 2 คน ได้ก่อตั้งบริษัท Cue Ball Capital ขึ้นมา
Cue Ball Capital เป็นบริษัทเกี่ยวกับการลงทุนในบอสตัน ที่จะเน้นการร่วมลงทุนกับธุรกิจในระยะเริ่มต้น
และเน้นไปที่ธุรกิจเกี่ยวกับงานบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้คน
ส่งผลให้คุณ Tony Tjan ใช้เวลาไปกับการให้คำปรึกษาบริษัทต่าง ๆ รวมถึงสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์มากมาย
และในปี 2007 คุณ Tony Tjan ก็มีแนวคิดที่อยากจะเปิดร้านทำเล็บ โดยได้แรงบันดาลใจตอนอยู่ในเมือง
เพราะเขาสังเกตว่า บริเวณนั้นมีร้านทำเล็บอยู่ติดกันถึง 4 แห่งด้วยกัน
คุณ Tony Tjan จึงเกิดไอเดียว่า “We could try ‘Starbucking’ the nail salon”
หรือก็คือ “เราน่าจะลองสร้างสตาร์บัคส์ของวงการร้านทำเล็บดูได้”
MiniLuxe จึงถือกำเนิดขึ้น..
เมื่อมีไอเดียแล้ว คุณ Tony Tjan ก็ได้ใช้ทรัพยากรที่ตัวเองมี หรือก็คือบริษัท Cue Ball Capital ของเขา ในการค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมร้านทำเล็บ
เขาพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า คนในสหรัฐฯ ใช้จ่ายเงินกับการทำเล็บ สูงถึงเกือบ 200,000 ล้านบาทต่อปี เลยทีเดียว
ในขณะเดียวกัน เขาก็ยังพบอีกด้านของธุรกิจนี้ ซึ่งก็คือการใช้แรงงานของพนักงาน อย่างไม่เป็นธรรม
โดย 35% ของพนักงาน ไม่สามารถจำวันพักร้อนครั้งล่าสุดของตัวเองได้
และอีก 12% ยังมีรายได้ น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำเกือบ 5 เท่าเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ยังมีปัญหาที่ทั้งลูกค้าและพนักงานพบมากที่สุด คือเรื่องของ “ความสะอาด” และ “ความเป็นมาตรฐาน”
MiniLuxe จึงนำปัญหาเหล่านี้มาแก้ไข และใช้จุดยืนนี้ เป็นแนวทางในการดำเนินงาน
แล้ว MiniLuxe นำเอากลยุทธ์หรือโมเดลธุรกิจอะไรของสตาร์บัคส์ มาปรับใช้กับร้านทำเล็บบ้าง ?
อย่างแรกคือ เรื่องของการใส่ใจดูแลพนักงานในองค์กร
โดยสตาร์บัคส์ ถือว่าเป็นหนึ่งในบริษัทระดับโลกที่ขึ้นชื่อเรื่อง “บริการที่ได้มาตรฐาน”
และการที่แบรนด์จะมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้ บริษัทก็จำเป็นต้องดูแลพนักงานให้ดีเสียก่อน เพราะเมื่อพนักงานมีความสุข เขาก็จะสามารถส่งมอบบริการดี ๆ ต่อไปให้ลูกค้าได้
สตาร์บัคส์จึงใส่ใจกับการดูแล “พาร์ตเนอร์” ซึ่งเป็นคำที่บริษัทใช้เรียกพนักงาน เป็นอย่างดี
ไม่ว่าจะเรื่องสวัสดิการ หรือการสนับสนุนด้านอื่น ๆ
ซึ่ง MiniLuxe เองก็ใส่ใจในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน ตรงกับสิ่งที่คุณ Tony Tjan ตระหนักในอดีต ทำให้ค่าแรงและสวัสดิการของพนักงานที่ MiniLuxe ครอบคลุมมากกว่าเมื่อเทียบกับร้านอื่น ๆ
อย่างต่อมาคือ ความเป็นมาตรฐานของร้าน
ปัจจุบันสตาร์บัคส์มีสาขาอยู่ทั่วโลกประมาณ 33,000 สาขา
ดังนั้น ทางแบรนด์จึงต้องหาวิธีรักษามาตรฐานของร้าน ให้อยู่ในระดับเดียวกัน
ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเครื่องทำกาแฟ ที่เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะของแบรนด์ หรือหลักสูตรการฝึกสอนบาริสตา
ถึงแม้ตอนนี้ MiniLuxe จะมีอยู่เพียงแค่ 25 สาขา แต่ก็พยายามใส่ใจเรื่องมาตรฐานของร้านเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความสะอาด
ซึ่งทางแบรนด์จะใช้วิธีทำความสะอาดอุปกรณ์ แบบเดียวกับที่ทางการแพทย์ใช้ รวมถึงอบรมพนักงาน
เพื่อสร้างการบริการที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันในทุก ๆ สาขา
มาถึงตรงนี้ เราอาจสรุปได้อีกอย่างหนึ่งว่าสิ่งที่ MiniLuxe และสตาร์บัคส์ พยายามเสนอขายให้กับลูกค้า อาจไม่ใช่ “สินค้า” แต่คือ “บริการที่มอบให้”
ลองจินตนาการถึงเหตุการณ์การไปซื้อสินค้าที่เราอยากได้ แต่เจอบริการที่ไม่ดี ก็คงทำให้ความรู้สึกที่อยากจะซื้อสินค้านั้นลดลงไป
แต่ในขณะเดียวกันพอเจอพนักงานที่บริการดีมาก ๆ ต่อให้สินค้าชิ้นนั้น อาจจะไม่ใช่ของที่เราอยากได้ เราก็มีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้าชิ้นนั้นเพราะพนักงาน
เช่นเดียวกับเหตุผลที่หลาย ๆ คนเข้าสตาร์บัคส์และ MiniLuxe แทนที่จะเป็นร้านอื่น
แม้จะต้องจ่ายแพงกว่า แต่ผู้บริโภคก็พร้อมจะจ่าย เพราะรู้ว่าตัวเองจะได้รับบริการที่ดีแน่นอน
ปัจจุบัน MiniLuxe ก่อตั้งมา 15 ปี และสามารถระดมทุนเป็นเงินกว่า 1,372 ล้านบาท และวางแผนที่จะสร้างนิยามใหม่ของร้านทำเล็บ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมนี้ไปอีกขั้น ทั้งในเรื่องสุขอนามัย คุณภาพ และบริการที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย
เรียกได้ว่า การทำธุรกิจจึงไม่จำเป็น ที่จะต้องเรียนรู้จากบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น
แต่ถ้าหากว่าเราสามารถนำเอากลยุทธ์ หรือโมเดลธุรกิจอื่น มาปรับให้เข้ากับธุรกิจของเรา
ไม่แน่ว่าจริง ๆ แล้ว กลยุทธ์ที่จะพาแบรนด์ไปสู่ความสำเร็จ
อาจมาจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราเลย ก็เป็นได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.