ลิซ่า ซอฟต์ พาวเวอร์ เมืองไทย ไปที่ไหนร้านนั้นก็ปัง
Entertainment

ลิซ่า ซอฟต์ พาวเวอร์ เมืองไทย ไปที่ไหนร้านนั้นก็ปัง

23 มี.ค. 2022
ลิซ่า ซอฟต์ พาวเวอร์ เมืองไทย ไปที่ไหนร้านนั้นก็ปัง /โดย ลงทุนเกิร์ล
ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า วง BLACKPINK ได้แลนดิงสู่ประเทศไทย เมื่อวันก่อน
ซึ่งข่าวการกลับมาที่ประเทศไทยในครั้งนี้ อาจจะไม่น่าตื่นเต้น เท่ากับว่าลิซ่ากลับมาแล้วไปที่ไหนบ้าง
เพราะการแวะทานข้าวแต่ละครั้งของเธอ ก็มักจะกลายเป็นกระแสทั่วโลกออนไลน์
และแน่นอนว่าทุก ๆ ที่ ที่ลิซ่าไปจะต้องมีแฟนคลับไปตามรอยจนแน่นร้าน
หรือจริง ๆ แล้วเราอาจพูดได้ว่า ลิซ่า เป็นซอฟต์ พาวเวอร์ เมืองไทยไปแล้ว
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
คำว่า “Soft Power” คือ การใช้อิทธิพลหรืออำนาจที่ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิด และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้อื่น
โดยหากเป็นกรณีของลิซ่า เมื่อปีที่แล้ว เราคงเห็นปรากฏการณ์ “ลูกชิ้นยืนกิน” ที่ทำให้ร้านอาหารหลาย ๆ ร้าน ทั้งสตรีตฟูด และบนห้างสรรพสินค้าต่างหันมาจับธุรกิจลูกชิ้นธรรมดา ๆ
ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น หลังจากลิซ่าให้สัมภาษณ์ในรายการ Woody Show ว่าชอบทานลูกชิ้นยืนกิน ที่บุรีรัมย์ ทำให้แฟนคลับอยากไปตามรอยลิซ่าบ้าง
ที่น่าสนใจคือ ไม่ได้มีเพียงแค่ลูกค้าเท่านั้นที่ตามกระแส แต่พ่อค้าแม่ค้าทั่วประเทศไทย ต่างก็คว้าเอาโอกาสนี้มาต่อยอดเป็นธุรกิจด้วย
รวมถึงเจ้าของร้านลูกชิ้นยืนกิน ในจังหวัดบุรีรัมย์เอง ก็สามารถสร้างยอดขายถล่มทลายด้วยเช่นกัน
จากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด ทำให้ยอดขายตกลงจนเหลือขายลูกชิ้นได้ไม่เกิน 20-30 กิโลกรัมต่อวัน
แต่เพราะกระแสในครั้งนั้น ก็ทำให้มีคนมาต่อคิวหน้าร้านตั้งแต่เช้าและตลอดทั้งวัน สร้างยอดขายเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 200 กิโลกรัมต่อวัน รวมทั้งยังสามารถต่อยอดไปสู่การส่งลูกชิ้นสำเร็จรูปทั่วประเทศไทยอีกด้วย
หรือในกรณีร้าน “น้ำเต้าหู้เจ้วรรณ” แถวบรรทัดทอง ที่เดิมทีก็มีคนต่อคิวอยู่แล้ว
แต่พอลิซ่าแวะไปทานกับเพื่อน ๆ ที่ร้านก็กลับมาคิวแน่นกว่าเดิม และดังไปทั่วโลกออนไลน์เพียงข้ามคืน
ซึ่งการกลับบ้านเกิดของลิซ่าครั้งนี้ เพียงไม่กี่วัน กระแสตามล่าของกินตามลิซ่าก็เกิดขึ้นอีกครั้ง หลังเธอแวะไปกิน “พลาญชัย บาร์บีคิว” ร้านหมูกระทะเจ้าดัง ย่านโชคชัย 4
จริง ๆ แล้ว ร้านพลาญชัย บาร์บีคิว ก็เป็นร้านหมูกระทะในระดับตำนานอยู่แล้ว แต่หลังจากที่ลิซ่าไปเยี่ยมเยือน ก็คงจะมีแถวที่แน่นขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน
และนี่อาจเป็นเหมือนกรณีลูกชิ้นยืนกิน ที่ในเวลาต่อมาธุรกิจที่ได้ประโยชน์ ก็ไม่ได้มีแค่ร้านพลาญชัย บาร์บีคิว คิวทองแค่เพียงเจ้าเดียว แต่คงสร้างกระแสให้กับวงการหมูกระทะในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม กระแสของลิซ่าก็ไม่ได้มีผลดีเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าหากร้านค้านำไปต่อยอดอย่างไม่ถูกทาง ก็สามารถสร้างผลกระทบที่เลวร้ายได้เช่นกัน
อย่างในปี 2563 ที่คาเฟร้านหนึ่งถูกโจมตีด้วยประเด็นดราม่าเกี่ยวกับการ “คุกคามทางเพศผ่านสื่อสังคมออนไลน์” หรือ Cyber Sexual Harassment
ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากลิซ่าได้ไปใช้บริการที่คาเฟ แต่เจ้าของร้านกลับนำรูปภาพของเธอมาโพสต์ลงสื่อโซเชียลและวิจารณ์เสีย ๆ หาย ๆ รวมทั้งนำสิ่งของที่ลิซ่าใช้ในร้านมาเปิดประมูล เช่น แก้วน้ำ โซฟา และผนังร้าน
แม้เรื่องราวที่กล่าวมา จะเป็นการพูดเชิงตลกขบขันเท่านั้น แต่การวิพากษ์วิจารณ์ติดตลกอย่างไม่สร้างสรรค์ และถือว่าไม่ให้เกียรติศิลปิน
ส่งผลให้กลายเป็นกระแสสังคม และลูกค้าเริ่มไม่ต้องการไปใช้บริการ
หรืออย่างงานเคานต์ดาวน์ปีใหม่ในจังหวัดภูเก็ต ปี 2564 ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประกาศว่าลิซ่าจะเป็นหนึ่งในศิลปินในงาน แต่สุดท้ายทางต้นสังกัดได้ออกมาประกาศว่าไม่เป็นความจริง และลิซ่าไม่สามารถมาร่วมงานได้
ก็สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงจรรยาบรรณไม่น้อย ว่าหากไม่มั่นใจในข้อมูล ก็ไม่ควรที่จะนำประเด็นนี้มาโปรโมตงาน
โดยสาเหตุของเรื่องเหล่านี้ ก็คงเป็นเพราะ ลิซ่า เปรียบเสมือน “แม่เหล็ก” ที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้คนได้
ซึ่งเรื่องนี้ จริง ๆ แล้ว ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย หรือกับแฟนคลับคนไทยเท่านั้น
เพราะชื่อเสียงของวง BLACKPINK หรือแม้แต่ตัวลิซ่าเอง ก็เป็นที่รู้จักในระดับโลก
และด้วยความที่เธอจะหยิบจับอะไรก็กลายเป็นกระแส และได้รับการสนับสนุนจากแฟนคลับเสมอ
จึงทำให้มีแบรนด์ระดับโลกหลาย ๆ แบรนด์ ดึงลิซ่ามาร่วมงานด้วย
อย่าง CELINE แบรนด์หรูในเครือ LVMH ที่ดึงให้ลิซ่าเข้ามาช่วยเสริมภาพลักษณ์ด้วยการเป็น Global Ambassador
หรือกรณีล่าสุดที่แบรนด์วิสกี้ Chivas Regal สัญชาติฝรั่งเศส ที่เคยมีภาพลักษณ์แบรนด์เป็นเครื่องดื่มสำหรับคนมีอายุ ก็หันมาเลือกให้ลิซ่าเป็นพรีเซนเตอร์ เพราะต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่กว้างขึ้น
ซึ่งจริง ๆ แล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นกับลิซ่า ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรก
และก็อาจเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ สำหรับบุคคลดัง ๆ ที่มักจะถูกตามรอยจากแฟนคลับ
โดยเฉพาะดาราหรือศิลปินนักร้อง
อย่างในกรณีของ BTS วง K-POP ชื่อดัง ที่พาผลงานเพลงไปติดบนบิลบอร์ดชาร์ตมาแล้ว
ก็เคยมีการประเมินเอาไว้ว่า ในปี 2018 วง BTS สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกาหลีใต้ถึง 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 0.3% ของ GDP ประเทศเลยทีเดียว
โดยในด้านการท่องเที่ยว พบว่า BTS ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาที่ประเทศเกาหลีใต้ถึง 790,000 คนในปี 2017 ซึ่งคิดเป็นเกือบ 8% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ในด้านสินค้าเพื่อการบริโภคทั่วไป BTS ก็มีอิทธิพลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมเหล่านี้
ทั้งการบริโภคภายในประเทศ และการส่งออก
อาหาร คิดเป็นมูลค่า 128,660 ล้านบาท
เครื่องสำอาง คิดเป็นมูลค่า 90,972 ล้านบาท
เสื้อผ้า คิดเป็นมูลค่า 65,825 ล้านบาท
อ่านมาถึงตรงนี้ ถ้าประเทศไทยเราสามารถปั้นบุคคลดัง ๆ ที่สามารถดึงความสนใจจากแฟนคลับทั่วโลกได้บ้าง ก็คงสร้างเม็ดเงิน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ไม่น้อย..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.