เบื้องหลังของอุตสาหกรรมแฟชั่น แบบยั่งยืน ที่อาจไม่ยั่งยืนเสมอไป
Business

เบื้องหลังของอุตสาหกรรมแฟชั่น แบบยั่งยืน ที่อาจไม่ยั่งยืนเสมอไป

26 มี.ค. 2022
เบื้องหลังของอุตสาหกรรมแฟชั่น แบบยั่งยืน ที่อาจไม่ยั่งยืนเสมอไป /โดย ลงทุนเกิร์ล
“ความยั่งยืน” กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่หลาย ๆ ฝ่ายให้ความสำคัญ อย่างในวงการแฟชั่นเอง ก็มีผู้ประกอบการหลายเจ้า ที่ออกมาประกาศว่าเป็น “Sustainable Fashion” ด้วยการออกคอลเลกชัน ที่อ้างว่า “ดีต่อโลก”
แต่เคยสงสัยหรือไม่ว่า ในคำว่า “รักษ์โลก” นี้ เป็นแค่คำกล่าวอ้าง หรือว่าสินค้าเหล่านั้นดีกับสิ่งแวดล้อมจริง ๆ
เรื่องนี้สำคัญอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เมื่อพูดถึงคำว่า “ดีต่อโลก” หรือ “รักษ์โลก” หลายคนน่าจะมีภาพจำคล้าย ๆ กัน อย่างเช่น
ใช้วัสดุจากธรรมชาติ นำวัสดุมารีไซเคิลได้ หรือเป็นสิ่งที่สามารถย่อยสลายได้ไม่ยาก
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นแฟชั่นแบบยั่งยืน ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต
หรือก็คือในกระบวนการผลิตต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษ และต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ซึ่งเมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมแฟชั่นที่ทำร้ายโลก คำว่า “Fast Fashion” ก็จะต้อง
เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ก่อให้เกิดมลพิษจากการผลิตเป็นอันดับต้น ๆ
รู้หรือไม่ว่า ใน 1 เดือน Shein มีแบบเสื้อผ้าใหม่ ๆ เกือบ 1,000 แบบ และทุกแบบ
ก็จะถูกผลิตในปริมาณมาก เพื่อลดต้นทุนการผลิตต่อชิ้น
และหลาย ๆ ครั้ง วัสดุที่นำมาใช้ ก็มักจะถูกลดคุณภาพ เพื่อให้ขายสินค้าได้ในราคาถูก
ทำให้ในอีกด้านหนึ่ง คนที่ซื้อไปมักจะใช้ได้ไม่นาน ก็ต้องนำไปทิ้ง
หรือบางคนพอเห็นราคาไม่แพง ก็ตัดสินใจซื้อมาก่อน ทั้งที่อาจไม่ได้ใส่เลยด้วยซ้ำ
สุดท้ายก็กลายเป็น “ขยะ” ที่เป็นภาระของโลกต่อไป
ซึ่งเรื่องนี้ เป็นเพียงผลลัพธ์ภายนอก ที่ตาของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ เห็นเท่านั้น
แต่จริง ๆ แล้ว กว่าที่จะมาเป็นเสื้อผ้า 1 ชิ้น
เราก็ต้องเสียทรัพยากร รวมถึงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไปไม่น้อย
ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสีย หรือสารเคมีที่ถูกใช้ในกระบวนการผลิต
และที่สำคัญ ยังมี “ขยะ” จากวัสดุที่ใช้ เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากอีกด้วย
โดยในปี 2018 มีรายงานว่า ขยะที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ คิดเป็นปริมาณถึง 17 ล้านตัน และมีเพียง 13% เท่านั้น ซึ่งถูกนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์
เช่น แบรนด์ Vintagewknd แบรนด์แฟชั่น Y2K จากประเทศสิงคโปร์ ก็เลือกหยิบเอาเศษผ้าจากโรงงานต่าง ๆ มาเย็บให้กลายเป็นชุดใหม่ หรือแบรนด์ Dauphinette ที่เอาหนังและขนเฟอร์ที่ถูกทิ้ง นำกลับมาตกแต่งบนเสื้อผ้า
ในขณะเดียวกันอีกหลายแบรนด์ ก็เลือกที่จะนำขยะจากอุตสาหกรรมอื่น มาใช้ในการผลิตแทน
เช่น Stella McCartney และ Girlfriend Collective ซึ่งได้เลือกใช้เส้นใยที่ทำมาจากขวดพลาสติก มาถักทอให้กลายเป็นเสื้อผ้าตัวใหม่
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการผลิตยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะถึงแม้ว่าแบรนด์จะใช้วัสดุที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงใช้กระบวนการผลิตที่ไม่ทำร้ายโลก ก็จะยังมีปัญหาในเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามา
เนื่องจากคำว่า “ยั่งยืน” ในที่นี้ ไม่ใช่แค่ยั่งยืนกับสิ่งแวดล้อม แต่มนุษย์ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของโลกเช่นกัน
สำหรับปัญหานี้ หลายคนน่าจะเคยได้ยินข่าวเรื่องแรงงานอุยกูร์ในจีน ที่ถูกใช้งานอย่างหนัก แต่ไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม จนส่งผลให้หลายคนออกมาแบนแบรนด์แฟชั่นต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะรู้ได้ว่า แบรนด์ไหนใช้โรงงานรูปแบบใดในการผลิต เพราะไม่ใช่ทุกแบรนด์ ที่จะกล้าออกมาประกาศว่า ตัวเองมีกระบวนการทำงานอย่างไร
แต่ก็มีบางแบรนด์ที่หยิบเอาเรื่องความโปร่งใส มาใช้เป็นจุดยืนในการโปรโมตสินค้า
อย่างแบรนด์ Everlane จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เลือกจะเปิดเผยต้นทุน ค่าแรงงาน ค่าขนส่ง และภาษี
รวมถึงแสดงราคาเฉลี่ยในท้องตลาด สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีความคล้ายคลึงกันอีกด้วย
ซึ่งหลังจากนี้ ก็คงต้องกลับมาสู่ “ผู้บริโภค” ที่จะต้องพิจารณาว่า สิ่งที่แบรนด์พยายามนำเสนอเหล่านี้ เป็นเรื่องจริง หรือแค่กลยุทธ์การตลาดในการสร้างภาพลักษณ์ ที่เรียกว่า “Greenwashing”
Greenwashing คือ การสร้างภาพลักษณ์ว่าให้ความสำคัญกับความยั่งยืน แม้ว่าจริง ๆ แล้วตัวธุรกิจจะยังดำเนินงานในรูปแบบเดิม ๆ ที่ส่งผลเสียต่อโลก หรือไม่ได้ดีต่อโลกจริง
โดยส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป และให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจึงต้องหันมาใส่ใจในเรื่องนี้ เพื่อซื้อใจลูกค้า
แล้วเราจะมีวิธีไหนบ้าง ที่จะช่วยดูแลโลกของเราให้ดีที่สุด ?
ในเมื่อมีคำว่า Fast Fashion แล้ว ก็มีคำขั้วตรงข้ามอย่างคำว่า “Slow Fashion” เหมือนกัน
ถึงคำนี้จะมีมานานแล้ว แต่เทรนด์ Slow Fashion เพิ่งจะเริ่มเป็นที่นิยมในช่วง 10 ปีมานี้
Slow Fashion คือการซื้อให้น้อย เลือกให้ดี และใส่ให้นานที่สุด ซึ่งตรงข้ามทุกอย่างกับ Fast Fashion
การเลือกซื้อสินค้าแบบ Slow Fashion จึงยึดหลักที่ว่า
“ราคาและดีไซน์” ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการซื้อเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
โดยผู้บริโภค จะเริ่มคำนึงว่าวัสดุอะไรที่ใช้ในการผลิต มีกระบวนการผลิตแบบใด และใส่ได้นานแค่ไหน เข้ามาร่วมด้วย
ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มีหลายแบรนด์ที่พยายามใช้จุดยืนเรื่องนี้มาสื่อสารกับลูกค้าเช่นกัน
เช่น Patagonia ที่เคยออกแคมเปญ “Don’t Buy this Jacket” หรือ “อย่าซื้อแจ็กเกตตัวนี้” เพราะอยากให้ลูกค้า คิดให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจซื้อเสื้อผ้าสักตัว
หรือแบรนด์ Pangaia ที่เลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติมาผลิตเสื้อผ้า และทำสินค้าที่ใส่ได้นาน มากกว่าการออกสินค้าบ่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม อีกสิ่งที่เริ่มต้นได้ง่ายที่สุด อาจทำเพียงแค่ การใส่เสื้อผ้าเท่าที่มีอยู่ ต่อให้เสื้อที่ซื้อมาจะเป็นเสื้อจากร้าน Fast Fashion เราก็สามารถใช้ให้คุ้มค่าได้เช่นกัน
เพราะต่อให้เราจะมุ่งซื้อแต่แบรนด์รักษ์โลก แต่ยังมีพฤติกรรมการซื้อในปริมาณมากแบบเดิม ๆ
สุดท้ายความยั่งยืนที่เราต้องการ ก็อาจไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นไปได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.