โอกาสของสถานที่ Pet Friendly ในไทย จะเติบโตเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ “นิสัย” ของคนเลี้ยง
Lifestyle

โอกาสของสถานที่ Pet Friendly ในไทย จะเติบโตเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ “นิสัย” ของคนเลี้ยง

10 เม.ย. 2022
โอกาสของสถานที่ Pet Friendly ในไทย จะเติบโตเร็วแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ “นิสัย” ของคนเลี้ยง /โดย ลงทุนเกิร์ล
หากเราเป็น “ทาสหมา” หรือ “ทาสแมว” เวลาออกไปที่ไหน ก็คงอยากจะพาเจ้านายสี่ขาไปกับเราด้วย
เพราะต้องการใช้เวลาร่วมกัน รวมถึงให้สัตว์เลี้ยงของเราได้ออกไปเปิดหูเปิดตา ผ่อนคลาย และได้วิ่งเล่นปลดปล่อยพลังอย่างเต็มที่
ซึ่งสถานที่ที่เข้าใจและตอบโจทย์เหล่าทาสสี่ขา ส่วนใหญ่ก็จะเรียกว่า “Pet Friendly”
โดยสถานที่ Pet Friendly จริง ๆ แล้วก็คือ สถานที่ที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปในพื้นที่บริเวณนั้นได้ และปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับในไทย สถานที่ Pet Friendly ส่วนมากมักอยู่ในบริเวณกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เช่น เซ็นทรัล อีสต์วิลล์, คอนโดมิเนียมโครงการ MARU ในเครือเมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์, สวนวัชราภิรมย์ (BMA Dog Park), True Digital Park รวมถึงคาเฟและร้านอาหารต่าง ๆ
ส่วนในต่างจังหวัด ก็เริ่มมีพื้นที่รองรับสัตว์เลี้ยงเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างเห็นได้ชัด
แล้วสถานที่ Pet Friendly ในไทย มีโอกาสเติบโตแค่ไหนในอนาคต ?
อย่างที่ทุกคนรู้กันดีว่า อัตราการเกิดของประชากรไทย ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา
จากปี 2555 ที่มีคนไทยเกิด 820,000 คนต่อปี
ล่าสุดปี 2564 ลดลงเหลือ 540,000 คนต่อปี
ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนของคนโสด ที่นับวันก็ดูจะมีแนวโน้มที่มากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลับมีส่วนช่วยส่งผลให้ตลาดสัตว์เลี้ยงและสถานที่ Pet Friendly ในไทย มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ในอนาคตอันใกล้
เพราะก็มีหลาย ๆ คน ที่เลือกจะให้ “สัตว์เลี้ยง” มาช่วยเติมเต็มช่องว่างของครอบครัวแทน
แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ตลาดนี้ เติบโตได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ก็เพราะ “ความรับผิดชอบ” ของเจ้าของสัตว์เลี้ยง
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
ปัญหาหลัก ๆ ที่คนรักสัตว์มักเจอ เวลาพาสัตว์เลี้ยงไปสถานที่ Pet Friendly
แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ
1)การควบคุมสัตว์เลี้ยง ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าของ
ไม่ว่าจะเป็นสุนัขขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก ก็สามารถทำร้ายหรือคุกคามสุนัขที่ขนาดต่างกันได้ หากไม่ได้รับการดูแลที่ดีมากพอ เช่น
-กรณีสุนัขใหญ่คุกคามสุนัขเล็ก
ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่ บางครั้งสุนัขก็สนุกจนหลงระเริง และอาจทำให้สุนัขเล็กเกิดการบาดเจ็บทางร่างกาย รวมถึงทางจิตใจได้ด้วยเช่นกัน
-กรณีสุนัขเล็กคุกคามสุนัขใหญ่
ถึงแม้จะเป็นสุนัขขนาดเล็กก็สามารถคุกคามสุนัขใหญ่ได้ เพราะบ่อยครั้ง สุนัขเล็กเองเป็นฝ่ายเห่าและทำร้ายสุนัขใหญ่ก่อน แต่ด้วยขนาดตัวที่เล็ก จึงมักถูกมองข้ามว่าเป็นฝ่ายเริ่มก่อน
ดังนั้น แนวทางแก้ไข เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข คือ
-ไม่ปล่อยสุนัขทันที ควรดูบรรยากาศรอบ ๆ ก่อน
เพื่อตรวจสอบความเข้ากันได้ระหว่างสุนัขของเราและสุนัขตัวอื่นในบริเวณนั้น ๆ ควรให้สุนัขได้ดมกลิ่นซึ่งกันและกันก่อน ถ้าดูแล้วปลอดภัย ค่อยถอดสายจูงให้สุนัขได้วิ่งปลดปล่อยได้อย่างเต็มที่
-สังเกตท่าทีของเจ้าของสุนัข
เจ้าของสุนัขจะมีหลายแบบด้วยกัน ทั้งเจ้าของที่ไม่ค่อยดูแลหรือควบคุมสุนัขของตัวเอง และเจ้าของที่ดูแลใกล้ชิดตลอดเวลา หากเป็นกรณีแรก สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด ก็คือควบคุมสุนัขของตัวเองให้อยู่ในพื้นที่ที่คิดว่าปลอดภัย ซึ่งจะเป็นการป้องกันการถูกคุกคามโดยสุนัขตัวอื่น
2)วินัยของเจ้าของ ในการเก็บอุจจาระ หลังจากสุนัขขับถ่าย
การเก็บอุจจาระสุนัข อาจดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็สร้างปัญหาให้กับหลาย ๆ สถานที่มาแล้ว จากการไม่ปฏิบัติตามกฎ โดยอาจทำให้เจ้าของสถานที่ ตัดสินใจที่จะยกเลิกการรองรับสัตว์เลี้ยงได้ ซึ่งในปัจจุบันก็เกิดขึ้นจริงแล้วกับบางสถานที่ โดยเฉพาะโรงแรม
ในจุดนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พื้นที่ Pet Friendly ไม่ได้สร้างมาเพื่อสัตว์เลี้ยง 100% แต่เป็นการ “แบ่งปันพื้นที่” ให้คนรักสัตว์เลี้ยงและบุคคลทั่วไป ใช้ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
ดังนั้น การควบคุมดูแลสัตว์เลี้ยงของเรา ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น หรือการ “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา” จึงเป็นนิสัยพื้นฐาน ที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรปฏิบัติตามให้ได้
ปัญหาทั้ง 2 เรื่องนี้อาจดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่ก็เป็นหลักปฏิบัติพื้นฐาน ที่คนรักสัตว์เลี้ยงควรทำความเข้าใจ และทำให้เป็นเรื่องปกติ
เพราะต่อให้ตลาดสัตว์เลี้ยง หรือสถานที่ Pet Friendly เติบโตมากแค่ไหน
แต่ถ้าทาสอย่างเราไม่มีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตัวเอง หลายพื้นที่ก็คงไม่อยากต้อนรับสัตว์เลี้ยงที่น่ารักของเราเช่นกัน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.