Thrive Market ร้านขายของชำออนไลน์ ที่ Will Smith เป็นผู้ร่วมลงทุน
Business

Thrive Market ร้านขายของชำออนไลน์ ที่ Will Smith เป็นผู้ร่วมลงทุน

21 เม.ย. 2022
Thrive Market ร้านขายของชำออนไลน์ ที่ Will Smith เป็นผู้ร่วมลงทุน /โดย ลงทุนเกิร์ล
ปัจจุบันคนยุคใหม่เริ่มไม่ออกไปจ่ายตลาดเองแล้ว เนื่องจากไม่มีเวลา รวมถึงมีบริการดิลิเวอรีมากมาย ที่ช่วยคัดสรรสินค้าดี ๆ มีคุณภาพมาส่งตรงถึงหน้าบ้าน
ซึ่งในประเทศไทยก็มีหลายแบรนด์ที่หันมารุกตลาดร้านขายของชำออนไลน์นี้ด้วย
ทั้งในฝั่งที่เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแบบดั้งเดิม เช่น Tesco, Gourmet Market และ Tops
หรือในฝั่งของบริการดิลิเวอรี ก็กระโดดเข้ามาร่วมวงด้วย เช่น Grab และ LINE MAN
อย่างไรก็ตาม บริการจัดซื้อ-ส่งสินค้าเหล่านี้ ก็มีบริการที่คล้าย ๆ กันหมด
ดังนั้น ลงทุนเกิร์ลจึงขอนำเสนอ Thrive Market บริการจัดซื้อ-ส่งสินค้าของชำทางออนไลน์ จากสหรัฐอเมริกา ที่กำลังกลายมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว ของ Whole Foods เครือซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ ที่จับกลุ่มคนรักสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันถูกซื้อไปโดย Amazon
Thrive Market แตกต่างจากบริการจัดซื้อ-ส่งสินค้าอื่น ๆ อย่างไร ?
และทำอย่างไรถึงขึ้นมาเป็นผู้นำอันดับต้น ๆ ของตลาดนี้ได้ ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ในสหรัฐอเมริกามีบริการจัดซื้อ-ส่งสินค้าของชำ นำหน้าประเทศไทยมาเกือบ 10 ปี แต่สำหรับสินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้าออร์แกนิก กลับเพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นานนัก
จริง ๆ แล้วสินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้าออร์แกนิก มักหาซื้อได้ยาก โดยจะขายตามร้านค้าที่ขายสินค้าประเภทนี้โดยเฉพาะ
ซึ่งการที่หลายคนคิดว่า Thrive Market กำลังเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของ Whole Foods นั้น เพราะว่าทั้งคู่มีบริการที่คล้าย ๆ กัน นั่นก็คือ “บริการสั่งซื้อทางออนไลน์ และจัดส่งสินค้าคุณภาพถึงหน้าประตูบ้าน”
แต่ความพิเศษของ Thrive Market ก็คือ ลูกค้าสามารถซื้อสินค้าประเภทออร์แกนิก, เพื่อสุขภาพ และไม่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรม ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด
โดยใช้รูปแบบโมเดล Subscription หรือการสมัครสมาชิก เพื่อเข้าถึงความคุ้มค่า ด้วยราคาเริ่มต้น 340 บาทต่อเดือน และประมาณ 2,000 บาทสำหรับรายปี
ซึ่งในปี 2021 เมื่อ Thrive Market เดินทางมาถึงปีที่ 8 มีสมาชิกมากถึง 1.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าตัว จากปีก่อน
ทำให้ล่าสุดในปี 2022 Thrive Market จึงได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน “The Most Influential Company” หรือบริษัททรงอิทธิพลที่สุด ในหมวดหมู่ของ “บริษัทขนส่งอาหารเพื่อสุขภาพ” จากนิตยสาร Time
ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ก็คือ คุณ Nick Green ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง CEO และผู้ร่วมก่อตั้งอีก 3 คน นั่นก็คือคุณ Gunnar Lovelace, คุณ Sasha Siddhartha และคุณ Kate Mulling
โดยจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ ต้องย้อนกลับไปในปี 2014 ที่ขณะนั้นสินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้าออร์แกนิก ค่อนข้างหาซื้อได้ยาก ทำให้คนในบางพื้นที่ต้องเดินทางไปไกล ๆ เพื่อซื้อสินค้าเท่านั้น
ดังนั้นไอเดียของ Thrive Market จึงเกิดจาก Pain Point ในการซื้อสินค้าออร์แกนิกที่ยากลำบาก
ซึ่งเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น โมเดลธุรกิจของ Thrive Market ก็สามารถเตะตานักลงทุนหลาย ๆ ราย เช่น Greycroft Partners, E-Ventures, Cross Culture Ventures, Invus รวมถึงคนดังอย่างคุณ John Legend, คุณ Demi Moore และคุณ Will Smith จนสามารถระดมทุนได้ถึง 4,800 ล้านบาท
แล้ว Thrive Market มีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจอย่างไร ?
อันดับแรกคือ มีสินค้าให้เลือก “หลากหลาย”
ปัจจุบัน Thrive Market มีสินค้ามากกว่า 6,000 รายการ ในกว่า 100 หมวดหมู่ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ ซึ่งมีตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภค, ความงาม ไปจนถึงสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง จากแบรนด์ดัง ๆ ในตลาด เช่น Burt's Bees, Acure, Annie's และ Bragg
นอกจากสินค้าแบรนด์ดังแล้ว บริษัทยังสนับสนุนสินค้าเพื่อสุขภาพในท้องถิ่นหรือชุมชน
รวมถึงทางบริษัทเองก็มีการผลิตสินค้าแบรนด์ของตัวเองด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน เพราะในปี 2021 เฉพาะแค่สินค้าเหล่านี้ ก็สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 3,400 ล้านบาทเลยทีเดียว
ทำให้ Thrive Market คือแหล่งรวมสินค้าเพื่อสุขภาพ คุณภาพดี ที่หาซื้อได้ยาก
แต่สิ่งที่พิเศษไปกว่านั้น ก็คือ สินค้าเหล่านี้ยังมาในราคาที่ถูกกว่าเจ้าอื่น ๆ
ดังนั้นจุดเด่นต่อมา จึงเป็น “ความคุ้มค่า”
โดย Thrive Market มักจะมอบสิทธิประโยชน์ที่เหนือชั้นให้กับลูกค้าเสมอ ๆ เช่น ส่วนลด, ของสมนาคุณ และสินค้าทดลองให้กับลูกค้าทุก ๆ การสั่งซื้อ
นอกจากนั้น สินค้าที่ Thrive Market บางรายการยังมีราคาถูกกว่าเจ้าอื่น ๆ ประมาณ 20-50% เลยทีเดียว
เรียกได้ว่า ลูกค้ายอมจ่ายค่าสมาชิกให้กับ Thrive Market เพื่อแลกกับความคุ้มค่าเหล่านี้
และที่สำคัญ หากเราประหยัดได้ไม่ถึงยอดค่าสมาชิก ทางบริษัทก็จะให้ “เครดิตเงินคืน” สำหรับซื้อสินค้าในแอปพลิเคชัน หลังจากที่เราต่ออายุสมาชิกเรียบร้อย
อย่างสุดท้ายคือ “ใส่ใจสังคม” และ “สิ่งแวดล้อม”
แม้ว่าเป้าหมายแรกของบริษัท คือการนำเสนอสินค้าเพื่อสุขภาพให้กับทุกคนในพื้นที่อย่างทั่วถึงก็ตาม แต่จากปัจจุบัน “ความยั่งยืน” ก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่บริษัทให้ความสนใจ
อย่างที่รู้กันดีว่า ยิ่งองค์กรใหญ่เท่าไร ก็ย่อมสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นเท่านั้น
แต่สำหรับ Thrive Market แล้ว การเติบโตและการรับผิดชอบต่อสังคม จะต้องเป็นสิ่งที่ควบคู่กันไป
ซึ่งทุกแบรนด์ที่วางขายใน Thrive Market จะต้องมีแหล่งการผลิตที่ถูกจรรยาบรรณ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และยั่งยืน
นอกจากนั้นกระบวนการขนส่งอาหารแช่แข็ง หรือสินค้าต่าง ๆ จะถูกส่งด้วยแพ็กเกจจิงรีไซเคิลทั้งหมด เพื่อลดปริมาณขยะที่ไม่จำเป็น
และล่าสุดในปี 2020 บริษัท Thrive Market ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งใน “B Corporation” องค์กรที่รับรองมาตรฐานความโปร่งใส ในการดำเนินงานทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งถือว่า Thrive Market เป็นร้านขายของชำที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ที่ได้รับมาตรฐานการรับรองนี้
นอกจากนั้น การที่เราเป็นสมาชิกของ Thrive Market ยังถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน บุคคลที่มีรายได้น้อยอีกด้วย
เนื่องจาก Thrive Market จะนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการสมัครสมาชิก ไปเป็นค่าใช้จ่ายในการสมัครสมาชิกให้กับครอบครัวที่มีรายได้น้อย, นักเรียน, คุณครู และทหารผ่านศึก
รวมถึงในช่วงวิกฤติโรคระบาด Thrive Market ยังมอบสินค้าและฟรีค่าสมาชิก ให้กับคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติในครั้งนี้อีกด้วย โดยมียอดบริจาคไปแล้วถึง 3.4 ล้านบาท
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงมองเห็นแล้วว่า ทำไม Thrive Market ถึงเป็นหนึ่งโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เพราะนอกจากแบรนด์จะมุ่งพัฒนาสินค้าและบริการ จนเทียบเคียงกับแบรนด์หลักในตลาดแล้ว ยังสามารถสร้างจุดยืนที่แตกต่างได้อีกด้วย
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.