“ฮนจก” เพราะสังคมยุคนี้มันโหดร้าย อยู่เป็นโสดคนเดียว ยังดีกว่า
Business

“ฮนจก” เพราะสังคมยุคนี้มันโหดร้าย อยู่เป็นโสดคนเดียว ยังดีกว่า

10 ก.ค. 2022
“ฮนจก” เพราะสังคมยุคนี้มันโหดร้าย อยู่เป็นโสดคนเดียว ยังดีกว่า /โดย ลงทุนเกิร์ล
เกาหลีใต้ ประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่อหัว เพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก
และยังเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อันดับ 10 ของโลก
แต่ในขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ กลับเป็นประเทศที่มี อัตราการตั้งครรภ์ ต่ำที่สุดในโลก
ซึ่งส่วนหนึ่ง ก็มีที่มาจากแนวคิด “ฮนจก” ที่ทำให้ชาวเกาหลีใต้อยากอยู่คนเดียว
แล้วแนวคิด “ฮนจก” คืออะไร ?
และฮนจก ทำให้เกิด โมเดลธุรกิจแบบใหม่อย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
รู้หรือไม่ว่า เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลเกาหลีใต้ ได้ใช้งบกว่า 1.3 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาอัตราการเกิดต่ำภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นวิกฤติระดับชาติของเกาหลีใต้
คำถามคือ อะไรทำให้ผู้หญิงในเกาหลีใต้ ไม่อยากมีลูก และยังครองโสด ?
คำตอบ ก็เพราะ “ต้นทุนการเลี้ยงลูก”
โดยเฉพาะต้นทุนด้านการศึกษา และค่าบ้านในเกาหลีใต้ที่ถือว่าสูงมาก
พวกเธอจึงค่อนข้างกังวลถึงคุณภาพชีวิตของลูกที่จะเกิดมา หากว่าต้นทุนทางการเงินยังไม่เป็นใจนัก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยทางด้านสังคมอื่น ๆ ที่สร้างความกดดันอย่างหนักให้กับผู้หญิงในเกาหลีใต้ เช่น
-แนวคิดที่ว่า “ผู้หญิงต้องเป็นแม่บ้าน”
ซึ่งแนวคิดนี้ ฝังรากลึกเกินแก้ จนเกิดเป็นขบวนการ #NoMarriage หรือ “ฉันจะไม่แต่งงาน” ขึ้นมา เพื่อต่อต้านวัฒนธรรมเดิม ๆ ที่บอกว่าเมื่อแต่งงานแล้ว พวกเธอควรออกจากงานมาเป็นแม่บ้าน และทำหน้าที่ดูแลงานทุกอย่างในบ้าน
-แนวคิดนิยมคนหน้าตาดี
เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในเกาหลีใต้ จะให้ค่ากับความสวยในผู้หญิงสูงมาก จนพวกเธอรู้สึกว่าตนเองนั้นเป็นวัตถุในสายตาของผู้ชาย และรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะการเป็นผู้ชายนั้น กลับได้เปรียบในการเลือกคู่ครองมากกว่า
โดยเรื่องนี้เคยมีผลการสำรวจจาก Gallup Korea ที่เผยว่า 1 ใน 3 ของผู้หญิงวัย 19-29 ปี ยอมรับว่าเคยผ่านมีดหมอมาก่อน
-แนวคิด “ความฝันของชาวเกาหลีใต้”
ทำให้ผู้คน ต้องแบกรับแรงกดดันจากสังคม ว่าควรจะเรียนอะไร และทำงานบริษัทไหนถึงจะได้รับการยอมรับมากที่สุด
ซึ่งก็คล้าย ๆ กับในประเทศไทย ที่คนบางกลุ่มก็อยากให้เป็นหมอ รับราชการ หรือเป็นพนักงานของบริษัทระดับท็อปของประเทศ แต่ในเกาหลีใต้นั้นถือว่ารุนแรงกว่ามาก
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความเชื่อที่ขัดกับแนวคิด และความเป็นไปของสังคมยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นตัวของตัวเองมากกว่า
และสาเหตุทั้งหมดนี้เอง ที่เป็นดั่งกองฟืนสุมไฟแห่งความสิ้นหวังของหนุ่มสาวชาวเกาหลีใต้
จนทำให้ในปี 2017 มีแนวคิดที่เรียกว่า “Honjok” (อ่านว่า ฮนจก) ถือกำเนิดขึ้น
ซึ่งหมายถึง การต่อต้านวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลีใต้ ด้วยการอยู่คนเดียว
โดยความหมายของ “ฮนจก” มาจาก 2 คำรวมกัน
คำว่า “ฮน” ย่อมาจาก ฮนจา แปลว่า เพียงคนเดียว
ส่วนคำว่า “จก” แปลว่า เผ่า
แปลรวมกัน จึงหมายความว่า “เผ่าหนึ่งคน” ที่หมายถึงการอยู่ได้โดยลำพัง ทำกิจกรรมต่าง ๆ คนเดียว กินข้าวคนเดียว และมีความสุขได้ด้วยตัวคนเดียว
ทั้งหมดก็เพื่อหลีกหนีความกดดันจากค่านิยมของสังคม และวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของสังคม เพื่อให้พวกเขาได้มีอิสระ และสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะต้องแลกกับการอยู่คนเดียวก็ตาม
แล้วถ้าถามว่า กลุ่มฮนจกนี้ใหญ่แค่ไหน ?
ในปี 2020 มีข้อมูลจาก Statista เผยว่า ในเกาหลีใต้ มีค่าเฉลี่ย Single-Person Household หรือคนที่อาศัยอยู่คนเดียว อยู่ที่ 30.4% ของประชากรทั้งหมด
แน่นอนว่าด้วยสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกตอนนี้ ที่กำลังเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ ของแพง และแขวนอยู่บนความไม่แน่นอน ยิ่งซ้ำเติมให้แนวคิดการใช้ชีวิตแบบฮนจก มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ซึ่งนอกจากแนวคิดการใช้ชีวิตแบบฮนจก จะนำมาซึ่งปัญหาทางด้านโครงสร้างของประชากร จนทำให้รัฐบาลต้องพยายามเร่งแก้ไขปัญหาแล้ว
การเลือกใช้ชีวิตคนเดียว ก็ยังก่อให้เกิด “โมเดลธุรกิจสำหรับผู้ที่มาคนเดียว”
อย่างเช่น ร้านอาหารในคอนเซปต์ Honbap (อ่านว่า ฮน-บับ) ที่หมายถึงการนั่งทานข้าวคนเดียว
ซึ่งฮนบับ น่าจะเป็นอีกหนึ่งต้นกำเนิดของโมเดล Solo Dining ที่มีทั้งในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
และนอกจากการกินข้าวคนเดียว บางคนก็ยังเลือกที่จะดื่มคนเดียว หรือร้องคาราโอเกะคนเดียวด้วย
อีกหนึ่งธุรกิจคือ ธุรกิจโรงแรมที่ปล่อยแพ็กเกจ Staycation สำหรับผู้ที่มาเที่ยวพักผ่อนคนเดียว ภายใต้คอนเซปต์ “Me-time” หรือเวลาของฉัน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มาคนเดียว
ซึ่งในอนาคต ก็น่าจะมีธุรกิจที่ออกมาตอบรับลูกค้าที่อยู่คนเดียวมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
อย่างไรก็ดี วิถีชีวิตแบบฮนจก นอกจากประเทศเกาหลีใต้แล้ว ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกก็ยังมีแนวโน้มการอยู่คนเดียวคล้าย ๆ กัน
อย่างประเทศญี่ปุ่น จะมีปรัชญาการใช้ชีวิตแบบ “โอฮิโตริซามะ” (Ohitorisama) ที่ก็หมายถึงการออกไปทำกิจกรรมคนเดียว เพื่อชาร์จแบตให้กับร่างกาย และเป็นเหมือนการปลดปล่อยความเครียดไปในตัว
หรืออีกตัวอย่าง คือเทรนด์การ “แต่งงานกับตัวเอง” หรือที่เรียกว่า Self-marriage ที่กำลังเป็นกระแสในประเทศญี่ปุ่น
และสำหรับผู้ชาย ก็มีเทรนด์การแต่งงานกับปัญญาประดิษฐ์
ส่วนในประเทศจีน ก็มีผู้หญิงเลือกที่จะไม่แต่งงานมากขึ้นเรื่อย ๆ
จากเรื่องนี้ ทั้งวิถีชีวิตแบบฮนจก, โอฮิโตริซามะ หรือการแต่งงานกับตัวเอง ล้วนมีสาเหตุมาจากสภาพสังคม ที่ทำให้ทั้งหญิงและชาย เลือกที่จะอยู่คนเดียว มากกว่าที่จะมีคนข้างกายที่ไม่ได้เติมเต็มจิตวิญญาณมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง
ซึ่งแท้จริงแล้ว การเร่งแก้ปัญหาให้คนมีลูก อาจเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
โดยสิ่งที่ควรเร่งให้ความสำคัญจริง ๆ อาจเป็นเรื่อง คุณภาพชีวิตของคนที่มีชีวิตอยู่ในตอนนี้
เพราะเมื่อคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว
ก็คงจะวางใจ ที่จะให้กำเนิดอีกชีวิตหนึ่งขึ้นมา
เพื่ออาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีเช่นกัน..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.