กรณีศึกษา การทำให้แพ็กเกจจิง เป็นแผ่นพับโฆษณาของแบรนด์
Business

กรณีศึกษา การทำให้แพ็กเกจจิง เป็นแผ่นพับโฆษณาของแบรนด์

26 ก.ค. 2022
กรณีศึกษา การทำให้แพ็กเกจจิง เป็นแผ่นพับโฆษณาของแบรนด์ /โดย ลงทุนเกิร์ล
“Don’t judge a book by its cover” หรือ “อย่าตัดสินหนังสือจากปก”
แม้เราจะเคยได้ยินประโยคนี้กันมาบ้าง
แต่หลายครั้ง เราก็เลือกหยิบหนังสือที่ปกสวยอยู่ดี
นอกเสียจากว่า จะเป็นหนังสือของนักเขียนคนโปรด
ซึ่งหากนำเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกับโลกธุรกิจ
“ปกหนังสือ” ก็คงเหมือนกับแพ็กเกจจิง ที่ดึงดูดให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้า
ส่วน “นักเขียน” ก็เปรียบเสมือนแบรนด์ที่ลูกค้าเชื่อถือ
แน่นอนว่ากว่าจะไปถึงขั้นที่ลูกค้าเห็น “ชื่อนักเขียน” แล้วซื้อเลย
ก็จะต้องผ่านการตัดสินจาก “ปก” ก่อน เป็นส่วนใหญ่
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
รู้หรือไม่ว่า 72% ของประชากรชาวอเมริกันมองว่า แพ็กเกจจิงมีส่วนช่วยในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ไม่ว่าจะในด้านของดีไซน์ รูปร่าง สี สัมผัส ล้วนมีส่วนช่วยทำให้ลูกค้าเลือกจับสินค้าของเราเป็นอย่างแรก
เมื่อ “แพ็กเกจจิง” เป็นสิ่งที่เด่นชัดที่สุด ในสายตาของลูกค้า
เราจึงน่าจะเห็นหลาย ๆ แบรนด์ เลือกใช้แพ็กเกจจิง เป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารกับลูกค้าของตน
อย่างกรณีของ Kiehl's แบรนด์สกินแคร์อายุกว่าร้อยปี ที่เลือกใช้แพ็กเกจจิงที่มีตัวหนังสือเขียนบอกรายละเอียด ทั้งส่วนผสม สรรพคุณ และคำเตือนต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถรับรู้ข้อมูลจากบนฉลากได้ทันที ตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะออกกฎหมายให้ทุกบริษัทต้องระบุส่วนผสมเสียอีก
หรือสินค้าบางตัว ก็เลือกใช้แพ็กเกจจิงแบบใส เพื่อให้ลูกค้าสามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายในได้ เช่น โทนเนอร์ดอกคาเลนดูล่า ที่มีการบรรจุกลีบดอกคาเลนดูล่า ส่วนหนึ่งก็เพื่อแสดงถึงความอ่อนโยน ที่กลีบดอกไม้ สามารถแช่อยู่ในผลิตภัณฑ์ได้
ในขณะเดียวกัน แพ็กเกจจิง ยังอาจถูกใช้เพื่อแจ้งข่าวสารของแบรนด์
ไม่ว่าจะเป็นการระบุถึงสินค้าใหม่ สินค้าขายดี หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนสูตร
โดยในปี 1942 แพ็กเกจจิงของ KitKat ถูกเปลี่ยนจากสีแดง ให้กลายเป็น “สีน้ำเงิน” เนื่องจากในขณะนั้น บริษัทกำลังประสบปัญหาขาดแคลนนมสด ทำให้มีการปรับเปลี่ยนสูตรขนม รวมถึงใส่ข้อความบอกลูกค้าบนแพ็กเกจจิงว่า สินค้ามีอะไรที่เปลี่ยนไป
การที่ KitKat ตัดสินใจทำแบบนี้ ก็เพื่อป้องกันความสับสน และไม่ให้กระทบกับภาพลักษณ์ของแบรนด์ และเมื่อสถานการณ์กลับมาสู่ปกติ แบรนด์จึงเปลี่ยนกลับมาใช้แพ็กเกจจิงสีแดงเหมือนเดิม
นอกจากนั้น แพ็กเกจจิง ยังเป็นสิ่งที่ใช้แสดงตัวตนหรือจุดยืนของแบรนด์ได้เป็นอย่างดี
เริ่มจาก แพ็กเกจจิงของ Apple ที่จะเน้นสีขาว แสดงออกถึงความมินิมัล ซึ่งก็เหมาะกับจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ ที่จะมีความโดดเด่นในเรื่องของดีไซน์ และความง่ายในการใช้งาน
แบรนด์ Samsung ที่ต้องการแสดงออกถึงการให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยแพ็กเกจจิงที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น ในปี 2020 ที่ออกแบบกล่องใส่โทรทัศน์ ให้สามารถนำมาพับหรือดัด จนกลายเป็นบ้านสำหรับสัตว์เลี้ยงหรือชั้นวางของได้
หรือในบางครั้ง แพ็กเกจจิงของสินค้า อาจหมายถึง การไม่มีแพ็กเกจจิงเลยก็ได้
อย่าง LUSH แบรนด์สกินแคร์ ที่พยายามจะโปรโมตเรื่องการลดปริมาณแพ็กเกจจิง เพื่อลดขยะที่เกิดขึ้น รวมถึงบอกว่าจะนำค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ มาพัฒนากับตัวสินค้าแทน
ซึ่งสินค้าประมาณ 40% ของ LUSH ก็จะเป็น สินค้าที่ไม่มีแพ็กเกจจิง เช่น บาทบอมบ์ หรือแชมพูบาร์
หรือถ้าหากยังจำเป็นต้องมีบรรจุภัณฑ์อยู่ ก็จะมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ จากวัสดุรีไซเคิล ที่สามารถนำไปใช้ซ้ำ รีไซเคิล หรือย่อยสลายได้
อ่านมาถึงตรงนี้ ก็คงสรุปได้ว่า
เมื่อเราไม่สามารถ ห้ามไม่ให้ลูกค้าตัดสินสินค้าจาก “ปก” ได้
เราในฐานะแบรนด์ ก็อาจต้องหันมาใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้
ลองพัฒนา “ปก” ให้เป็นเหมือน “แผ่นพับโฆษณา” ของแบรนด์
ทำให้เพียงแค่ลูกค้าเหลือบตาไปเห็นสินค้าของเรา ก็สามารถเข้าใจได้
ว่าเราคือใคร และจะตอบโจทย์อะไรให้กับพวกเขาได้บ้าง..
-----------------------------------------
Sponsored by JCB
JCB แฮปปี้ทุกไลฟ์สไตล์ มากกว่าส่วนลดและสิทธิประโยชน์แต่เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ ในการใช้บัตรเครดิต JCB อย่างคุ้มค่าตลอดทั้งปี รวบรวมทั้งร้านอาหารชั้นนำ ปั๊มน้ำมัน ซูเปอร์มาเก็ต แพลตฟอร์มการสั่งอาหาร ส่วนลดการจองที่พัก ร้านค้าชั้นนำอีกมากมายทั้งหน้าร้านและแพลตฟอร์มออนไลน์อีกกว่า 100 ร้านค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ติดตามได้ที่ www.facebook.com/JCBCardThailandTH และ LINE Official Account : @JCBThailand (https://bit.ly/JCBTHLine)
#JCBใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา #JCBThailand #JCBOwnHappinessOwnStory
-----------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.