<อัปเดต> เจ้าของ Dior, Louis Vuitton และ Celine ยังขายดี แม้เผชิญกับวิกฤติเงินเฟ้อ
Business

<อัปเดต> เจ้าของ Dior, Louis Vuitton และ Celine ยังขายดี แม้เผชิญกับวิกฤติเงินเฟ้อ

28 ก.ค. 2022
<อัปเดต> เจ้าของ Dior, Louis Vuitton และ Celine ยังขายดี แม้เผชิญกับวิกฤติเงินเฟ้อ
รู้หรือไม่ว่า ในครึ่งปีแรกนี้ ราคาหุ้นของ LVMH ลดลงไปแล้วถึง 14%
เนื่องจากความกังวล เรื่องปัญหาเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ และรุนแรงมากขึ้น
รวมถึงการล็อกดาวน์บ่อยครั้งในประเทศจีน ที่เป็นตลาดสำคัญของ LVMH
ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงมีความกังวลว่า แม้กระทั่งบริษัทที่ขายสินค้าให้พวกคนรวยอย่าง LVMH ก็ไม่น่าจะรอดพ้น และได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ ในครึ่งปีแรก เช่นกัน
ซึ่งล่าสุด บริษัท LVMH ก็ได้ออกมาประกาศ ผลประกอบการของบริษัท ในครึ่งปีแรก เป็นที่เรียบร้อย..
แล้วสิ่งที่นักลงทุนกังวล จะเป็นจริงหรือไม่ ?
และผลประกอบการของบริษัทจะเป็นอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะสรุปให้ฟัง..
LVMH เป็นบริษัทเจ้าของพอร์ตแบรนด์หรู ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
และมีพื้นฐานที่แข็งแกร่งมาก เนื่องจากถือครองกิจการอยู่หลากหลายประเภท ได้แก่
กลุ่มแฟชั่นและเครื่องหนัง เช่น Louis Vuitton, Celine และ Dior
กลุ่มน้ำหอมและเครื่องสำอาง เช่น Parfums Christian Dior และ Maison Francis Kurkdjian
กลุ่มนาฬิกาและเครื่องประดับ เช่น TAG Heuer และ Tiffany & Co.
กลุ่มไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น Hennessy และ Moët & Chandon
กลุ่มร้านขายปลีกและธุรกิจอื่น ๆ เช่น Sephora และ Le Bon Marché
โดยผลประกอบการของบริษัท LVMH ครึ่งปีแรก ปี 2022
รายได้ 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 28%
กำไร 2.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23%
ทีนี้ ถ้ามาดูผลประกอบการ แยกตามโครงสร้างรายได้ จะพบว่า
กลุ่มแฟชั่นและเครื่องหนัง เพิ่มขึ้น 24%
กลุ่มน้ำหอมและเครื่องสำอาง เพิ่มขึ้น 13%
กลุ่มนาฬิกาและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้น 16%
กลุ่มไวน์และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 14%
กลุ่มร้านขายปลีกและธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มขึ้น 22%
อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือ ยอดขายจากยุโรป เติบโตขึ้น 47%
ญี่ปุ่น เติบโตขึ้น 33%
และสหรัฐอเมริกา เติบโตขึ้น 24%
แต่สำหรับ ตลาดหลักของบริษัท อย่างใน “เอเชีย” (ไม่รวมญี่ปุ่น) กลับเติบโตเพียงแค่ 1% เท่านั้น
ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้ยอดขายโดยรวมของบริษัทเติบโตขึ้น แม้ว่ายอดขายในเอเชียจะชะลอตัวลง
ก็เพราะความผันผวนของค่าเงินยูโรที่อ่อนค่า จนมีมูลค่าเทียบเท่ากับดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ได้กระตุ้นให้ชาวอเมริกัน ใช้จ่ายอย่างอิสระกับสินค้าแบรนด์หรู
แต่ส่วนที่ยังน่าเป็นห่วงอยู่ คือ ยอดขายใน “จีน” ที่ลดลงมากกว่า 10% ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดในประเทศจีน ช่วงไตรมาสที่ 2
เช่นเดียวกันกับ Richemont บริษัทเจ้าของแบรนด์หรูอย่าง Cartier และ Van Cleef & Arpels ที่รายงานว่าการล็อกดาวน์ของจีน ทำให้ยอดขายของ Richemont ในจีนลดลง 37% ในไตรมาสที่ 2
ขณะที่ Burberry Group ก็มียอดขายลดลง 35% ในไตรมาสเดียวกัน
อย่างไรก็ดี LVMH ก็มั่นใจว่า ตลาดสำคัญอย่างจีน จะกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง เมื่อมีมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์
แต่สำหรับประเด็นใหญ่อย่าง ภาวะเงินเฟ้อ ที่กำลังส่งผลกระทบอย่างหนักกับธุรกิจทั่วโลก อาจพูดได้ว่าไม่ใช่เรื่องน่ากังวลสำหรับ LVMH เท่าไรนัก
เนื่องจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นคนที่มีฐานะร่ำรวย ต่อให้สินค้าจะปรับราคาขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ พวกเขาก็ยังยินดีที่จะใช้จ่าย เพื่อแสดงฐานะทางสังคม โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่คนอื่นไม่มีกำลังทรัพย์เช่นนี้
และสิ่งนี้ก็ช่วยให้บริษัท สามารถรักษาความสามารถในการทำกำไร ไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม ในครึ่งปีแรกนี้ นั่นเอง..
คำเตือน: บทความนี้ไม่ได้ชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นนี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.