“Lifestyle Inflation” เงินเฟ้อที่ เรายิ่งรวย ยิ่งไม่มีเงินเก็บ
Economy

“Lifestyle Inflation” เงินเฟ้อที่ เรายิ่งรวย ยิ่งไม่มีเงินเก็บ

9 ส.ค. 2022
“Lifestyle Inflation” เงินเฟ้อที่ เรายิ่งรวย ยิ่งไม่มีเงินเก็บ /โดย ลงทุนเกิร์ล
หลายคนมักคิดว่า เมื่อมีรายได้มากขึ้น เราจะมีโอกาสเก็บเงินได้มากขึ้น
รู้ไหมว่า ยังมีคนจำนวนไม่น้อย ที่เมื่อมีรายได้มากขึ้น แต่กลับไม่สามารถเก็บเงินได้อย่างที่คิดไว้
เรื่องนี้อาจสามารถอธิบายได้ด้วยปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Lifestyle Inflation”
แล้วปรากฏการณ์ Lifestyle Inflation คืออะไร ?
ทำไมจึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้หลายคนเก็บเงินไม่ได้ ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ปกติแล้ว “ภาวะเงินเฟ้อ” จะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ว่าเราจะเป็นใคร
เราก็จะได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบ และราคาสินค้าที่แพงขึ้นไม่ต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทย
ในเดือนมิถุนายน ปี 2565 สูงขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า
นี่หมายความว่า ค่าครองชีพของคนไทย สูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน นั่นเอง
ซึ่งอัตราเงินเฟ้อแบบนี้ จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในวงกว้าง
ยิ่งเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และทรงตัวในระดับสูงนาน ก็ยิ่งทำให้ผู้คนจำนวนมาก เก็บเงินได้ยาก
เพราะภาระค่าครองชีพที่ปรับตัวสูง จากราคาสินค้าและบริการที่ปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีเงินเฟ้ออีกประเภทหนึ่ง ที่จะส่งผลกระทบต่อคนบางคนเท่านั้น
หรืออาจบอกได้ว่า เงินเฟ้อแบบนี้เกิดขึ้น “เฉพาะตัวของแต่ละบุคคล”
แถมในบางครั้ง มันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง ของราคาสินค้าและบริการในท้องตลาดทั่วไปเลย
อธิบายเป็นตัวอย่างง่าย ๆ เช่น
หากเรามีรายได้ เดือนละ 30,000 บาท และมีค่าใช้จ่าย แบ่งออกเป็น
-ค่าโทรศัพท์ เดือนละ 1,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เดือนละ 15,000 บาท
-ค่าเช่าห้อง เดือนละ 4,000 บาท
ดังนั้น เราจะเหลือเงินเก็บ เดือนละ 10,000 บาท หรือสามารถเก็บเงินได้ เดือนละ 33%
เมื่อเวลาผ่านไป หน้าที่การงานของเราเติบโตขึ้น เรามีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น เดือนละ 50,000 บาท
เราจึงเริ่มมองหาการอัปเกรดไลฟ์สไตล์ของเรา เช่น อยากเปลี่ยนแพ็กเกจค่าโทรศัพท์ อยากย้ายไปเช่าห้องที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม หรืออยากเริ่มผ่อนรถมาขับ ค่าใช้จ่ายของเราก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้น เช่น
-ค่าโทรศัพท์ เดือนละ 2,000 บาท
-ค่าใช้จ่ายส่วนตัว เดือนละ 25,000 บาท
-ค่าเช่าห้อง เดือนละ 10,000 บาท
-ค่าผ่อนรถ เดือนละ 8,000 บาท
จากกรณีนี้ เราอาจมองว่า ก็ยังทำให้เราเหลือเงินเก็บ เดือนละ 5,000 บาท
ในขณะที่ถ้ามองในแง่ของสัดส่วน จะเป็นการเก็บออมต่อรายได้ที่ลดลง จากเดิม
เดือนละ 33% เหลือเพียงเดือนละ 10% แม้เงินเดือนของเราจะเพิ่มขึ้นมาก็ตาม
หากใครกำลังเป็นแบบนี้ หมายความว่า เรากำลังเจอกับปรากฏการณ์ “Lifestyle Inflation”
หรือก็คือ การที่ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของเรานั้น มีมากกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
คำถามที่น่าสนใจต่อมาก็คือ แล้วทำไมเราถึงต้องใช้จ่ายมากขึ้น เมื่อมีรายได้มากขึ้น ?
โดยทั่วไปแล้ว การที่เรามีรายได้มากขึ้น หลายครั้งเกิดมาจากการทุ่มเทในการทำงานหนัก จนประสบความสำเร็จเรื่องรายได้ และทำให้เรามักที่จะให้รางวัลแก่ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถคันใหม่ การไปเที่ยวต่างประเทศ หรือการซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่
แต่หากมันมากหรือบ่อยเกินไป ก็อาจส่งผลเสียต่อการเก็บออมเงินได้เช่นกัน
ทั้งนี้ปรากฏการณ์ Lifestyle Inflation เป็นเรื่องของความชอบในแต่ละบุคคล
บางคนอาจต้องการซื้อความสะดวกสบายให้แก่ตนเอง เมื่อมีรายได้มากขึ้น
ในขณะที่บางคนก็อยากได้สิ่งที่อยากได้มานานแล้ว
เมื่อมีรายได้มากขึ้น พวกเขาก็พร้อมที่จะจ่ายเงิน เพื่อเติมเต็มความต้องการก็เท่านั้น
แต่มันจะเป็นปัญหาทันที เมื่อเราเก็บเงินไม่ได้เลย ทั้ง ๆ ที่ควรจะเก็บได้ เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น
ซึ่งทางออกที่เหมาะสม อย่างเช่น
เราอาจกำหนดไปเลย ว่าเราจะใช้จ่ายในจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ไม่ว่ารายได้ของเราจะเป็นเท่าไร
อย่างเช่น ถ้าเรามีรายได้ เดือนละ 30,000 บาท
เราอาจจะกำหนดสัดส่วนรายจ่ายอยู่ที่ 70% หรือ 21,000 บาท และออม 30% หรือ 9,000 บาท
แล้วถ้าในอนาคต รายได้ของเราเพิ่มขึ้นเป็น เดือนละ 50,000 บาท
เราก็ควรที่จะคงสัดส่วนดังกล่าวให้เหมือนเดิม
ดังนั้น แม้ว่ารายจ่ายจะอยู่ที่ 70% เช่นเดิม แต่จำนวนเงินจริง ๆ จะขยับขึ้นมาเป็น 35,000 บาท
ส่วนเงินสำหรับออม 30% ก็จะอยู่ที่ 15,000 บาท
แบบนี้ก็ทำให้เรามีเงินเหลือเก็บมากขึ้น ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ซึ่งก็ต้องบอกว่านอกจาก การกำหนดสัดส่วนของรายจ่าย และการออมต่อรายได้แล้วนั้น
สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ จะอยู่ที่การเข้าใจ และสามารถแยกแยะให้ได้
ระหว่าง “สิ่งที่จำเป็น” กับ “สิ่งที่เราเพียงแค่ต้องการ”
ทั้งนี้ เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องคอยถามตัวเองว่า “ทำไมเราถึงเก็บเงินไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่มีรายได้มากขึ้น” นั่นเอง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.