รู้จัก Too Good To Go ธุรกิจที่เปลี่ยนขยะ เป็นอาหาร 53,000,000 มื้อในหนึ่งปี
Business

รู้จัก Too Good To Go ธุรกิจที่เปลี่ยนขยะ เป็นอาหาร 53,000,000 มื้อในหนึ่งปี

16 ส.ค. 2022
รู้จัก Too Good To Go ธุรกิจที่เปลี่ยนขยะ เป็นอาหาร 53,000,000 มื้อในหนึ่งปี /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า ในแต่ละปี มีอาหารทั่วโลก ที่ถูกทิ้งอย่างสูญเปล่าไปกว่า 1,300 ล้านตัน
ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เสียไป สูงถึง “36 ล้านล้านบาท”
หรือถ้าพูดให้เห็นภาพก็คือ เป็นมูลค่าที่มากกว่า GDP ประเทศไทย ถึง 2 เท่าตัว
แต่มีอยู่บริษัทหนึ่ง ที่เห็นโอกาสจากเรื่องนี้
และเปลี่ยนปัญหา ให้กลายเป็นธุรกิจ ที่ทำเงินมากกว่า 2,000 ล้านบาท
ซึ่งธุรกิจที่เรากำลังพูดถึงก็คือ Too Good To Go สตาร์ตอัป จากเดนมาร์ก ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน ด้านการกำจัดขยะอาหาร ที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกด้วย
แล้ว Too Good To Go ทำธุรกิจอะไร ?
และมีโมเดลรายได้อย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
จุดเริ่มต้นของ Too Good To Go เกิดขึ้นในปี 2016 ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
โดยบริษัทใช้เวลาเพียงแค่ 6 ปี
ก็สามารถทำให้ จำนวนบัญชีผู้ใช้งานบนแอป มีมากถึง 54 ล้านคน จากใน 17 ประเทศ
ซึ่งจะเน้นเจาะกลุ่มประเทศตะวันตกเป็นหลัก เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, สเปน, แคนาดา และสหรัฐอเมริกา
สำหรับโมเดลธุรกิจของ Too Good To Go ก็คือ การเป็น “ตัวกลาง” ให้ร้านค้ามาโพสต์ขาย “อาหารเหลือ” ในแต่ละวัน บนแอปของตน
แต่ต้องบอกว่า “อาหารเหลือ” ในที่นี้ คือ อาหารที่ยังสามารถบริโภคได้ แค่อาจจะใกล้ถึงวันหมดอายุ หรือเป็นอาหารที่จำเป็นจะต้องขายให้หมดภายในแต่ละวัน
โดยอาหารเหล่านั้น จะถูกคละลงไปในถุงที่เรียกว่า “Magic bag”
ซึ่งฟังดูคล้ายกับกลยุทธ์กล่องสุ่มที่เราคุ้นเคย
นั่นก็แปลว่า ลูกค้าจะไม่สามารถเห็นหรือเลือกสินค้าได้
ซึ่งต่างจากการสั่งอาหารดิลิเวอรีทั่วไป
แต่ Magic bag จะให้ความตื่นเต้น เมื่อเปิดถุงออกมา
เพราะนั่นอาจเป็นเมนูอาหารที่รสชาติดี
แต่ลูกค้าอาจไม่เคยสั่งมาก่อนก็ได้
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าก็สามารถเดากลาย ๆ ได้ว่า
ถ้าซื้อสินค้าจากร้านนี้ จะได้รับอาหารที่มีหน้าตา และรสชาติประมาณไหน
ซึ่งอีกหนึ่งความพิเศษคือ อาหารในถุงนี้จะมีส่วนลดพิเศษ
โดยมีราคาประมาณ 110-185 บาท จากราคาเต็มประมาณ 370-550 บาท
ซึ่งลดไปมากกว่า 50% เลยทีเดียว
ปกติแล้ว ราคาอาหารแบบนี้เราอาจจะเคยเห็น ในซูเปอร์มาร์เก็ตตอนใกล้ปิดร้าน ในช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่มเป็นต้นไป หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ “ราคานาทีทอง” นั่นเอง
โดยปัจจุบัน มีร้านค้าที่เข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ กับทาง Too Good To Go แล้วกว่า 163,000 ราย
ซึ่งไม่ได้มีแค่ธุรกิจร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังมีทั้งโรงแรม, ซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงร้านเบเกอรี
ที่น่าสนใจ คือ ในปี 2021 ที่ผ่านมานี้ มีอาหาร ที่ถูกขายผ่าน Too Good To Go ไปแล้วกว่า 53 ล้านมื้อ ซึ่งจำนวนนี้ เพียงพอที่จะเลี้ยงอาหาร 1 มื้อ ให้แก่ประชากรเกาหลีใต้ ได้ทั้งประเทศเลยทีเดียว
รวมถึงล่าสุด นิตยสาร Time ยังได้จัดอันดับให้ Too Good To Go ติดอยู่ใน 100 บริษัทที่ทรงอิทธิพลที่สุดอีกด้วย
โดยในปี 2021 บริษัทสามารถทำรายได้มากถึง 2,650 ล้านบาท
ซึ่งรายได้จะมาจาก 2 ทางหลัก ๆ
แบบแรก คือ ค่า GP (Gross Profit) หรือ ค่าคอมมิชชัน
ซึ่งเป็นโมเดลคล้าย ๆ กับแอปดิลิเวอรีทั่วไป ที่มีการหักค่า GP จากร้านค้า จากการขายสินค้าในแต่ละครั้ง
ส่วนแบบที่สอง คือ ค่าสมัครสมาชิก จากร้านค้าที่เป็นพาร์ตเนอร์
โดยค่าสมาชิกจะมีราคาอยู่ที่ปีละ 1,440 บาท
ซึ่งถือเป็นค่าธรรมเนียมในการจัดการต่าง ๆ
เรียกได้ว่า โมเดลธุรกิจนี้เป็นโมเดลแบบ “win-win-win” หรือ ทุก ๆ ฝ่ายได้รับประโยชน์ เนื่องจาก
-Too Good To Go ได้เงินจากค่าสมัครสมาชิก และค่า GP
-ร้านค้า ได้เงินจากการขายสินค้าที่เหลือ แทนการนำไปทิ้งอย่างเสียเปล่า ซึ่งบางครั้งก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดการทิ้งของเหล่านั้น นอกจากนี้ร้านค้าก็ได้สร้างการรับรู้แบรนด์ไปในตัวด้วยเช่นกัน
-ส่วนลูกค้า ก็ได้ซื้อสินค้าในราคาที่มีส่วนลด
นอกเหนือจาก การเป็นตัวกลาง สำหรับซื้อขายอาหารเหลือแล้ว
Too Good To Go ยังมีการให้ความรู้ และสนับสนุนให้ทุกคน ตระหนักถึงปัญหาของขยะอาหารอีกด้วย
โดยบนเว็บไซต์ของบริษัท จะมีบทความที่ให้ความรู้ เกี่ยวกับการนำวัตถุดิบเหลือใช้ ไม่ว่าจะเป็น ขอบขนมปัง, เปลือกผลไม้ ไปจนถึง การนำของเหลือในตู้เย็น มาประกอบอาหารในหลาย ๆ เมนู
นอกจากนี้ ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทาง Too Good To Go ยังจับมือกับเหล่าเชฟชื่อดัง เพื่อจัด “Fake fine-dining meal” มื้ออาหารหรู ที่ทำจากวัตถุดิบเหลือใช้ แต่ถูกจัดให้สวยงาม เหมือนกับจานอาหารในร้าน Fine-dining ดี ๆ
แต่อาหารมื้อนี้ กลับมีราคาอยู่ที่เพียง 120 บาทเท่านั้น
ซึ่งเรื่องนี้ ได้กลายเป็นไวรัลที่กระจายไปทั่วโลกออนไลน์ และตรงกับความตั้งใจของทาง Too Good To Go ที่ต้องการทำให้ผู้คน หันมาให้ความสนใจกับเรื่องขยะอาหารมากขึ้น
และต้องบอกว่า คอนเซปต์ของ Too Good To Go นั้น ไม่ได้ถูกอกถูกใจแค่เฉพาะกลุ่มผู้บริโภคเท่านั้น
แต่ยังรวมไปถึง “กลุ่มนักลงทุน” ที่เข้ามาร่วมลงทุนในบริษัท Too Good To Go จนในปัจจุบัน บริษัทสามารถระดมทุนไปได้ถึง 1,600 ล้านบาท
เรียกได้ว่า ในตอนนี้มีธุรกิจที่ใช้เรื่องขยะอาหาร เป็นโจทย์หลักในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคต
ตลาดของขยะอาหาร อาจจะเติบโตขึ้นจนมีขนาดที่ใหญ่ใกล้เคียงกับ อาหารก่อนเป็นขยะ ก็เป็นได้
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.