เรียนรู้ แนวคิดจาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดฝีมือคนไทย แต่ไปขายดี ในญี่ปุ่น
Business

เรียนรู้ แนวคิดจาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดฝีมือคนไทย แต่ไปขายดี ในญี่ปุ่น

17 ส.ค. 2022
เรียนรู้ แนวคิดจาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดฝีมือคนไทย แต่ไปขายดี ในญี่ปุ่น /โดย ลงทุนเกิร์ล
ZEQUENZ (ซีเควนซ์) แบรนด์สมุดไทย ขวัญใจลูกค้าชาวญี่ปุ่น
ที่มีเอกลักษณ์ตรงสันโค้งมน และกางได้ 360 องศา
ซึ่งนอกจาก กลุ่มลูกค้าในแดนอาทิตย์อุทัยแล้ว
แบรนด์ ZEQUENZ ก็ยังส่งสินค้า ไปขายในอีกกว่า 10 ประเทศ จนทำให้ลูกค้าชาวไทยหลายคน เข้าใจผิดว่า ZEQUENZ เป็นแบรนด์น้องใหม่จากต่างประเทศ ที่เพิ่งเข้ามาตีตลาดในประเทศไทย เมื่อไม่กี่ปีนี้
โดยวันนี้ลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสพูดคุยกับ 2 ทายาทสาว
คุณน้ำหวาน-ปาลีรัตน์ และคุณมะปราง-ณิชมน ดำรงค์กิจการ
ถึงเรื่องราว การสร้างฐานลูกค้าในต่างประเทศ และการกลับมาตีตลาดในประเทศไทย
แล้วเรื่องราวของแบรนด์ ZEQUENZ น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ZEQUENZ คือ แบรนด์สมุด ที่ต่อยอดมาจากธุรกิจโรงงานผลิตกระดาษ ทั้งกระดาษสา และการ์ดอวยพรตามเทศกาลต่าง ๆ หรือที่หลายคนเรียกกันว่า ส.ค.ส
แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป โรงงานก็ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนธุรกิจ มารับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ (OEM) และผลิตของขวัญสำหรับองค์กร (Corporate Gifts) ทั้งในไทยและต่างประเทศ
และแม้ว่าธุรกิจจะเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ผู้ก่อตั้งอย่างคุณนลิน ดำรงค์กิจการ หรือคุณแม่ของคุณน้ำหวานและคุณมะปราง กลับมองว่าการทำธุรกิจแบบ OEM ไปเรื่อย ๆ อาจไม่ยั่งยืน เพราะต้องคอยพึ่งพาบริษัทอื่น ๆ อยู่ตลอด
ดังนั้น คุณนลิน จึงได้ตัดสินใจสร้างแบรนด์ ZEQUENZ ของตัวเอง ขึ้นในปี พ.ศ. 2551
รวมถึง ยังมีการทดลองผลิตสมุดหลายต่อหลายแบบ จนมาลงตัวที่ “ความมินิมัล”
โดยเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของแบรนด์ ก็คือ “ดีไซน์ที่เรียบง่าย แต่มากไปด้วยรายละเอียด”
ที่สำคัญคือ สมุดของ ZEQUENZ เป็นสินค้าแฮนด์เมด หรือสินค้าทำมือ 100% ที่ถูกนำมาเข้าเล่มแบบแผ่นต่อแผ่น เพื่อความทนทาน และสามารถเปิดกางได้ 360 องศา ทำให้คนที่ไม่ว่าจะถนัดซ้ายหรือถนัดขวา ก็สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก
ทั้งนี้ การที่หลาย ๆ คนไม่รู้ว่า ZEQUENZ คือแบรนด์ไทย ก็เป็นความตั้งใจของผู้ก่อตั้ง ที่ต้องการให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าจาก “คุณภาพ” และ “ตัวตนของแบรนด์” มากกว่าการมองว่าสินค้า ผลิตมาจากแหล่งผลิตใด
นอกจากนี้ คุณน้ำหวานยังเล่าให้ฟังว่า คุณแม่นลินเป็นคนที่รักการเขียน และชอบจดทุกอย่างลงในสมุดอยู่เสมอ ดังนั้น สมุดของ ZEQUENZ จึงดีไซน์มาจากคนที่เข้าใจปัญหา เรื่องการเขียนอย่างแท้จริง
และแม้ว่าดีไซน์ของสมุดเหล่านี้ จะไม่ได้ถูกเปลี่ยนไปมากจากวันแรก แต่หนึ่งสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมาตลอด 14 ปี ก็คือ “คุณภาพสินค้า” ที่ถูกปรับเปลี่ยนให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด
ไม่ว่าจะเป็น คุณภาพกระดาษ และความหนาที่เพียงพอต่อการรองรับหมึกซึม, สีเส้นบรรทัดที่บางอ่อน เพื่อไม่ให้รบกวนสายตา ไปจนถึงการเพิ่มขนาด และเพิ่มสีปกสมุด มากถึง 33 เฉดสี ตามคำเรียกร้องของลูกค้า
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการผลิตสินค้า เพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพสูงสุด ย่อมตามมาด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น
เรื่องนี้จึงทำให้แบรนด์จำเป็นจะต้องวางขายสมุด ในราคาที่สูงกว่าเจ้าทั่ว ๆ ไปในตลาด
แต่หากใครได้ลองใช้สมุดของแบรนด์ ZEQUENZ ก็คงรับรู้ถึงความตั้งใจ และความพิถีพิถันในการผลิต ซึ่งนี่ก็เป็นแต้มต่อสำคัญ ที่ทำให้แบรนด์ได้ใจลูกค้าชาวญี่ปุ่น และอีกหลากหลายประเทศ
ส่วนสาเหตุที่หลาย ๆ คนเพิ่งจะเคยพบเห็นแบรนด์ ZEQUENZ ในประเทศไทย นั่นก็เป็นเพราะว่า ก่อนหน้านี้แบรนด์เน้นที่การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 70% เลยทีเดียว
โดยมีตลาดหลัก คือ ประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
รวมถึงส่งออกไปยัง ประเทศอินเดีย, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ฝรั่งเศส, ไซปรัส และกรีซ
แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว
ดังนั้น ทายาททั้งสองจึงได้ใช้โอกาสในช่วงเวลานี้ หันมาโฟกัสที่ตลาดในประเทศไทยมากขึ้น
แล้ว ZEQUENZ ทำอย่างไร ถึงสามารถชนะใจลูกค้าชาวไทยได้สำเร็จ ?
อันดับแรก “เพิ่มการรับรู้ต่อแบรนด์”
คุณมะปรางมองว่า ถ้าอยากเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น ก็ต้องขยายช่องทางการขายสินค้าให้มากที่สุด เพื่อรองรับลูกค้าทุกกลุ่ม
ส่งผลให้ปัจจุบัน ZEQUENZ มีช่องทางการจัดจำหน่ายในประเทศไทย ทั้งช่องทางออฟไลน์ และออนไลน์
โดยช่องทางออฟไลน์จะวางขายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เพื่อเข้าถึงลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง และเพิ่มโอกาสที่จะได้ลูกค้าใหม่ ๆ จากคนที่มาเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า
ส่วนช่องทางออนไลน์ จะครอบคลุมทั้ง เว็บไซต์ของแบรนด์, โซเชียลมีเดีย และอีคอมเมิร์ซทุกแพลตฟอร์ม
แต่ถึงแม้ว่า การขายสินค้าในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ จะช่วยขยายฐานลูกค้าได้มาก แต่แบรนด์ก็ต้องแลกกับการจ่ายค่า GP ที่สูงด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ZEQUENZ จึงต้องหันมาพัฒนาเว็บไซต์ของตนเอง ให้สามารถดึงลูกค้ามาใช้งาน ด้วยการเพิ่มบริการ Customize สินค้า เช่น
สามารถใส่ชื่อของตัวเองบนสมุดได้, เลือกจับคู่ สีปก ขนาด กับเทมเพลตเส้นบรรทัด ตามที่ต้องการได้
อีกเรื่องที่น่าสนใจ ก็คือ การดูแลลูกค้าให้รู้สึกว่าเป็น “คนพิเศษ”
ไม่ว่าจะเป็นการหาโอกาสพูดคุยกับลูกค้าว่า ชอบสินค้าไหน และมีปัญหาอะไรบ้างที่อยากให้ปรับปรุง ไปจนถึง การจดจำชื่อของลูกค้า ให้เหมือนเป็นคนสำคัญ
รวมทั้ง ยังคอยสังเกตกระแสตอบรับของแบรนด์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
ในมุมกลับกัน คุณน้ำหวานเล่าว่า หลาย ๆ ครั้ง การที่ลูกค้าทักมาบอกเล่าความรู้สึกดี ๆ เกี่ยวกับแบรนด์ หรือการที่ลูกค้าจากต่างประเทศ ยอมจ่ายค่าส่งหลักพันบาท เพื่อซื้อสินค้า ก็ช่วยเพิ่มกำลังใจให้กับเธอ ในการผลิตสินค้าดีมีคุณภาพออกมาเช่นกัน
และการสร้างประสบการณ์ที่ดีจากการบริการเหล่านี้ แม้จะเป็นรายละเอียดที่เล็กน้อย
แต่ก็เป็นเรื่องที่สร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี
จนช่วยให้แบรนด์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าในระยะยาว
ซึ่งนอกจากจะสามารถรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ได้แล้ว ยังช่วยสร้างฐานลูกค้าใหม่อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องราวความสำเร็จของ ZEQUENZ
แบรนด์สมุดโน้ต ที่แม้ราคาสูง แต่คนก็ยังยินดีจ่าย
และในตอนนี้ ก็ได้กลายเป็นแบรนด์สมุด ขวัญใจคนรักการเขียนในหลาย ๆ ประเทศ
ซึ่งไม่เพียงแค่ สินค้าจะถูกผลิตขึ้น ด้วยความใส่ใจเท่านั้น
แต่แบรนด์ก็ยังเลือกวางขายสินค้าให้ถูกที่ และถูกกลุ่มลูกค้า ที่ให้คุณค่ากับสิ่งนั้น ด้วยเช่นกัน..
Reference
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณน้ำหวาน-ปาลีรัตน์ และคุณมะปราง-ณิชมน ดำรงค์กิจการ ทายาทรุ่นที่ 2 ของแบรนด์ ZEQUENZ
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.