Phool สตาร์ตอัป อินเดีย เปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน
Business

Phool สตาร์ตอัป อินเดีย เปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน

23 ส.ค. 2022
Phool สตาร์ตอัป อินเดีย เปลี่ยนขยะให้เป็นเงิน /โดยลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า ในทุก ๆ วัน จะมี “ดอกไม้” ถูกทิ้งลงในแม่น้ำคงคา สูงถึง 1,000 ตัน
ซึ่งเทียบเท่ากับ น้ำหนักของเครื่องบินถึง 41 ลำ ที่ราวกับลงมาจอดบนแม่น้ำคงคาทุกวัน
และถ้าหากนับเป็นเวลา 1 ปี ขยะดอกไม้เหล่านี้ จะมีจำนวนมหาศาลถึง 8,000,000 ตันเลยทีเดียว
โดยต้นตอของปัญหานี้ มีที่มาจาก “ความเชื่อของชาวฮินดู” ว่าดอกไม้ที่ผ่านการสักการบูชาเทพเจ้าแล้ว จะถือว่าเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่สามารถทิ้งหรือฝังกลบได้ ส่งผลให้ดอกไม้เหล่านี้ จะต้องถูกทิ้งลงในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ อย่าง แม่น้ำคงคา เท่านั้น
จากปัญหาเหล่านี้ จึงเกิดเป็นไอเดียธุรกิจ Phool สตาร์ตอัปที่ชุบชีวิตกองขยะดอกไม้ ให้กลายเป็นสินค้าที่สร้างมูลค่า ไปจนถึงการช่วยสร้างอาชีพ ให้แก่หญิงจัณฑาลในอินเดีย และยังมีคุณ Alia Bhatt เจ้าของบท คังคุไบ เป็นผู้ร่วมลงทุนอีกด้วย
แล้วเรื่องราวของ Phool น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
จุดเริ่มต้นของ Phool เกิดขึ้นจากไอเดียของอดีตวิศวกรคอมพิวเตอร์ อย่างคุณ Ankit Agarwal ที่เห็นแม่น้ำคงคา กลายเป็นกองขยะของมวลดอกไม้จำนวนมหาศาล เขาจึงคิดว่าจะทำอย่างไร ? ที่ภาพเหล่านี้จะหายไป
หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมดอกไม้จึงกลายเป็นปัญหาขนาดนี้ ? ทั้ง ๆ ที่มันน่าจะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
คำตอบของเรื่องนี้ ก็คือดอกไม้เหล่านี้ ไม่เพียงแต่เป็นขยะเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งสารเคมี และยาฆ่าแมลง ที่ใช้ในการปลูกดอกไม้ เช่น สารหนู ตะกั่ว และแคดเมียม
ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ จะถูกแพร่กระจายลงในแม่น้ำ ทำให้เกิดมลพิษตกค้าง และสะสมในระยะยาว และผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ก็คือ ชาวอินเดีย ที่ยังต้องพึ่งพาสายน้ำแห่งนี้
ดังนั้น คุณ Ankit Agarwal และคุณ Karen Rastogi เพื่อนของเขา จึงได้เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ ก่อนที่จะสายเกินแก้ ด้วยการก่อตั้งสตาร์ตอัป Phool ขึ้นมาในปี 2017
หลังจากนั้น ก็เริ่มตระเวนรวบรวมกองดอกไม้ จากศาสนสถานต่าง ๆ ในเมืองคานปูร์
แต่แค่เริ่มต้นพวกเขาก็ต้องเจอกับปัญหา
เพราะหลายคนยังไม่เข้าใจในสิ่งที่พวกเขาทำ
เนื่องจากดอกไม้ ที่พวกเขาจะนำมาใช้ คือ ดอกไม้ที่ผู้คนต่างมีภาพจำว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์
พอเป็นแบบนี้ พวกเขาจึงผุดไอเดียด้วยการนำดอกไม้ มาแปรรูปให้เป็นเครื่องหอมอย่าง “ธูป” ที่สามารถนำไปใช้ประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา เพื่อนำกลับไปบูชาเทพเจ้าได้อีกครั้ง
โดยไอเดียดังกล่าวก็ได้รับการยอมรับ จนทำให้พวกเขาสามารถรวบรวมดอกไม้ที่ถูกทิ้ง จากศาสนสถานต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือได้โดยตรง
ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดปัญหาขยะ ได้จากต้นทางแล้ว ยังเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่า ให้กับกองดอกไม้ที่กำลังจะถูกทิ้งอีกด้วย
โดย Phool ใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่หลายปี
กว่าจะได้ ธูป ที่ไม่มีสารเคมีตกค้าง และมีคุณภาพไม่แพ้ธูปปกติทั่ว ๆ ไป
ซึ่งเขาได้ตั้งชื่อสินค้าชิ้นแรกนี้ว่า Phool ที่ในภาษาฮินดี
แปลว่า ดอกไม้ เพื่อให้สอดคล้องกับ แนวคิดของธุรกิจ ที่ใช้วัตถุดิบทั้งหมดจากดอกไม้
นอกจากนี้ Phool ยังได้พัฒนา แตกไลน์สินค้าให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
เช่น ปุ๋ยอินทรีย์, โฟมกันกระแทก ที่สามารถฝังกลบและย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
ไปจนถึง หนังมังสวิรัติ จากเศษดอกไม้ ที่ Phool ร่วมมือกันพัฒนากับ IIT Kanpur Incubation Centre หรือศูนย์วิจัยนวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีในอินเดีย
โดยในปี 2020 Phool ยังได้รับรางวัลนวัตกรรมที่ดีที่สุด ในแฟชั่นหนังมังสวิรัติจาก PETA หรือองค์กรพิทักษ์สัตว์ มาการันตีคุณภาพผลงานอีกด้วย
ซึ่งถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับ Phool เนื่องจากหนังมังสวิรัติ อาจจะกลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือก เพื่อทดแทนการใช้หนังสัตว์ในอุตสาหกรรมเครื่องหนัง โดยเฉพาะที่คานปูร์แห่งนี้ เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลาง การผลิตเครื่องหนังในอินเดีย
นอกจากนี้ Phool ยังวางแผนที่จะขยายธุรกิจหนังมังสวิรัติ ไปยังกลุ่มตลาดแบรนด์ดังในต่างประเทศ เพราะแบรนด์ต่างประเทศส่วนใหญ่ จะมีฐานการผลิตตั้งอยู่ในอินเดียนั่นเอง
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ Phool ยังช่วยสร้างอาชีพให้กับ “ผู้หญิงจัณฑาล” (Dalits)
ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นที่ต่ำที่สุดในสังคมอินเดีย และประกอบกับสังคมในอินเดีย ซึ่งเป็นแบบ “ปิตาธิปไตย” ที่ทำให้ผู้หญิงแทบไม่มีบทบาททางสังคม แล้วยิ่งหากเป็นชนชั้นจัณฑาลด้วยแล้ว พวกเขายิ่งไม่ได้รับสิทธิ์ใด ๆ ทั้งโอกาสในการศึกษา ไปจนถึงโอกาสในการทำงาน
ถึงแม้ว่าการที่ Phool ยื่นโอกาสในการทำงานให้กับพวกเธอ จะไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อย ก็เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม เรื่องความเท่าเทียมและสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะได้รับ
ซึ่งจากเรื่องราวทั้งหมดนี้ ทำให้ Phool กลายเป็นอีกหนึ่งสตาร์ตอัปที่น่าสนใจ จนสามารถดึงดูดนักลงทุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น
-Draper Richards Kaplan Foundation บริษัทร่วมทุนระดับโลกของสหรัฐอเมริกา
-Sixth Sense Ventures กองทุนร่วมลงทุนของอินเดีย
-นักแสดงสาว ที่สวมบทบาท คังคุไบ อย่างคุณ Alia Bhatt
โดยในปัจจุบัน บริษัทสามารถระดมทุนไปได้แล้วกว่า 410 ล้านบาท
ซึ่งเงินส่วนนี้ Phool จะนำไปใช้สำหรับการวิจัยและพัฒนา พร้อมกับขยายกำลังการผลิตให้มีจำนวนมากขึ้น เพื่อรองรับตลาดในอนาคต
เรื่องราวของ Phool ถือเป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
เพราะแม้ว่า โมเดลธุรกิจของ Phool จะไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ หรือใช้เทคโนโลยีล้ำ ๆ
แต่ในบางครั้ง การแก้ปัญหาเรื่องง่าย ๆ แบบนี้นี่แหละ อาจเป็นสิ่งที่ยากที่สุด
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า Phool จะเติบโตต่อไป ในทิศทางใด..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.