รู้จัก CIDER คู่แข่ง คนสำคัญของ SHEIN
FashionBusiness

รู้จัก CIDER คู่แข่ง คนสำคัญของ SHEIN

19 ก.ย. 2022
รู้จัก CIDER คู่แข่ง คนสำคัญของ SHEIN /โดย ลงทุนเกิร์ล
CIDER ถือเป็นธุรกิจม้ามืด ที่กำลังมาแรง
ซึ่งพวกเขา ใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี 
ก็สามารถทำให้บริษัทมีมูลค่าถึง 37,000 ล้านบาท 
และกลายเป็นยูนิคอร์น อย่างรวดเร็ว
แถมรายชื่อนักลงทุน ที่ให้เงินทุนกับ CIDER ก็ยังเป็นรายใหญ่ ๆ ระดับโลก ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทได้รับเงินลงทุนไปแล้วมากกว่า 5,000 ล้านบาท
แล้ว CIDER มีโมเดลธุรกิจอะไรที่น่าสนใจ ?
และนักลงทุนมองเห็นอะไร จาก CIDER ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
ภาพลักษณ์ของ CIDER อาจดูเหมือนเป็นแบรนด์ สัญชาติอเมริกัน
แต่จริง ๆ แล้ว มันถูกก่อตั้งขึ้นในฮ่องกง 
โดยชายชาวจีน ที่ชื่อว่า “Michael Wang” ในปี 2020
ซึ่ง CIDER เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ สำหรับขายสินค้าแฟชั่น ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง หรือถ้าพูดให้เห็นภาพก็คือ มันจะคล้าย ๆ กับแพลตฟอร์ม SHEIN หรือ Pomelo ที่หลายคนคุ้นเคยกันดี
แต่ถึง CIDER จะเป็นแพลตฟอร์มจากฝั่งประเทศจีน
มันกลับกำลังมาแรงในสหรัฐฯ โดยในช่วงต้นปี 2022 นี้ แอปพลิเคชัน CIDER ถูกดาวน์โหลดในสหรัฐฯ ไปแล้ว “มากกว่า 2 ล้านครั้ง”
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อปีที่แล้ว CIDER ยังได้รับเงินลงทุนก้อนใหญ่ จากนักลงทุนระดับโลกหลายราย เช่น
- กองทุน DST Global ซึ่งเป็นหนึ่งใน Venture Capital ที่ทรงอิทธิพลของวงการเทคโนโลยี
- บริษัทกองทุน Andreessen Horowitz ที่โด่งดังในฐานะผู้ลงทุนรายแรก ๆ ใน Facebook, Twitter, Coinbase และ Airbnb
ดังนั้น คำถามที่ตามมาคือ นักลงทุนเหล่านี้มองเห็นอะไรใน CIDER ?
อย่างแรก ก็คือ CIDER ตัดคนกลางออกไป
เนื่องจาก CIDER จะเข้าไปดีลกับโรงงานผลิตเองโดยตรง ทำให้บริษัทควบคุมต้นทุนได้ง่ายขึ้น รวมถึงยังทำให้บริษัทมีความคล่องตัว จนถึงขนาดที่สามารถรวบรัดขั้นตอนการออกแบบ และผลิตสินค้าให้เสร็จได้ภายใน “7 วัน” เท่านั้น
ซึ่งเรื่องความเร็วนี่เอง ที่ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในธุรกิจ Fast Fashion ที่ต้องแข่งกันออกสินค้าให้ทันกระแส ยิ่งใครจับเทรนด์ได้ทันเวลา ก็ยิ่งหมายถึงโอกาสทำเงินมหาศาล ซึ่งแม้แต่แบรนด์ ZARA ที่เป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการนี้ ก็ยังต้องคอยเติมสินค้าใหม่ เข้าร้าน “ทุก ๆ สัปดาห์” เช่นกัน
ประเด็นถัดมา ก็คือ การกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน
ในขณะที่ SHEIN จะเน้นทำสินค้ากว้าง ๆ เพื่อรองรับลูกค้าทุกกลุ่ม และยังมีสินค้าตั้งแต่ เสื้อผ้า, อุปกรณ์แต่งบ้าน, เครื่องเขียน, เครื่องประดับ และสินค้าความงาม
แต่ทางด้าน CIDER จะเน้นไปที่ “สินค้าแฟชั่น” เฉพาะกลุ่ม “Gen Z” เป็นหลัก ทำให้สไตล์เสื้อผ้าของ CIDER มีเอกลักษณ์ และชัดเจน ซึ่งมันจะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการไล่หาสินค้า ที่อาจไม่ได้ผลิตมาเพื่อตอบโจทย์คนกลุ่ม Gen Z นั่นเอง
ส่วนประเด็นที่ 3 คือ ราคา และคุณภาพ
คุณ Wang ผู้ก่อตั้ง CIDER เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “CIDER สามารถสู้กับ SHEIN ได้ ด้วยการผลิตเสื้อผ้าที่มีคุณภาพดีกว่า และยังขายได้ในราคาที่สูงกว่า” 
โดยสินค้าของ CIDER จะมีราคาเฉลี่ยที่ 500-1,100 บาท
ในขณะที่ SHEIN จะเน้นวางขายสินค้าราคาถูก
ซึ่งบางชิ้น อาจมีราคาถูกได้มากถึง 10-30 บาท
ดังนั้น จุดนี้เองที่เป็นช่องว่างให้ CIDER สามารถแทรกตัวขึ้นมาในการแข่งขันได้ เพราะลูกค้าบางกลุ่ม ก็ยินดีที่จะจ่ายแพงกว่าหน่อย หากได้ของในคุณภาพที่เหมาะสมกับราคา
ต่อมาที่ประเด็นที่ 4 ก็คือ CIDER ไม่เน้นทุ่มโปรโมชัน แต่เน้นการสื่อสารที่ชัดเจน
แม้ว่า CIDER จะมีการแจกส่วนลด สำหรับผู้ใช้ใหม่ หรือ ลดราคาสินค้าในบางช่วงเวลา แต่ก็ยังถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับอีคอมเมิร์ซรายอื่น ๆ
ซึ่งสิ่งที่ทำให้ CIDER โดดเด่น แม้ว่าจะไม่ได้จูงใจผู้บริโภคด้วยโปรโมชัน ก็คือ “วิธีการสื่อสาร” ให้เข้ากับกลุ่มคน Gen Z 
โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ 2 กลุ่ม คือ 
1. การสื่อสาร ภายในแพลตฟอร์ม CIDER
อย่าง การออกแบบหน้าแพลตฟอร์ม ก็จะปรับให้ดูมีความเป็น “โซเชียลมีเดีย” มากกว่าการเป็นเพียงช่องทางซื้อขายสินค้าทั่ว ๆ ไป 
ซึ่งในแพลตฟอร์มของ CIDER ก็จะมีฟีเชอร์ที่น่าสนใจ เช่น

“ไลฟ์สตรีมมิง” สำหรับแนะนำสินค้า
และฟีเชอร์ “หมวดสินค้าแนะนำ” ที่มีลักษณะเป็นไอคอน รูปวงกลมคล้ายกับ IG สตอรี
2. การสื่อสาร ภายนอก เพื่อดึงผู้ใช้งาน เข้ามาในแพลตฟอร์ม
โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่โดดเด่นของ CIDER ก็คือ การส่งสินค้า หรือจ้างให้ศิลปิน K-Pop สวมเสื้อผ้าของ CIDER เพื่อโปรโมต
ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีคนดังมากมาย เช่น วอนยอง IVE, จีซู BLACKPINK, เยริ Red Velvet, จีฮโย TWICE และ มิยอน (G)I-DLE
อีกทั้งการโปรโมตร่วมกับศิลปินเกาหลี ก็ยังทำให้ CIDER ได้พื้นที่สื่อแบบฟรี ๆ 
เนื่องจากศิลปิน K-Pop มักจะถูกสื่อด้านแฟชั่น คอยจับตาและรายงานอยู่เสมอว่า พวกเขาใส่เสื้อผ้าจากแบรนด์อะไรบ้างในแต่ละวัน และแน่นอนว่าเมื่อภาพเผยแพร่ออกไป สินค้าเหล่านี้ก็จะได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ CIDER ก็ยังมีการทุ่มเงินไปกับ “โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย” ในเกือบทุกช่องทาง ไม่ว่าจะเป็น Facebook, IG, TikTok, Snapchat และ YouTube เนื่องจากเป็นช่องทางที่กลุ่ม Gen Z มักจะใช้เวลาไปจำนวนมากในแต่ละวัน
สำหรับในปัจจุบัน CIDER ระดมทุนไปได้แล้วกว่า 5,000 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่าอยู่ที่ 37,000 ล้านบาท ซึ่งตามหลังคู่แข่งอย่าง SHEIN ที่มีมูลค่าบริษัทระดับ ล้านล้านบาท อยู่หลายช่วงตัว
แต่หากเรามองย้อนกลับไปในช่วงแรก ๆ ที่ SHEIN เพิ่งเริ่มก่อตั้ง
SHEIN ต้องใช้เวลานานเกือบ 5 ปี ถึงจะได้รับเงินลงทุนเพียง 185 ล้านบาท
แต่หลังจากนั้นเพียง 2 ปี SHEIN ก็ได้รับเงินลงทุนก้อนใหญ่ถึง 11,000 ล้านบาท
ส่วน CIDER ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่ถึง 2 ปี กลับได้รับเงินลงทุนไปแล้ว หลายพันล้านบาท
เรื่องนี้ก็น่าติดตามต่อไปว่า ยักษ์ใหญ่อย่าง SHEIN จะสามารถรักษาความเป็นผู้นำไว้ได้ไหม หรือ CIDER จะกลายมาเป็น แจ็กผู้ฆ่ายักษ์ ได้สำเร็จ..
References:
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.