กรณีศึกษา Bluekoff ผู้อยู่เบื้องหลัง ธุรกิจร้านกาแฟกว่า “หมื่นราย” ของไทย
Business

กรณีศึกษา Bluekoff ผู้อยู่เบื้องหลัง ธุรกิจร้านกาแฟกว่า “หมื่นราย” ของไทย

7 ต.ค. 2022
กรณีศึกษา Bluekoff ผู้อยู่เบื้องหลัง ธุรกิจร้านกาแฟกว่า “หมื่นราย” ของไทย /โดย ลงทุนเกิร์ล
“Bluekoff” อาจเป็นชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูใครหลายคนนัก
แต่รู้หรือไม่ว่า ชื่อนี้กลับเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในหมู่คนทำ “ธุรกิจร้านกาแฟ”
เนื่องจาก Bluekoff จะเน้นโมเดลธุรกิจแบบ B2B
ซึ่งในปัจจุบัน Bluekoff เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการส่งวัตถุดิบ, อุปกรณ์ และเทรนนิงบาริสตาให้แก่ร้านกาแฟในไทยกว่า “หมื่นราย”
และยังเป็นผู้ส่งออกเมล็ดกาแฟดิบ ไปยังหลายประเทศในโซนยุโรป, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
รวมทั้งกำลังขยายไปยังประเทศลาว และกัมพูชาอีกด้วย
โดยในวันนี้ ลงทุนเกิร์ล ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณนุ่น-ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ CEO คนปัจจุบันของ Bluekoff ที่จะมาร่วมแบ่งปันแนวคิด ในการทำธุรกิจของ Bluekoff ที่ทำให้แบรนด์สามารถครองใจเหล่าผู้ประกอบการร้านกาแฟมาได้หลายสิบปี
แล้วโมเดลธุรกิจของ Bluekoff น่าสนใจอย่างไร ?
และทำไมร้านกาแฟหลาย ๆ แห่ง ถึงเลือกใช้วัตถุดิบจาก Bluekoff ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Bluekoff เป็นธุรกิจกาแฟแบบครบวงจร
ซึ่งมีสินค้าตั้งแต่ เมล็ดกาแฟ และอุปกรณ์ชงกาแฟ
รวมทั้งยังมีบริการ คั่วกาแฟ, เทรนนิงบาริสตา และช่วยวางกลยุทธ์ให้กับร้านกาแฟ
โดยคำว่า Bluekoff มาจาก “Blue Green Bean Coffee” ที่หมายถึง สีของสารกาแฟคุณภาพดี ตามความตั้งใจของคุณอ๋า-ศุภชัย ศรีวิตตาภรณ์ ผู้ก่อตั้ง Bluekoff ที่ต้องการมอบเมล็ดกาแฟคุณภาพดีให้กับลูกค้า
ซึ่งในปัจจุบัน Bluekoff ถือเป็นผู้ผลิตเมล็ดกาแฟพิเศษรายใหญ่ของไทย รวมถึงยังเป็นเพียงไม่กี่บริษัทในไทย ที่ได้รับสิทธิ์นำเข้าเครื่องชงกาแฟแบรนด์ชั้นนำ จากยุโรป ทั้งประเทศอิตาลี และเนเธอร์แลนด์
แต่ก่อนที่ Bluekoff จะสามารถขยายอาณาจักร จนใหญ่ขนาดนี้ได้
Bluekoff เคยเป็นเพียง “อาชีพเสริม” ของนักศึกษาหนุ่ม ที่มีความหลงใหลในกาแฟ
โดยหากย้อนกลับไปในปี 2000 หรือเมื่อ 22 ปีที่แล้ว
คุณอ๋าสังเกตเห็นว่า ผู้คนเริ่มดื่มกาแฟกันมากขึ้น
จนทำให้มีร้านกาแฟพากันเปิดใหม่ มากหน้าหลายตา
และในอนาคตวงการกาแฟ ก็น่าจะมีโอกาสเติบโตอยู่อีกมาก
ดังนั้น คุณอ๋าจึงตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการนี้
ด้วยการลองนำ “เมล็ดกาแฟคั่วสำเร็จ” ไปเสนอขายให้กับร้านกาแฟต่าง ๆ
หรือก็คือธุรกิจรูปแบบ “ซื้อมาขายไป” ที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากนัก
เรียกได้ว่า ธุรกิจของคุณอ๋าเดินมาถูกทาง
และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถเปิดโรงคั่วกาแฟเป็นของตัวเองได้สำเร็จ
ซึ่งข้อดีก็คือ ทำให้คุณอ๋าสามารถควบคุมคุณภาพ และต้นทุนของเมล็ดกาแฟได้ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม
แต่หลังจากเริ่มต้นคั่วกาแฟเองไปได้สักพัก ก็กลับพบว่า “สารกาแฟ (เมล็ดกาแฟดิบ)” ที่รับมา ไม่ได้คุณภาพตามมาตราฐานของ Bluekoff และต่อให้นำไปคั่วให้ดีอย่างไร กาแฟก็อาจจะไม่ได้ออกมารสชาติดีเท่าที่ควร
โดยต้นตอของปัญหานี้ เกิดขึ้นจากการปลูกกาแฟ การเลี้ยงดูต้นกาแฟ และการแปรรูปกาแฟที่ไม่สามารถดึงเอาคุณภาพของเมล็ดกาแฟออกมาได้อย่างเต็มที่
ดังนั้น คุณอ๋าจึงตัดสินใจเข้าไปช่วยเกษตรกร ควบคุมคุณภาพของกาแฟ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูก, เก็บเกี่ยว, แปรรูป สร้างโรงสี โรงคั่ว ไปจนถึง กระบวนการแพ็กเมล็ดกาแฟส่งไปถึงมือลูกค้า
เนื่องจากคุณอ๋า ต้องการขายสินค้าที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า
ดังนั้น เมล็ดกาแฟของ Bluekoff จึงไม่ใช่แค่กาแฟคุณภาพดีธรรมดา ๆ
แต่ต้องเป็น “Specialty Coffee” หรือ “กาแฟพิเศษ” ที่มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ โดยต้องได้คะแนนมากกว่า 82 คะแนนขึ้นไป จากการรับรองมาตรฐานสากล
ซึ่งนอกจากเรื่องเมล็ดกาแฟคุณภาพแล้ว
ทาง Bluekoff ก็ยังได้ขยายธุรกิจเข้าสู่ การนำเข้าเครื่องชงกาแฟพรีเมียม, บริการให้คำปรึกษาแก่เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟ ไปจนถึง คอร์สเทรนนิงบาริสตา และคอร์ส Q Grader สำหรับเทรนนิงการเป็น นักชิมและประเมินคุณภาพกาแฟระดับมืออาชีพ
จนในปัจจุบัน Bluekoff มีลูกค้าแบบ B2B ในมือมากกว่าพันราย
นอกจากนี้ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว
Bluekoff ยังได้ขยายกลุ่มลูกค้าเข้าสู่กลุ่ม B2C
หรือก็คือ เริ่มหันมาขายให้กับลูกค้ารายย่อยโดยตรง
เนื่องจากต้องการปรับตัวให้เข้ากับ เทรนด์ที่คนหันมาชงกาแฟคุณภาพดี ดื่มกันเองที่บ้านมากขึ้น
ซึ่งการหันมาขายกาแฟให้กับลูกค้ารายย่อยนี่เอง ที่ทำให้ในช่วงโควิด 19 บริษัทสามารถเดินหน้าต่อได้ แม้จะขาดกำลังซื้อจากร้านกาแฟ ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลักไปก็ตาม
โดยหากดูจากรายได้ของบริษัท บลูคอฟ จำกัด จะเห็นว่า
ปี 2562 รายได้ 280 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 355 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 450 ล้านบาท
รายได้เติบโตเฉลี่ย 28% ต่อปี
ซึ่งนอกจากเรื่องสินค้าคุณภาพ และบริการที่ครอบคลุมแล้ว
อีกหนึ่งแรงสำคัญที่ช่วยทำให้ Bluekoff เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ก็ต้องยกให้กับ CEO คนปัจจุบัน อย่างคุณนุ่น ซึ่งคุณอ๋าได้ไปชักชวนให้มารับตำแหน่งนี้ด้วยตัวเอง
โดยคุณนุ่นไม่เพียงแค่จะมีความเชี่ยวชาญเรื่อง “การตลาด” เท่านั้น แต่ยังมีดีกรีเป็นถึง “นายกสมาคม Specialty Coffee ของไทย (SCATH)” อีกด้วย
ทำให้คุณนุ่น มีความเข้าใจในภาพรวมของตลาดกาแฟ Specialty Coffee เป็นอย่างดี
รวมถึงยังเป็นผู้จุดประกายในเรื่องการขยายกลุ่มลูกค้า Bluekoff ให้เริ่มหันมาจับกลุ่ม B2C มากขึ้น
เนื่องจากคุณนุ่นสังเกตว่า ผู้บริโภครายย่อย เริ่มมีงานอดิเรกเป็นการชงกาแฟ แบบ Specialty Coffee ที่บ้านกันมากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคกลุ่มนี้ ก็ยังมีความรู้ ในการเลือกเมล็ดกาแฟเป็นอย่างดี และยอมจ่ายในราคาสูง เพื่อให้ได้สินค้าคุณภาพ รวมไปถึงพวกเขายังลงทุนกับอุปกรณ์ชงกาแฟอย่างดีด้วย
ดังนั้น ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้ จึงแมตช์เข้าพอดีกับ สินค้าที่ Bluekoff มีอยู่ในมือ ได้อย่างลงตัว ซึ่งคุณนุ่นก็มองว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในทิศทางนี้ จะยิ่งช่วยให้ตลาด Specialty Coffee จะยังเติบโตได้อีกไกล มากกว่าการเป็นกระแส เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น..
เรื่องราวของ Bluekoff แม้ว่าจะไม่ได้มีโมเดลธุรกิจที่แปลกจนชวนทึ่ง
แต่ข้อคิดสุดคลาสสิกที่เราได้เรียนรู้จาก Bluekoff ก็คือ “การต่อยอดธุรกิจไปเรื่อย ๆ” จากพ่อค้าคนกลาง สู่เจ้าของโรงคั่วกาแฟ และพัฒนาจนกลายมาเป็น ซัปพลายเออร์เจ้าใหญ่แห่งวงการกาแฟ ที่เจ้าของร้านกาแฟหลายคนอาจต้องคุ้นชื่อ
แต่แม้ว่า Bluekoff จะประสบความสำเร็จในจุดที่อยู่มากแค่ไหน พวกเขาก็ยังเลือกที่จะต่อยอดธุรกิจไปเรื่อย ๆ และพร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับลูกค้า เพื่อค้นหาหนทางที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถึงจะเป็นแนวคิดที่เรียบง่าย แต่ก็เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโต ได้ไม่รู้จบ..
Reference:
-สัมภาษณ์พิเศษ กับคุณณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ CEO ของ Bluekoff
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.