PANDORA แบรนด์เดนมาร์ก มูลค่าแสนล้าน ที่ได้ไอเดียจากประเทศไทย
Business

PANDORA แบรนด์เดนมาร์ก มูลค่าแสนล้าน ที่ได้ไอเดียจากประเทศไทย

17 ต.ค. 2022
PANDORA แบรนด์เดนมาร์ก มูลค่าแสนล้าน ที่ได้ไอเดียจากประเทศไทย /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า คนที่ตั้งชื่อ PANDORA ไม่ใช่ผู้ก่อตั้งแบรนด์
แต่เป็น “นักศึกษาชาวไทย” ที่ฝึกงานอยู่ในบริษัท ณ ขณะนั้น
รวมถึงบริษัท PANDORA ก็ยังมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทยอีกหลายด้าน
แล้วเรื่องราวจะเป็นอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
PANDORA ก่อตั้งขึ้นในปี 1982
โดยคุณ Per และคุณ Winnie Enevoldsen
ซึ่งในช่วงแรกทั้งคู่ ได้เริ่มจากการเปิด “ร้านอัญมณี” เล็ก ๆ ขึ้นในโคเปนเฮเกน โดยที่ยังไม่ได้ใช้ชื่อ PANDORA
แต่ต่อมาเมื่อพวกเขาได้เดินทางมายังประเทศไทย
และพบว่าที่เมืองไทยเป็นแหล่งรวมอัญมณี จากหลาย ๆ ประเทศ แถมยังมีช่างฝีมือทั้งในสายงานการเจียระไน และการทำตัวเรือนเครื่องประดับเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น เมื่อทั้งคู่กลับไปเดนมาร์ก จึงตัดสินใจนำอัญมณีต่าง ๆ จากประเทศไทยเข้าไปขาย และผลปรากฏว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าอย่างมาก
จนในปี 1989 สองสามีภรรยาคู่นี้ จึงตัดสินใจ “เริ่มต้นผลิตเครื่องประดับในประเทศไทย” โดยมีสำนักงานที่เป็น “ห้องแถวเล็ก ๆ เพียงคูหาเดียว”
และนี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยทำให้กิจการของทั้งคู่ มีจุดแข็งในแง่ของ ต้นทุนการผลิตที่ต่ำ รวมไปถึง ชิ้นงานที่ประณีต ที่ทำโดยช่างฝีมือชาวไทย
ซึ่งเป็นเสมือนแต้มต่อ ที่ช่วยให้ PANDORA สามารถขยายตลาด และส่งสินค้าเข้าไปขายในตลาดหลาย ๆ ประเทศได้
แม้ว่าบริษัทจะได้เปรียบเรื่องต้นทุน และชิ้นงานที่สวยงาม
แต่ก็ต้องบอกว่า จริง ๆ แล้ว PANDORA เพิ่งจะเริ่มมาประสบความสำเร็จอย่างชัดเจน ในปี 2000 หลังจากการเริ่มขายกำไลข้อมือ และ “Charm” จนทำให้แบรนด์เริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมา
ซึ่งต่อมาในปี 2008 บริษัทจัดการลงทุน Axcel ของเดนมาร์ก ก็ได้เข้ามาซื้อหุ้นจำนวน 60% จากคุณ Per และคุณ Winnie Enevoldsen
และหลังจากนั้นประมาณ 2 ปี
PANDORA ก็ได้ IPO เข้าในตลาดหลักทรัพย์เดนมาร์ก
ด้วยมูลค่าที่ระดมทุนกว่า 58,880 ล้านบาท
ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหุ้นไอพีโอ ที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปในช่วงนั้น
เราลองมาดูผลประกอบการของ PANDORA
ปี 2019 รายได้ 108,684 ล้านบาท กำไร 14,637 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้ 94,475 ล้านบาท กำไร 9,632 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้ 116,268 ล้านบาท กำไร 20,675 ล้านบาท
สำหรับในปัจจุบัน PANDORA มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 180,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากตอน IPO ถึงกว่า 200%
รวมถึง บริษัทสามารถส่งสินค้าไปขายในกว่า 100 ประเทศ
และขายเครื่องประดับได้มากกว่า 102 ล้านชิ้นในปี 2021
นอกจากนี้ PANDORA ยังมีการจ้างงานช่างฝีมือชาวไทย มากกว่า 11,500 คน
โดยมีโรงงานตั้งอยู่ในประเทศไทย ทั้งในจังหวัด “ลำพูน”
และนิคมอุตสาหกรรมด้านอัญมณี อย่าง “Gemopolis”
ส่วนสาขาของ PANDORA ในไทย ทั้งหมด 43 สาขา มี “บริษัทกลุ่มธนจิรากรุ๊ป” เป็นผู้นำเข้า จัดจำหน่าย และบริหารแบรนด์
เมื่ออ่านมาจนถึงตรงนี้ เราคงจะเห็นแล้วว่า
ในขณะที่ PANDORA ใช้ความได้เปรียบจากเรื่องต้นทุน และช่างฝีมือชาวไทย
แต่จุดสำคัญที่ทำให้ PANDORA เติบโตได้ไกล มันอยู่ตรงที่พวกเขารู้ว่า จะใช้ข้อได้เปรียบเหล่านี้ มาต่อยอด และสร้างสรรค์ให้พิเศษขึ้นอย่างไร..
---------------------------------------
กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป (TANACHIRA) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวพรรณ สปาแบบองค์รวมรายแรกในไทยภายใต้แบรนด์ HARNN (หาญ), VUUDH (วุฒิ), HARNN Heritage Spa (หาญ เฮอริเทจสปา) และ SCape by HARNN (เอสเคป บาย หาญ) มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและในภูมิภาคกว่า 165 สาขา ภายใต้แนวคิด “Bring the Best of the Brand to the Best of Thailand”
---------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.