“ซาโตริ” กลุ่มคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ เริ่มไม่หวังจะร่ำรวย และหันหลังให้เป้าหมายในชีวิต
Business

“ซาโตริ” กลุ่มคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ เริ่มไม่หวังจะร่ำรวย และหันหลังให้เป้าหมายในชีวิต

24 ต.ค. 2022
“ซาโตริ” กลุ่มคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ เริ่มไม่หวังจะร่ำรวย และหันหลังให้เป้าหมายในชีวิต /โดย ลงทุนเกิร์ล
ขยันทำงาน อดทน ตรงต่อเวลา และอ่อนน้อมถ่อมตน
คือภาพจำของชาวญี่ปุ่นที่ทั่วโลกรู้จักกันเป็นอย่างดี
นิสัยเหล่านี้ถูกปลูกฝังอยู่ในสายเลือดของคนญี่ปุ่น จากรุ่นสู่รุ่น
จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่อุทิศตนให้แก่การทำงาน
ในบางครั้งวัฒนธรรมนี้ก็นำไปสู่การทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุด จนเข้ามาแทนที่การใช้ชีวิต
และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของชาวญี่ปุ่น
กลายเป็นที่มาของคำว่า “คาโรชิ” ซึ่งมีความหมายว่า การทำงานจนเสียชีวิต
จนทำให้เหล่าคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเข้าสู่วัยทำงาน มีวิธีคิดและวิธีการใช้ชีวิตแตกต่างจากคนรุ่นก่อน ๆ
อย่างวิถีชีวิตแบบ “ซาโตริ”
แล้วซาโตริ คืออะไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
ซาโตริ ถ้าหากแปลตรง ๆ จะหมายความว่า “การรู้แจ้ง” หรือ “ตื่นรู้” ซึ่งใช้ในบริบทของศาสนาพุทธ
แต่สำหรับ ซาโตริ ในความหมาย ของคนรุ่นใหม่
จะสื่อถึง แนวคิดที่เลือกจะใช้ชีวิตแบบ “ปล่อยวาง”
โดยไม่คิดที่จะประสบความสำเร็จ หรือมีเป้าหมายในชีวิต
ซึ่งเหล่าซาโตริ จะเลือกทำงานพาร์ตไทม์ เช่น พนักงานร้านสะดวกซื้อ หรือพนักงานในร้านอาหาร เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายชั่วคราว มากกว่าที่จะทำงานที่มีความมั่นคง อย่างพนักงานในบริษัท เหมือนคนรุ่นก่อน ๆ
รวมถึงเหล่าซาโตริยังมีความคิดที่ “ไม่ได้อยากร่ำรวย”
หรือครอบครองทรัพย์สิน อย่าง บ้าน หรือรถเป็นของตัวเอง
รวมถึงไม่คิดที่จะแต่งงานมีลูก
และยังไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับคนอื่น ๆ
ไปจนถึง นิยมอยู่บ้าน มากกว่าที่จะออกไปท่องเที่ยว
นอกจากนี้ เหล่าซาโตริจะใช้ชีวิตแบบประหยัด
ด้วยการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับราคา แทนการเลือกซื้อสินค้าราคาแพงหรือสินค้าจากแบรนด์ดัง
แล้วอะไร คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดวิถีชีวิต แบบซาโตริขึ้นมา ?
ปัจจัยแรก คือ สภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอตัว
ตั้งแต่เกิดวิกฤติฟองสบู่ในช่วงยุค 90
ทำให้หลายบริษัทต่างพากันล้มละลาย
ส่วนบริษัทที่ยังอยู่รอด ก็ปรับลดการจ้างงานลง
ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ ยิ่งต้องแข่งขันกันมากขึ้น เพื่อให้ได้เข้าทำงาน
นอกจากนี้ ภาวะเงินฝืดของญี่ปุ่น
และสภาพสังคมที่เริ่มเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ
ก็ยิ่งทำให้การสร้างธุรกิจของตัวเอง ประสบความสำเร็จได้ยากขึ้น
จนเหล่าคนรุ่นใหม่ เริ่มมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง
ปัจจัยต่อมา คือ สภาพสังคมญี่ปุ่น
ซึ่งมีวัฒนธรรมในการทำงานล่วงเวลา
ร่วมกับแนวคิดการทำงานในบริษัทเดิม ไปจนเกษียณ
ประกอบกับความคาดหวัง และแรงกดดันจากคนรอบตัว
จนทำให้คนญี่ปุ่นบางคน ซึ่งล้มเหลวหรือผิดหวังในชีวิต เลือกที่จะหันหลังให้กับสังคม และเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง
โดยปัจจุบัน ในประเทศญี่ปุ่น มีคนที่เลือกทำงานพาร์ตไทม์ แทนการทำงานประจำ มากถึง 10 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 13% ของประชากรวัยทำงานในญี่ปุ่น และกำลังซ้ำเติมเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้แย่ลงกว่าเดิม
เนื่องจากคนเหล่านี้ มีกำลังซื้อที่ลดน้อยลง เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อน
รวมถึงพวกเขายังมีฐานรายได้ต่ำ ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีได้น้อยลง
ในขณะที่ ค่าใช้จ่ายของรัฐในการดูแลผู้สูงวัย กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
เรียกได้ว่า สภาพสังคมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในตอนนี้
อาจกำลังทำให้ผู้คนเหลือทางเลือกไม่มากนัก
ซึ่งบางคน ก็อาจต้องเลือกที่จะทุ่มเทให้งาน และความก้าวหน้า จนไม่ได้ใช้ชีวิตที่ต้องการ
แต่กลับกัน บางคนก็เลือกที่จะโฟกัสกับชีวิตในวันนี้ แทนการตั้งเป้า ถึงจุดหมาย ที่ไม่รู้ว่า ไปจะถึงเมื่อไร
แต่ไม่ว่า จะเลือกทางใด
เรื่องทั้งหมดนี้ ก็สะท้อนให้เห็นว่า การละเลยปัญหาเล็ก ๆ อย่าง ความท้อแท้ของใครบางคน หรือการตำหนิคนที่ไม่มีเป้าหมายในชีวิต วันนี้มันได้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ที่มีคนนับล้าน ต้องเผชิญร่วมกัน..
-----------------------------------------------
(ad)กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป พุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิกซอว์เทรนด์ไลฟ์สไตล์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติ ที่มาใช้บริการร้าน Marimekko Pop-Up Café คาเฟแห่งแรกในโลก พร้อมเดินหน้าปูทางธุรกิจ F&B ภายใต้แบรนด์อื่นในเครือ หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า Gen Y - Gen Z มากขึ้น
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #MarimekkoCafeThailand
-----------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.