5 กลยุทธ์พลิกฟื้นเกมธุรกิจโรงภาพยนตร์ พลังการตลาดกับพาร์ตเนอร์แบบวิน-วิน
Business

5 กลยุทธ์พลิกฟื้นเกมธุรกิจโรงภาพยนตร์ พลังการตลาดกับพาร์ตเนอร์แบบวิน-วิน

11 พ.ย. 2022
MAJOR x ลงทุนเกิร์ล
จากวันแรกที่โลกของเรารู้จักกับ โควิด 19 ราว 3 ปีก่อนมาจนถึงวันนี้
หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ก็คือ “ธุรกิจโรงภาพยนตร์”
มิหนำซ้ำ ยังต้องเผชิญกับการมาของคู่แข่งนอกวงการอย่าง แพลตฟอร์มสตรีมมิง
แต่วันนี้ เมื่อผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ก็เหมือนเป็นการปลดล็อก ความอัดอั้นของผู้คน
ให้ได้กลับเข้าโรงภาพยนตร์ จนหลาย ๆ รอบฉายภาพยนตร์ ถูกจองล่วงหน้ากันจนเต็มทุกที่นั่ง..
สัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจโรงภาพยนตร์ในไทย ที่มีแนวโน้มสดใส สังเกตได้จากเจ้าตลาดจอเงินอย่าง MAJOR หรือ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดมากถึง 70%
โดยผลประกอบการ 6 เดือนแรกของ MAJOR หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ปี 2563 รายได้ 1,608 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 1,465 ล้านบาท
ปี 2565 รายได้ 2,997 ล้านบาท และพลิกกลับมากำไร 155 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปี 2565 ที่ผ่านมา การใช้สื่อในโรงภาพยนตร์ปีนี้ ยังกลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด
โดยนีลเส็น ประเทศไทย รายงานว่า มูลค่าสื่อในโรงภาพยนตร์ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 นี้ เติบโตถึง 40.64%
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ สมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ยังชี้ว่าสื่อโฆษณาไทย จะฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะครึ่งหลังของปี 2565 ตัวเลขของการใช้สื่อโฆษณา จะโตขึ้นระหว่าง 5% และ 8%
หรือพูดง่าย ๆ ว่า อุตสาหกรรมโฆษณาจะกลับมาโตราวแสนล้านบาท..
MAJOR ใช้กลยุทธ์อะไร ในการพลิกฟื้นเกมธุรกิจครั้งนี้ ?
แล้วทำไมการใช้เม็ดเงินลงไปกับสื่อในโรงภาพยนตร์ ถึงน่าสนใจ ?
ลงทุนเกิร์ลจะสรุปให้ฟัง
เรื่องแรก ก็คือ “คอนเทนต์ที่หลากหลาย”
ตั้งแต่ต้นปี จะเห็นว่า MAJOR ได้นำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ จากฝั่งฮอลลีวูดเข้าฉายกันอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็น “Doctor Strange in the Multiverse of Madness” และ “Top Gun: Maverick” หรือจะเป็นภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ตลอดจนภาพยนตร์ไทย เช่น “บุพเพสันนิวาส ๒” ที่กวาดรายได้ถึง 400 ล้านบาท นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี ยังมีอีก 2 หนังฟอร์มใหญ่ ได้แก่ Black Panther Wakanda Forever (9 พฤศจิกายน) และ Avatar The Way Of Water (14 ธันวาคม) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะทำรายได้ในระดับ 300 ล้านบาทขึ้นไป
รวมถึงภาพยนตร์จากฝั่งบอลลีวูด โดยเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เป็นโรงภาพยนตร์เดียวในไทยที่ฉาย “หนังอินเดีย” พร้อมกันกับประเทศอินเดีย มากกว่า 20 เรื่องต่อปี
มากไปกว่านั้น MAJOR ยังร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ สร้าง Regional Film หรือ ภาพยนตร์ที่นักแสดงพูดภาษาถิ่นของแต่ละภูมิภาค เช่น “อีเรียมซิ่ง”, “มนต์รักวัวชน” และ “ส้มป่อย”
ซึ่งที่ผ่านมา ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ตอบโจทย์ทั้งตลาด Mass และตลาด Local
นอกจากนี้ MAJOR ได้เพิ่มการฉายคอนเทนต์ทางเลือกที่ไม่ใช่ภาพยนตร์ อย่างการ Live Streaming งานแสดงสดต่าง ๆ จากต่างประเทศ มาให้ชมในโรงภาพยนตร์จอยักษ์ คมชัดทั้งภาพและเสียง เหมือนเข้าไปอยู่ในสถานที่จริง
เช่น คอนเสิร์ตจากเกาหลีใต้, การแข่งขัน Super Bowl, งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ไปจนถึงคอนเทนต์พิเศษ ร่วมกับ True ที่เตรียมจะเข้าฉายเฉพาะในโรง IMAX เท่านั้น
ถัดมาคือ “นวัตกรรมและเทคโนโลยี”
MAJOR ได้นำนวัตกรรมล้ำสมัยในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ มาเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้ลูกค้า
ไม่ว่าจะเป็น IMAX โรงภาพยนตร์จอยักษ์ ,4DX โรงภาพยนตร์สี่มิติ กับเอฟเฟกสมจริงที่สุด หรือ ScreenX โรงภาพยนตร์แบบ 3 จอ 3 ทิศทาง จอกว้างถึง 270 องศา
ล่าสุด ที่กำลังจะเปิดตัวในปลายปีนี้ คือ โรงภาพยนตร์ “IMAX with LASER” และ “ScreenX PLF” พร้อมกันนี้ยังมีแผนติดตั้ง Smart Ticket หรือเครื่องอ่านตั๋วหนังแบบ QR Code ให้ครบทุกสาขาภายในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์บริการแบบไร้สัมผัส
เช่น การพัฒนา Application เพื่อเป็นช่องทางซื้อตั๋วผ่าน Mobile Ticketing และพัฒนาระบบชำระเงินออนไลน์ในรูปแบบไร้เงินสด
รวมถึงร่วมมือกับ Atome เปิดให้บริการ Buy Now Pay Later ในการแบ่งจ่ายค่าตั๋วภาพยนตร์ได้อีกด้วย
ที่สำคัญ การที่ MAJOR ใช้เทคโนโลยี Mobile Ticketing ส่งผลดีทั้งสองช่องทาง คือ สร้างพฤติกรรมจองตั๋วหนังล่วงหน้า ช่วยให้บริษัทมีรายได้ที่แน่นอน และยังทำให้ได้รวบรวมฐานข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า
สำหรับสเต็ปต่อไป MAJOR ตั้งเป้าจะเป็น Cashless Cinema 100% ภายในสิ้นปีนี้ 2565 และเป็น Mobile Ticketing 100% ภายในปีหน้า 2566
ประเด็นที่สาม คือ “Big Data ฐานข้อมูลลูกค้าคุณภาพ”
เริ่มตั้งแต่ระบบ M PASS และ M GENERATION ที่ทำให้ MAJOR มีรายได้จากการการสมัครสมาชิกดูหนังแบบเหมาจ่ายรายเดือน “M PASS” และบัตรสมาชิกสะสมคะแนน “M GENERATION” เข้ามาทันที
ปัจจุบัน บริษัทมีลูกค้า M PASS กว่า 170,000 ราย ทำให้เกิดรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ
อีกทั้งยังเป็นแม่เหล็กช่วยดึงดูดผู้คนให้มาใช้บริการบ่อยขึ้น
ที่สำคัญ MAJOR ยังใช้กลยุทธ์ Co-Campaign นำ M PASS ไปทำการตลาดร่วมกับสปอนเซอร์
เช่น KTC ,เครื่องดื่ม Rockstar และ True
ซึ่งกลยุทธ์ที่ว่านี้ จะทำให้ทั้ง 2 แบรนด์ได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งสร้างการรับรู้และขยายฐานการตลาด จากแบรนด์หนึ่งไปสู่อีกแบรนด์หนึ่งได้ไม่ยาก
ขณะเดียวกัน ทางด้านบัตรสะสมคะแนน M GENERATION ก็มีสมาชิกกว่า 3,000,000 ราย
ด้วยตัวเลขจำนวนสมาชิก M PASS และ M GENERATION จำนวนมากนี้ เท่ากับว่าบริษัทมีฐานข้อมูลของลูกค้าคุณภาพที่แข็งแกร่ง เพื่อนำ Data ที่ได้มาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าให้ตอบโจทย์ หรือจะวางแผนการตลาดแบบเฉพาะเจาะจง จัดทำรายการส่งเสริมการขายให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละราย ก็ได้อีกด้วย
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ โรงภาพยนตร์ในเครือ MAJOR มีสาขาครอบคลุมหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และทุกสาขาจะมีเพจเฟซบุ๊กเป็นของตัวเอง และกำลังจะเปิด Line OA แยกแต่ละสาขา เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับสื่อสารกับลูกค้าในพื้นที่โดยตรง ทำให้สามารถต่อยอดการทำ Localized Marketing ได้เป็นอย่างดี
ซึ่งปัจจุบันช่องทางเฟซบุ๊กของ MAJOR มียอดผู้ติดตามรวมกันทุกสาขามากกว่า 15 ล้านบัญชี และผู้ติดตามใน Line ของ MAJOR มากกว่า 17 ล้านบัญชี เลยทีเดียว
กลายเป็นโอกาสของแบรนด์ต่าง ๆ ที่จะใช้สื่อในโรงภาพยนตร์ สร้าง Brand Awareness ให้เข้าถึงผู้คนได้ทุกช่วงวัย ทั้งคนเมืองและต่างจังหวัด
สำหรับประเด็นที่สี่ คือ “การจัดกิจกรรม On Ground Marketing”
โดย MAJOR ให้ความสำคัญกับกิจกรรม On Ground ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป้ายสปอนเซอร์, การออกบูทจำหน่ายสินค้า หรืองานอิเวนต์เปิดตัวภาพยนตร์ เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมให้กับคอหนัง ซึ่งสื่อการตลาดทั้งรูปแบบออฟไลน์, ออนไลน์ และ On Ground จะทำให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์อย่างครบวงจร
ตัวอย่างเช่น งาน Major Cineplex X Pepsi Present The Jurassic Planet ที่ร่วมมือกับเป๊ปซี่ เนรมิตโลกไดโนเสาร์ จากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ Jurassic World Dominion มาไว้ใจกลางเมือง
หรือจะเป็น Krungsri IMAX ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็น Naming Sponsorship กันมากว่า 17 ปี ก็ได้จัดกิจกรรมร่วมกันมากมาย เช่น สิทธิพิเศษซื้อตั๋วหนัง 1 แถม 1 เฉพาะผู้ถือบัตรเครดิตกรุงศรี, ระบบซื้อตั๋วหนังผ่านแอปพลิเคชัน UChoose และแคมเปญ KRUNGSRI IMAX Video Contest 2022 ชิงเงินรางวัล
ทั้งนี้ On Ground Marketing ยังเป็นเหมือนซิกเนเชอร์ที่แข็งแกร่งของ MAJOR สำหรับสร้าง Engagement ระหว่างแบรนด์พาร์ตเนอร์กับลูกค้าได้อย่างชัดเจน
ถึงตรงนี้ พอจะเห็นภาพแล้วว่า การทำธุรกิจแบบลำพัง ไม่ใช่เรื่องง่ายในโลกของการแข่งขันทุกวันนี้ ดังนั้น ปรากฏการณ์ที่แบรนด์ต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับ MAJOR มากมาย
จึงเกิดขึ้นเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง และสร้างความภักดีในแบรนด์อย่างแยบยล
เหมือนการฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพของ MAJOR ร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง..
และประเด็นสุดท้าย
ในปีนี้ MAJOR กำลังจะเป็นเจ้าภาพงาน “CineAsia 2022” ในวันที่ 5-8 ธันวาคม ที่โรงภาพยนตร์ Icon Cineconic ศูนย์การค้าไอคอนสยาม
ซึ่งเป็นงานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับนานาชาติ ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ระดับฮอลลีวูด และตัวแทนธุรกิจโรงภาพยนตร์ทั่วเอเชียจะมาร่วมงาน
ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญ ที่จะผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในการขยายตลาด หรือขายสิทธิ์ไปฉายภาพยนตร์ในต่างประเทศ ช่วยสร้าง Soft Power ส่งต่อประโยชน์ให้กับสินค้าและบริการหลายภาคส่วน
อีกทั้ง ยังสะท้อนถึงความพร้อมของ ผู้นำตลาดอย่าง MAJOR ในช่วงเวลาของการกลับมาของอุตสาหกรรมภาพยนตร์, ธุรกิจโรงภาพยนตร์ และธุรกิจสื่อในโรงภาพยนตร์อย่างเต็มตัว..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.