จากอดีตวิศวกร สู่ผู้ก่อตั้ง “ล่าเมียว” ร้านหม่าล่า รายได้เฉลี่ย 6 ล้านบาทต่อเดือน
Business

จากอดีตวิศวกร สู่ผู้ก่อตั้ง “ล่าเมียว” ร้านหม่าล่า รายได้เฉลี่ย 6 ล้านบาทต่อเดือน

18 พ.ย. 2022
จากอดีตวิศวกร สู่ผู้ก่อตั้ง “ล่าเมียว” ร้านหม่าล่า รายได้เฉลี่ย 6 ล้านบาทต่อเดือน /โดย ลงทุนเกิร์ล
“ล่าเมียว” ธุรกิจร้านหม่าล่า ที่ตอนนี้กำลังได้รับความนิยม
จนบางช่วงต้องมีลูกค้ามาต่อคิวเข้าร้านกันเลยทีเดียว
ที่น่าสนใจก็คือ แม้ร้านล่าเมียว จะเพิ่งเปิดตัวได้เพียง 3 ปี
แต่มีการขยายสาขาถึง 3 แห่ง บนห้างฯ ทำเลทอง
และยังทำรายได้เฉลี่ย 6 ล้านบาทต่อเดือน เลยทีเดียว
โดยวันนี้ลงทุนเกิร์ล มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณแอมป์-รัตตรุจน์ ทองประดิษฐ์
ผู้ก่อตั้งร้านล่าเมียว ถึงวิธีการสร้างแบรนด์ร้านหม่าล่าบนห้างฯ
รวมถึงล่าเมียวมีกลยุทธ์สำคัญอะไร จนทำให้คนรักหม่าล่า ต้องยอมควักกระเป๋าให้กับล่าเมียว ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ล่าเมียว (La meow) เป็นร้านอาหารจีนสไตล์หูหนานเสฉวน ที่ก่อตั้งในปี 2019
โดยจุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้ เกิดจากคุณแอมป์ อดีตวิศวกรชาวไทย ที่ยอมทิ้งเงินเดือนหลักแสนบาท เพื่อลุยธุรกิจร้านอาหาร เพียงเพราะต้องการให้ภรรยาชาวจีน มีอาหารต้นตำรับหูหนานไว้กิน ตอนอยู่ประเทศไทย
ซึ่งคุณแอมป์เล่าว่า ภรรยาชาวจีนของเขา คุ้นเคยกับอาหารจีนสไตล์หูหนาน ที่มีรสชาติเผ็ดชา และเผ็ดเปรี้ยว มากกว่า อาหารคาวของไทยบางชนิด ที่มักจะมีรสชาติออกรสหวาน
โดยเขามีโอกาสได้ไปชิมอาหารจีนต้นตำรับที่เมืองหูหนาน บ้านเกิดของภรรยา
และพบว่ารสชาติของอาหารที่นั่น จัดจ้านเป็นเอกลักษณ์ถูกใจตัวเขาเอง และน่าจะถูกปากคนไทยเช่นกัน
หลังจากนั้น คุณแอมป์ก็เริ่มศึกษาตลาดหม่าล่าในไทย และต่างประเทศ
และตัดสินใจเดินหน้าสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหารอย่างเต็มตัว
โดยคุณแอมป์ ได้ร่วมหุ้นกับเชฟชาวจีนที่ทำอาหารให้เขากินในวันนั้น
เปิดบริษัท ซีบี ทีเอ เทรดดิ้ง จำกัด ที่มีร้านล่าเมียวรวมอยู่ด้วย
และยังเคลมว่า ทุกเมนูเป็นสูตรอาหารต้นตำรับหูหนานแท้ ๆ
แต่ท่ามกลางการแข่งขันสุดดุเดือดในตลาดหม่าล่า
แค่มีสูตรต้นตำรับ อาจยังไม่พอ ที่จะครองใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้
แล้ว “ล่าเมียว” มีกลยุทธ์อะไรในการสร้างแบรนด์ จนสามารถครองใจลูกค้าได้ ?
อันดับแรก คือ “หม่าล่าบาร์” ที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกวัตถุดิบได้ตามใจชอบ และมาในราคาที่จับต้องได้
คุณแอมป์ สังเกตว่า ธุรกิจร้านหม่าล่าในไทยส่วนใหญ่ จะเน้นชูการขายแบบหม้อไฟ หรือปิ้งย่าง
แต่ล่าเมียวเลือกที่จะขายแบบ “หม่าล่าบาร์”
ซึ่งเป็นโมเดลร้านอาหารที่นิยมมากในจีน
แต่ขณะนั้นก็ยังไม่มีใครนำเข้ามาตีตลาดในไทย
แม้ว่าหม่าล่าบาร์ อาจฟังดูไม่คุ้นชินเท่าไรนักสำหรับคนไทย
แต่มันกลับเป็นที่นิยมมากในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย และเมียนมา
ซึ่งจุดเด่นของหม่าล่าบาร์ คือ ลูกค้าสามารถเลือก D.I.Y. เมนูของตัวเองได้ตามใจชอบ
โดยมีวัตถุดิบให้เลือกหลายสิบอย่าง ในราคาขีดละ 45 บาท
เช่น เส้นมันหวาน,​ แผ่นสาหร่าย, ปูอัด, ลูกชิ้นชีส, รากบัว และผักต่าง ๆ
อีกทั้ง ยังสามารถเพิ่มเนื้อสัตว์ เช่น หมูสามชั้นสไลซ์, เนื้อสไลซ์, หมึก, หอยเชลล์ หรือแซลมอน ได้เช่นกัน โดยเริ่มต้นที่ถาดละ 45 บาท
และเมื่อเลือกวัตถุดิบเรียบร้อยแล้ว พนักงานจะปรุงแต่ละชาม ตามรสชาติที่เราเลือก
ที่ปรับได้ทั้ง ระดับความเค็ม และระดับความเผ็ด
ซึ่งมีพริกสูตรเฉพาะ 3 ชนิด เป็นตัวชูโรง อย่างพริกดอง, พริกชา และพริกหม่าล่า
โดยลูกค้ายังสามารถเลือกได้ว่า จะให้ทางร้านนำวัตถุดิบที่ลูกค้าตักมา ไปทำเป็นเมนูซุปหม่าล่า หรือ หม่าล่าผัดแห้ง ก็ได้เช่นกัน
ถัดมา ก็คือ “ความเป็นร้านอาหารจีน ที่ดูทันสมัย”
หากใครเคยเข้าไปที่ร้านล่าเมียว จะเห็นว่าดิไซน์ของร้านดูทันสมัย มีสีสันสดใส และมีแมสคอตเจ้าแมวเหมียวสีขาวหน้าทะเล้น คอยต้อนรับอยู่หน้าร้าน
ซึ่งคุณแอมป์เล่าว่า เหตุผลที่เลือกใช้แมวเป็นแมสคอตของร้าน เพราะมองว่าแครักเตอร์ของแมว มีหลากหลายอารมณ์ เหมือนเวลาที่ลูกค้าเข้ามาที่ร้าน จะสามารถเลือกอาหารได้ตามใจ ตามอารมณ์ที่ลูกค้าต้องการ แถมยังสร้างการจดจำได้ง่ายอีกด้วย
นอกจากนี้ บรรยากาศในร้าน ยังเหมาะสำหรับคนทุกวัย และทุกโอกาส
ทั้งการนัดคุยงาน สังสรรค์ หรือแม้แต่แวะมานั่งกินช่วงเที่ยง หรือช่วงเย็นก่อนกลับบ้านก็ได้
สุดท้าย ก็คือ “การเลือกทำเลทอง”
แม้ล่าเมียวจะเป็นร้านใหม่ที่เปิดมาไม่นาน และไม่ใช่ร้านจากเชนใหญ่
แต่ทั้ง 3 สาขาของล่าเมียว ล้วนตั้งอยู่บนทำเลทองของร้านอาหาร
และกว่าจะได้เข้าไปเปิดร้านในห้างทำเลทองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
อย่าง สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ก็เคยถูกปฏิเสธไปถึง 3 รอบ ก่อนที่จะผ่านการคัดเลือกในรอบที่ 4
แน่นอนว่า สำหรับร้านอาหารแล้ว การเลือกทำเลที่มีศักยภาพ ส่งผลต่อยอดขายเป็นอย่างมาก
แม้ว่าในช่วง 3 ปีแรก ล่าเมียว จะยังขาดทุนอยู่ เพราะต้องมาเผชิญกับโควิด 19 พอดิบพอดี
แต่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
คุณแอมป์ประกาศในรายการ Shark Tank Thailand ว่า
ร้านล่าเมียว สามารถทำรายได้สะสม 65 ล้านบาท ตั้งแต่เปิดร้านมา 35 เดือน
และ 3 เดือนล่าสุด ร้านได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก จนมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 6 ล้านบาท
จนตั้งเป้าว่า ในสิ้นปีนี้จะทำรายได้ถึง 75 ล้านบาท
และปี 2023 คาดว่าจะมีรายได้สูงถึง 150 ล้านบาทเลยทีเดียว
ที่น่าสนใจคือ รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ ไม่ได้มาจากลูกค้าที่มากขึ้น แต่กลับเป็นลูกค้าเก่าที่มาใช้บริการซ้ำ
ซึ่งส่วนหนึ่ง มาจากเบื้องหลังการทำการตลาดของล่าเมียว ที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูล จากพฤติกรรมของลูกค้า มาปรับปรุงให้ตรงกับความต้องการมากขึ้น
รวมถึงการดิไซน์โปรโมชันให้กับตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม จนกลับมากินซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า หรือประทับใจจนต้องบอกต่อ
ไม่เพียงเท่านี้ ล่าเมียว ยังมีเป้าหมายในการขยายสาขาเพิ่มอีก 3 สาขา ภายในปี 2023 บนห้างฯ ชั้นนำ โดยในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้ จะเปิดสาขาใหม่ที่สยามเซ็นเตอร์ กับดิไซน์ร้านที่ชิกมากกว่าเดิม
อีกทั้งยังมีแผนที่จะยกระดับจากธุรกิจ “SME” เป็นธุรกิจ “สตาร์ตอัป”
โดยเตรียมตัวจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ เพื่อระดมทุนภายในอีก 3 ปีหลังจากนี้
เนื่องจากมองว่า หม่าล่าฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้ ไม่ใช่แค่กระแส
แต่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หม่าล่าและอาหารจีนยังมีโอกาสเติบโต และจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกนั่นเอง..
--------------------------------------------------------------------------
(ad)กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป เดินหน้าขยายธุรกิจหาญ เวลเนสแอนด์ฮอสพิทอลลิตี้ (HARNN Wellness & Hospitality) ครอบคลุมทั้งเวลเนสและสปาภายในประเทศและต่างประเทศในระดับ Regional สร้างให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักและสร้างความภูมิใจในระดับสากลรวมกว่า 16 สาขาทั่วภูมิภาค

https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #HARNN #SCapebyHARNN
--------------------------------------------------------------------------
Reference:
-สัมภาษณ์พิเศษ กับคุณแอมป์-รัตตรุจน์ ทองประดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งร้านล่าเมียว
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.