moreloop เปลี่ยน “ผ้าเหลือ” จากโรงงาน ให้ทำเงินได้อีกครั้ง
Business

moreloop เปลี่ยน “ผ้าเหลือ” จากโรงงาน ให้ทำเงินได้อีกครั้ง

28 พ.ย. 2022
moreloop เปลี่ยน “ผ้าเหลือ” จากโรงงาน ให้ทำเงินได้อีกครั้ง /โดย ลงทุนเกิร์ล
ทุกวันนี้ เศรษฐกิจโลก ถูกขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่มีเจ้าของกิจการ แรงงาน และผู้บริโภค เป็น 3 ตัวละครหลัก
พล็อตของละครเรื่องนี้ ยังมาพร้อมกับจุดยืนที่ขัดแย้งกันของทั้งสามฝ่าย
โดยนายทุนต้องการกำไรสูงที่สุด ด้วยการลดต้นทุน และเพิ่มราคาขาย
ขณะที่แรงงานต้องการขึ้นค่าแรง
ส่วนผู้บริโภคอยากซื้อของในราคาที่ถูกที่สุด
แต่ในคำนิยามของระบบทุนนิยมนั้น
กลับละเลยที่จะพูดถึง “ฉากหลัง” อย่าง “สิ่งแวดล้อม”
จนทำให้หลายคนคงมองว่า เรื่องของสิ่งแวดล้อมและทุนนิยม เป็นเหมือนเส้นขนาน
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ยังมีอีกหลายคนที่กำลังพยายามทำให้เส้นขนานทั้งสอง มาบรรจบกัน
โดยวันนี้ลงทุนเกิร์ล มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณพล-อมรพล หุวะนันทน์ และคุณแอ๋ม-ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์
สองผู้ก่อตั้ง moreloop (มอร์ลูป)
แบรนด์ที่นำผ้าเหลือจากอุตสาหกรรม มาขายบนแพลตฟอร์ม
และผู้ที่ อยากพิสูจน์ว่า ทุนนิยมและสิ่งแวดล้อม สามารถเดินไปด้วยกันได้จริง
เบื้องลึกเบื้องหลังของ moreloop คืออะไร ?
แล้วอะไรทำให้ moreloop ที่มีจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อม ยังทำธุรกิจได้จนถึงปัจจุบัน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
แรกเริ่ม คุณพลและคุณแอ๋ม มองสิ่งเดียวกันจากคนละมุม
คุณพลหมกมุ่นกับเรื่อง “ของเหลือจากอุตสาหกรรม” (Industrial Waste) สิ่งที่คนมักมองไม่เห็นคุณค่า แต่เขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้น โดนด้อยค่า เพราะการติดป้ายว่า “ขยะ” ให้กับมัน
ดังนั้น เขาจึงพยายามมองหาโอกาส
เพื่อหาธุรกิจที่สามารถ อัปไซเคิลขยะอะไรบางอย่าง
ส่วนทางด้าน คุณแอ๋ม ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป
เธออยู่กับกองผ้า ที่เหลือจากการผลิต
และโรงงานต้องจำใจชั่งกิโลขายในราคาถูก
ซึ่งคุณแอ๋มบอกว่า เธอเสียดาย เพราะเธอรู้ว่าผ้าเหลือเหล่านั้น มันมีค่ามากกว่าราคาที่ถูกขายไป
เมื่อ “Pain Point” ของคุณแอ๋ม มาบรรจบกับ “Passion” ที่คุณพลมี
“moreloop” จึงถือกำเนิดขึ้น
คุณแอ๋มบอกว่า ผ้าที่เหลือในโรงงานนั้น ไม่ใช่แค่เศษผ้าชิ้นเล็ก ๆ แต่เหลือเป็นม้วนเป็นพับเลยทีเดียว และคุณภาพของผ้าก็ไม่ได้แย่ เพราะเป็นผ้าสำหรับออร์เดอร์สั่งตัดจากแบรนด์ดัง ๆ ทั้งนั้น
ในขณะเดียวกัน คุณพลกับคุณแอ๋ม ก็ได้พบว่ายังมีกลุ่มคนที่ต้องการผ้าคุณภาพ เพื่อนำไปสร้างสรรค์ผลงานต่อ เช่น แฟชั่นดิไซเนอร์รายย่อย
ทั้งสองจึงอาสาเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวก ให้ทั้งสองกลุ่มมาเจอกัน
โดยเริ่มจากรวบรวมผ้าเหลือจากโรงงานที่รู้จัก มาลงขายบนเว็บไซต์ ก่อนที่จะมีหลายโรงงานติดต่อนำผ้ามาขายเอง จนปัจจุบันมีกว่า 70 โรงงาน ที่นำผ้าเหลือมาขายบนเว็บไซต์ของ moreloop
ซึ่งผ้าที่นำมาขายบนแพลตฟอร์มนั้น มีเกณฑ์เพียงข้อเดียวคือ ต้องเป็นผ้าที่เหลือจริง ๆ
ส่วนราคาขายนั้น moreloop ให้โรงงานตั้งราคาเอง
แต่ก็จะมีราคาแนะนำที่ยุติธรรมกับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
ส่วนรายได้ของ moreloop จะมาจากค่าบริการระบบที่หักจากยอดขาย
โดย moreloop มีบริการที่ช่วยแก้ Pain Point ของโรงงาน ด้วยการเป็นตัวกลางที่ครบวงจร ทั้งถ่ายรูปลงเว็บไซต์ จัดหมวดหมู่ชนิดของผ้า ลวดลาย หรือความหนา
รวมถึงมีโชว์รูม และช่วยให้ข้อมูล เพื่อให้ดิไซเนอร์เลือกซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น
ซึ่งนอกจากรวบรวมผ้ามาขายแล้ว moreloop ยังอัปไซเคิล ด้วยการนำผ้าเหล่านี้ มาผลิตเป็นเสื้อผ้าขายด้วย
โดยแบ่งเป็น 2 ขา คือ
-ผลิตแบรนด์ของตัวเอง (B2C)
-รับจ้างผลิตสินค้าสำเร็จรูปสำหรับองค์กร เช่น เสื้อ, หน้ากากผ้า, กระเป๋าผ้า (B2B)
และที่สำคัญ คือ เสื้อที่ moreloop ผลิต นอกจากทำมาจากผ้าคุณภาพดีแล้ว ยังตัดเย็บด้วยความละเอียด เพื่อความคงทน แถมยังตั้งราคาที่สมเหตุสมผล
ทั้งหมดนี้ ก็เพราะคุณพลและคุณแอ๋ม เชื่อว่า ธุรกิจจะยั่งยืนได้ ต้องไม่ได้มีแค่ “สตอรี” เพียงอย่างเดียว
แต่สินค้าและบริการที่ดี ก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่ห้ามมองข้าม
โดยตลอดระยะเวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา
moreloop ช่วยลดการผลิตผ้าขึ้นใหม่ได้ถึง 42,124 กิโลกรัม
ถือเป็นการประหยัดการปล่อยคาร์บอน เท่ากับการขับรถยนต์รอบโลกถึง 133 รอบทีเดียว
เรียกได้ว่า แม้ moreloop จะยังไม่ใช่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จนใหญ่โต
แต่ก็ถือเป็นก้าวเล็ก ๆ อีกหนึ่งก้าว ที่ช่วยพาให้เราเดินไปสู่ถนนสายใหม่
ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ทุนนิยม ก็อาจจะสามารถ เดินควบคู่ไปกับ การรักษาสิ่งแวดล้อมได้..
Reference:
-สัมภาษณ์พิเศษกับ คุณพล-อมรพล หุวะนันทน์ และคุณแอ๋ม-ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ ผู้ก่อตั้ง moreloop
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.