การให้ของขวัญ ในเทศกาล ส่งผลร้ายและดี ต่อระบบเศรษฐกิจ อย่างไร ?
Economy

การให้ของขวัญ ในเทศกาล ส่งผลร้ายและดี ต่อระบบเศรษฐกิจ อย่างไร ?

22 ธ.ค. 2022
การให้ของขวัญ ในเทศกาล ส่งผลร้ายและดี ต่อระบบเศรษฐกิจ อย่างไร ? /โดย ลงทุนเกิร์ล
เมื่อช่วงเทศกาลสิ้นปีมาถึง ก็มักจะมาพร้อมกับ “ของขวัญ”
ที่ถูกนำมามอบให้แก่กัน ในช่วงเวลาแห่งความสุข
แต่หลายคนอาจมองข้ามไปว่า เทศกาลแห่งการมอบของขวัญนี้ ยังข้องเกี่ยวกับ “ระบบเศรษฐกิจ” ทั้งในแง่ดี และแง่ร้ายอีกด้วย
ซึ่งผลกระทบในแง่ดี จะเรียกว่า “Gift Economy”
ส่วนแง่ร้าย จะเรียกว่า “Scroogenomics”
แล้ว Gift Economy และ Scroogenomics คืออะไร ?
ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เริ่มกันที่ผลกระทบในแง่ดี
“Gift Economy” หรือ ระบบเศรษฐกิจของขวัญ
หมายถึง รูปแบบการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่มีมูลค่าให้แก่กัน
โดยไม่มีเงื่อนไขในการแลกเปลี่ยนกันทันที เหมือนระบบการจ่ายเงิน ซื้อขายสินค้าทั่วไป
เพราะ Gift Economy มีเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมของมนุษย์ ระหว่างผู้ให้และผู้รับ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
จึงเกิดพันธสัญญา มีนัยบางอย่าง ที่จะทำให้เกิดการตอบแทนในภายหลัง
พูดง่าย ๆ ว่า เวลาที่มีใครมาให้ของขวัญแก่เรา
เราก็คงอยากจะไปซื้อสิ่งของให้กลับคืน เพื่อตอบแทนน้ำใจต่อกัน
และมูลค่าที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนสิ่งของ หรือของขวัญกันไปมานี้ จึงเกิดเป็นตลาดในระบบเศรษฐกิจของขวัญ ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น
-ผู้ผลิตสินค้าที่ถูกซื้อเป็นของขวัญ
-ผู้ผลิตสินค้าเกี่ยวเนื่อง เช่น บรรจุภัณฑ์, กระดาษห่อของขวัญ และการ์ดอวยพร
-แหล่งจำหน่ายสินค้า ทั้งห้างสรรพสินค้า และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ
-ผู้ให้บริการส่งของ
ซึ่งแน่นอนว่า การให้ของขวัญได้กลายเป็นธรรมเนียมสากล เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน
โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ที่มีการใช้จ่ายซื้อของขวัญเป็นจำนวนมาก
ยกตัวอย่าง ประเทศที่มีตลาด Gift Economy ที่น่าสนใจ ก็คือ ประเทศจีน
เช่น เทศกาลตรุษจีน ที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญในการส่งมอบของขวัญ
เนื่องจากลูกหลานมักซื้อของขวัญให้แก่ญาติผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความเคารพ
ขณะที่ผู้ใหญ่ก็นิยมให้ของขวัญลูกหลานตามประเพณี
แต่ในทางกลับกัน ก็มีอีกแนวคิด จากคุณ Joel Waldfogel นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยมินนิโซตา ที่มองว่าการให้ของขวัญ ได้สร้างผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจเช่นกัน
ซึ่งแนวคิดนี้เรียกว่า “Scroogenomics”
หรือ แนวคิดที่มองว่าการมอบของขวัญ อาจสร้างส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจ (Deadweight Loss)
เนื่องจากผู้ให้ มีแนวโน้มจะให้ของขวัญที่ไม่ได้ตรงตามความต้องการที่แท้จริงของผู้รับ
ทำให้ของชิ้นนั้น กลายเป็นทรัพยากรที่ถูกใช้ไม่เต็มมูลค่า
เหตุเกิดจากคุณ Waldfogel ได้ทำการทดสอบกับนักเรียนของเขาเองจำนวน 86 คน ที่ได้รับของขวัญช่วงต้นปี
โดยแบ่งการสอบถามออกเป็น 2 ข้อ
ข้อแรก คือ ให้แต่ละคนลองประเมินมูลค่าราคาของของขวัญที่ได้รับ
ข้อที่ 2 คือ ให้ประเมินมูลค่าที่จะยอมจ่าย เพื่อซื้อของขวัญชิ้นนั้น โดยตัดความรู้สึกดี ๆ ที่ได้รับของขวัญออกไป
จุดประสงค์ เพื่อประเมินมูลค่าต่ำที่สุดของของขวัญที่พวกเขาจะยอมรับ (Minimum Accept)
ที่น่าสนใจคือ ผลลัพธ์ที่ออกมาระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้ว หากของขวัญชิ้นนั้นมีราคา 100 บาท
นักเรียนจะยอมจ่าย เพื่อซื้อสินค้าชิ้นนั้นเอง เพียง 70 บาท
แต่หากเลือกรับเงินแทนของขวัญได้ จะอยากได้เงิน 90 บาท มาชดเชย
นั่นหมายความว่า ของขวัญราคา 100 บาทนี้
จะมีมูลค่าลดลงทันที 10-30 บาท เมื่อไปอยู่ในมือของผู้รับ
และมูลค่า 10-30 บาทที่หายไป จุดนี้เองที่กลายเป็นส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นคุณ Waldfogel จึงได้เสนอแนวทางการให้ของขวัญ ที่จะช่วยลดส่วนสูญเสียทางเศรษฐกิจนี้
นั่นคือ การให้ของขวัญเป็นเงินสด, บัตรของขวัญ หรือคูปองเงินสดแทน
หรือใช้วิธีถามผู้รับของขวัญโดยตรงว่าอยากได้อะไร แล้วไปซื้อของชิ้นนั้นให้
เพื่อจะได้เลือกซื้อของขวัญที่ตรงใจผู้รับ ช่วยให้มูลค่าของของขวัญไม่ถูกลดทอน หรือสูญเปล่าประโยชน์ไป
อ่านมาถึงตรงนี้ ต้องบอกว่าแนวคิด Scroogenomics
ไม่ได้เป็นการกล่าวโทษว่า การมอบของขวัญเป็นสิ่งที่ไม่ดี
เพียงแต่เป็นการนำเสนอให้เห็นอีกมุมหนึ่ง ในการให้ของขวัญที่ผู้รับจะนำไปใช้งานอย่างคุ้มค่าที่สุด
นอกจากนี้ การให้ของขวัญแก่กัน อาจไม่ได้มีความสำคัญในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เพราะเหนือสิ่งอื่นใดแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ
มิตรภาพและความสุข ระหว่างผู้ให้และผู้รับ
ที่มีมูลค่ามากเกินกว่าจะตีเป็นราคา ต่างหาก..
-----------------------------------------------
(ad)กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป (TANACHIRA) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวพรรณ สปาแบบองค์รวมรายแรกในไทยภายใต้แบรนด์ HARNN (หาญ), VUUDH (วุฒิ), HARNN Heritage Spa (หาญ เฮอริเทจสปา) และ SCape by HARNN (เอสเคป บาย หาญ) มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและในภูมิภาคกว่า 165 สาขา ภายใต้แนวคิด “Bring the Best of the Brand to the Best of Thailand”

https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA
-----------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.