รู้จัก แพลตฟอร์ม ที่ช่วยให้นักเขียนมีรายได้ ด้วยการตีพิมพ์หนังสือ ขายทั่วโลก
Business

รู้จัก แพลตฟอร์ม ที่ช่วยให้นักเขียนมีรายได้ ด้วยการตีพิมพ์หนังสือ ขายทั่วโลก

12 ม.ค. 2023
รู้จัก แพลตฟอร์ม ที่ช่วยให้นักเขียนมีรายได้ ด้วยการตีพิมพ์หนังสือ ขายทั่วโลก /โดย ลงทุนเกิร์ล
จากการศึกษาของ Statista พบว่า เกือบ 1 ใน 5 ของคนอเมริกันมีงานอดิเรกคือ “การเขียน”
แต่จะดีแค่ไหน ถ้ากิจกรรมที่ทำให้เรามีความสุข ช่วยเพิ่มรายได้ในกระเป๋าในระหว่างทางไปด้วย
โดยทุกวันนี้ เราสามารถตีพิมพ์งานเขียน อย่างรวดเร็วทันใจภายในไม่กี่นาที และเข้าถึงนักอ่านได้ทั่วโลก ผ่านแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “Kindle Direct Publishing”
แล้วโมเดลของ Kindle Direct Publishing น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
Kindle Direct Publishing หรือ KDP เป็นแพลตฟอร์มภายใต้บริษัท Amazon ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2007
ซึ่ง KDP เปิดโอกาสให้คนทั่วไป สามารถนำงานเขียนของตนมาตีพิมพ์ได้ ทั้งในรูปแบบของหนังสือรูปเล่ม และแบบ E-Book
โดยหนังสือเหล่านี้จะถูกวางขายบนเว็บไซต์ Amazon เว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ที่น่าสนใจคือ เจ้าของผลงานยังได้รับค่าตอบแทน สูงสุดถึง 70% ของราคาขาย เลยทีเดียว
สำหรับขั้นตอนการใช้บริการ KDP
เริ่มจากกรอกข้อมูล, ตั้งราคา แล้วอัปโหลดไฟล์งานเขียนเข้าสู่ระบบ
โดยเกณฑ์ของงานเขียน ก็ไม่ได้มีเงื่อนไขอะไรมากนัก
เพียงแค่ความยาวของงานเขียน ต้องมีจำนวนอย่างน้อย 24 หน้า และเป็นหนึ่งใน 46 ภาษาที่ KDP รองรับเท่านั้น
ซึ่งก็น่าเสียดายที่ปัจจุบัน KDP ยังไม่รองรับภาษาไทย
หลังจาก อัปโหลดไฟล์งานเขียนของเราเข้าสู่ระบบ
ก็จะสามารถเลือกตีพิมพ์ได้ ทั้งในรูปแบบของหนังสือรูปเล่ม และ E-Book
โดยในส่วนนี้ KDP ยังมีบริการเสริมอื่น ๆ ด้วย เช่น
-ออกแบบปกหนังสือ
-พิสูจน์อักษร
-จัดหน้ากระดาษ
สำหรับการตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม KDP จะใช้วิธี “Print On Demand” หมายความว่า หนังสือเล่มนั้นจะถูกตีพิมพ์ ต่อเมื่อมีลูกค้ากดซื้อเท่านั้น
ซึ่งทาง KDP จะทำการผลิตหนังสือรูปเล่ม และจัดส่งให้ลูกค้าทั้งหมด
จุดนี้เองที่กลายเป็นข้อดี ที่ทำให้เจ้าของผลงาน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการโปรโมตหนังสือ, ไม่จำเป็นต้องบริหารสต็อกหนังสือ อีกทั้งยังไม่ต้องจัดพิมพ์ และส่งให้ลูกค้าเอง
พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มมีคำถามว่า
แล้วแบบนี้ ลิขสิทธิ์หนังสือจะเป็นของใคร ?
คำตอบคือ ลิขสิทธิ์หนังสือ ยังเป็นของนักเขียน
ทำให้สามารถวางขายผลงานที่อื่น หรือบนเว็บไซต์อื่นได้
อย่างไรก็ดี Amazon ก็มีโปรแกรม KDP Select
สำหรับผลงานรูปแบบ E-Book ที่ตั้งใจจะวางขายเฉพาะบน KDP เท่านั้น
โดยเจ้าของผลงานในโปรแกรม KDP Select จะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น นั่นเอง
คำถามต่อมาคือ KDP มีเกณฑ์การแบ่งค่าตอบแทนอย่างไร ?
สำหรับ ค่าตอบแทนของการตีพิมพ์หนังสือรูปเล่ม จะเป็นอัตราคงที่ 60%
หรือทุก ๆ การขาย 100 บาท เราจะได้รับส่วนแบ่ง 60 บาท ในขณะที่ Amazon จะได้รับส่วนแบ่ง 40 บาทไป
ส่วนทางด้าน E-Book จะมีแพ็กเกจค่าตอบแทนให้นักเขียน 2 แบบ ได้แก่
แบบที่ 1 คือ 35% ของราคาขาย
แบบที่ 2 คือ 70% ของราคาขาย ซึ่งในรูปแบบนี้จะยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ตามมา
ทั้งนี้ มีรายงานว่า Amazon จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับนักเขียนสูงถึงปีละ 8,650 ล้านบาท และในปี 2021 มีนักเขียนกว่า 1,000 คนที่มีรายได้จาก KDP สูงถึงเกือบ 3.5 ล้านบาท
ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือ ปัจจุบัน ยอดขายหนังสือ KDP
ยังนับเป็น 31% ของยอดขาย E-Book ทั้งหมดของ Amazon
และทั้งหมดนี้คือโมเดลของ KDP ที่ Amazon พยายามสร้าง Ecosystem บนแพลตฟอร์มของตัวเองให้ได้มากที่สุด
โดยมีจุดเด่นเรื่องการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการให้บริการ และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ดี
จึงไม่แปลกใจที่แพลตฟอร์มนี้ กลายเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และครองตลาด E-Book ถึง 80% ในปัจจุบัน..
--------------------------------------------------------
(ad)กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป พุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิกซอว์เทรนด์ไลฟ์สไตล์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการร้าน Marimekko Pop-Up Café คาเฟแห่งแรกในโลก พร้อมเดินหน้าปูทางธุรกิจ F&B ภายใต้แบรนด์อื่นในเครือ หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า Gen Y - Gen Z มากขึ้น
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #MarimekkoCafeThailand
--------------------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.