ธุรกิจ “กริ่งประตู” ที่เคยโดนปฏิเสธเงินลงทุน 23 ล้าน แต่ผ่านไป 5 ปี มีมูลค่า 33,000 ล้าน
Business

ธุรกิจ “กริ่งประตู” ที่เคยโดนปฏิเสธเงินลงทุน 23 ล้าน แต่ผ่านไป 5 ปี มีมูลค่า 33,000 ล้าน

16 ก.พ. 2023
ธุรกิจ “กริ่งประตู” ที่เคยโดนปฏิเสธเงินลงทุน 23 ล้าน แต่ผ่านไป 5 ปี มีมูลค่า 33,000 ล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
ถ้าวันนี้ มีคนมาขอเงินลงทุน จากเรา 23 ล้านบาท
แล้วบอกว่า อีก 5 ปีต่อมา เราจะได้เงินกลับมา 3,300 ล้านบาท
ทุกคนคิดว่า น่าสนใจไหมคะ ?
แน่นอนว่า มันคงเป็นดีลที่ใครก็คงไม่กล้าปฏิเสธ
แต่น่าเสียดายที่ตอนนั้นเจ้าของบริษัทกริ่งประตูอัจฉริยะ ที่ชื่อว่า “Ring” ไม่ได้บอกกับเหล่านักลงทุนในรายการ Shark Tank แบบนั้น เพราะเขาเองก็คงไม่รู้เช่นกันว่า สินค้าที่คิดขึ้นในโรงรถ และบริษัทที่ใกล้เจ๊ง จะสามารถไปเตะตา บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ให้มาซื้อกิจการด้วยเงินจำนวนมหาศาลขนาดนี้ได้..
แล้วเรื่องราวของ Ring เป็นมาอย่างไร ?
และทำไม Amazon ถึงอยากเข้ามาซื้อกิจการ Ring ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
Ring ถือกำเนิดขึ้นในปี 2012 หรือเมื่อ 11 ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้นยังใช้ชื่อว่า Doorbot
โดยคุณ Jamie Siminoff ได้ออกแบบกริ่งประตู ที่มีฟังก์ชันล้ำ ๆ มากกว่าเอาไว้แค่ส่งเสียงกริ่งแบบเดิม ด้วยการพัฒนาให้กริ่งประตู สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟน ผ่าน Wi-fi พร้อมกับติดกล้องไว้ที่ตัวกริ่ง
เพื่อที่เราจะสามารถเห็นหน้าตา และพูดคุยกับคนที่มากดกริ่งได้ โดยไม่ต้องเดินไปที่ประตู
แม้ว่าไอเดียจะดี แต่หลังจากที่เขาเริ่มนำไปวางขาย มันกลับขายไม่ได้เลย..
ซึ่งปัญหาของเรื่องนี้มันอยู่ที่ ราคาสินค้า ซึ่งตั้งไว้สูงถึง 6,500 บาท และในตอนนั้น Ring ก็ยังเป็นเพียงแบรนด์โนเนมที่ไม่มีใครรู้จัก ซ้ำร้าย..เงินทุนของคุณ Siminoff ก็เริ่มร่อยหรอ เพราะเขาดันทุ่มสุดตัว ไปกับการสั่งผลิตสินค้าล็อตแรกถึง 5,000 ชิ้น มาจากโรงงานในไต้หวัน
เมื่อสถานการณ์เริ่มชักหน้าไม่ถึงหลัง
คุณ Siminoff จึงตัดสินใจไปออกรายการ Shark Tank
ซึ่งเป็นรายการเรียลิตีที่เปิดโอกาสให้นักธุรกิจ มานำเสนอธุรกิจต่อหน้านักลงทุน เพื่อระดมทุนไปต่อยอดธุรกิจ
โดยเขายื่นข้อเสนอขอเงินทุน 23 ล้านบาท เพื่อแลกกับหุ้นของบริษัท 10%
ซึ่งนี่หมายความว่า คุณ Siminoff ตีมูลค่าธุรกิจของเขาไว้สูงถึง 230 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่สินค้าแทบจะขายไม่ได้เลยในตอนนั้น
แน่นอนว่า เหล่านักลงทุนต่างพากันปฏิเสธข้อเสนอของคุณ Siminoff..
เนื่องจาก เหล่านักลงทุนยังไม่มั่นใจว่า ธุรกิจนี้ต้องใช้เงินทุนมากเท่าไร ถึงจะเพียงพอให้บริษัทสามารถเติบโตได้ และยังมองว่า เทคโนโลยีแนว ๆ นี้ สามารถถูกบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ ๆ เลียนแบบได้อย่างง่ายดาย
และถึงแม้ว่า หนึ่งในนักลงทุนของ Shark Tank จะสนใจที่จะให้เงินลงทุน แต่ก็ต้องแลกกับการแบ่งเปอร์เซ็นต์จากยอดขายให้เขาตลอดไป จึงทำให้คุณ Siminoff เลือกที่จะไม่รับข้อเสนอนี้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เงินลงทุนกลับมา
แต่สินค้าของคุณ Siminoff กลับไม่ใช่สินค้าโนเนมอีกต่อไป
เพราะได้พื้นที่โฆษณาสินค้าไปเต็ม ๆ
จนทำให้หลังจากรายการออนแอร์ไป ก็มีคนเข้ามาสั่งซื้อกริ่งประตู Ring กันอย่างล้นหลาม และทำยอดขายได้ มากกว่า 33 ล้านบาท ภายในระยะเวลาแค่ 1 เดือน
แต่เหมือนโชคชะตาเล่นตลก เพราะกริ่งประตูอัจฉริยะ กลับถูกลูกค้าที่ซื้อไปวิจารณ์กลับมา แบบไม่ไยดี ทั้งคุณภาพสินค้าแย่ เสียงอู้อี้ฟังไม่ชัด และระบบเชื่อมต่อ Wi-fi ที่ห่วยแตก
แม้คำวิจารณ์จากลูกค้าจะรุนแรงจนบั่นทอนจิตใจ
แต่คุณ Siminoff กลับเลือกที่จะตอบกลับลูกค้า ด้วยความใจเย็น
และเข้าไปแก้ปัญหาให้ถึงที่บ้าน
อย่างไรก็ตาม ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี
เมื่อคุณ Siminoff ได้รับข้อเสนอจาก “Foxconn” บริษัทด้านชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของไต้หวัน ที่มีลูกค้ารายสำคัญ อย่าง Apple, PlayStation และ Nintendo
โดยทาง Foxconn ได้เสนอให้คุณ Siminoff มาร่วมกันพัฒนา และปรับปรุงสินค้าให้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ กริ่งประตูอัจฉริยะที่มีคุณภาพมากขึ้น แต่ราคากลับถูกลงถึงครึ่งหนึ่ง โดยเหลือเพียง 3,300 บาท
เมื่อสินค้าได้รับการปรับปรุง คุณ Siminoff จึงใช้กลยุทธ์การตลาด “ทดลองให้ใช้ฟรี” เพื่อหาทางโปรโมตสินค้าของเขาอีกครั้ง
โดยคุณ Siminoff ได้ติดต่อไปทางกรมตำรวจในลอสแอนเจลิส เพื่อขอนำกริ่งของเขาไปติดในพื้นที่ชุมชน Wilshire Park ซึ่งเป็นย่านที่มักมีเหตุย่องเบา และลักขโมยอยู่บ่อยครั้ง
ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ ภายใน 6 เดือน การงัดแงะ ลดลงไปถึง 55% แม้ว่ากริ่งจะถูกติดตั้งอยู่เพียง 10% ของพื้นที่ชุมชนเท่านั้น
มาถึงตอนนี้ กริ่งประตูอัจฉริยะของ Ring ก็เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเรื่อย ๆ จากคุณภาพที่ถูกบอกต่อกันแบบปากต่อปาก
จนในปี 2018 Ring ก็ครองส่วนแบ่งการตลาดกริ่งประตูอัจฉริยะในประเทศ ไปกว่า 97% เลยทีเดียว
และในปีเดียวกันนี้ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก อย่าง Amazon ก็ได้เข้าซื้อกิจการ Ring ด้วยมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท
ซึ่งดีลนี้ถือเป็นดีลใหญ่ อันดับ 2 ของ Amazon ในปีนั้นเลยทีเดียว
โดยเหตุผลสำคัญที่ Amazon เข้าซื้อกิจการ Ring ก็เพื่อเป็นการขยายอาณาจักรอุปกรณ์ Smart Home ให้สามารถเข้าไปชิงส่วนแบ่งจากคู่แข่ง ทั้ง Google, Samsung และ Apple
ซึ่งในภายหลัง บริษัท Amazon ก็ได้เข้ามาพัฒนากริ่งประตู Ring ให้ยิ่งล้ำหน้ามากขึ้น โดยเราสามารถสั่งเปิด-ปิดประตูบ้านได้ง่าย ๆ เพียงแค่สั่งการด้วยเสียง รวมถึงยังทำให้ Ring เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการเสริม Ecosystem ของ Amazon
เรียกได้ว่า Amazon ไม่ได้จ่ายเงินแค่เพื่อซื้อเทคโนโลยีจาก Ring เท่านั้น
แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ Amazon ยังได้ “ฐานลูกค้า” และ “ข้อมูลของผู้ใช้งาน” จำนวนมหาศาลจาก Ring อีกด้วย
และทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องราวของ Ring
ธุรกิจกริ่งประตู ที่เกือบจะไปไม่รอด
ทั้งเงินทุนหมด และยังถูกนักลงทุนปฏิเสธ
จนทำให้เรานึกถึงประโยคที่ว่า
“เมื่อประตูบานหนึ่งปิดลง
ประตูอีกบานจะเปิดขึ้น
ซึ่งหลายคนมักจะเฝ้ามอง แค่ประตูบานที่ปิดไปแล้วเป็นเวลานาน
จนมองไม่เห็นประตูอีกบานที่เปิดรอเราอยู่
ดังนั้น หากในวันนี้ธุรกิจของเราไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
อย่ามัวจมอยู่กับความผิดหวัง จนไม่ทันเห็นโอกาสใหม่ที่อาจดีกว่าเดิม เหมือนอย่าง Ring ก็เป็นได้..
-------------------------------------------------------
(ad)กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป เดินหน้าขยายธุรกิจหาญ เวลเนสแอนด์ฮอสพิทอลลิตี้ (HARNN Wellness & Hospitality) ครอบคลุมทั้งเวลเนสและสปาภายในประเทศและต่างประเทศในระดับ Regional สร้างให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักและสร้างความภูมิใจในระดับสากลรวมกว่า 16 สาขาทั่วภูมิภาค
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #HARNN #SCapebyHARNN
-------------------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.