กรณีศึกษา ดิสนีย์เกือบเลิกทำแอนิเมชัน ถ้าไม่มีเครื่อง Xerox
Business

กรณีศึกษา ดิสนีย์เกือบเลิกทำแอนิเมชัน ถ้าไม่มีเครื่อง Xerox

17 ก.พ. 2023
กรณีศึกษา ดิสนีย์เกือบเลิกทำแอนิเมชัน ถ้าไม่มีเครื่อง Xerox /โดย ลงทุนเกิร์ล
รู้หรือไม่ว่า สโนว์ไวท์ เป็นแอนิเมชันที่ทำเงินมหาศาล จนดิสนีย์มีเงินไปสร้างสตูดิโอแห่งใหม่ แถมยังต้องสร้างเสาอาคารเป็นรูปคนแคระทั้ง 7 ที่กำลังแบกอาคาร เพื่อเป็นการย้ำเตือนถึงความสำเร็จที่มาจากแอนิเมชันเรื่องนี้
แต่พอมาถึงยุคของ “เจ้าหญิงนิทรา” แอนิเมชันเรื่องนี้กลับขาดทุน จนเกือบจะทำให้สตูดิโอแอนิเมชันดิสนีย์ไม่ได้ไปต่อ
แล้วสาเหตุการขาดทุนของเรื่องนี้ เกิดจากอะไร ?
และดิสนีย์แก้ปัญหานี้ ด้วยเครื่อง Xerox ได้อย่างไร ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ถ้าพูดถึงการทำแอนิเมชันเมื่อ 86 ปีที่แล้ว
ทีมงานดิสนีย์ต้องวาดภาพด้วยมือ ลงบนแผ่นเซลลูลอยด์โปร่งใสทีละแผ่น แล้วนำไปลงสี ก่อนจะวางซ้อนลงบนภาพแบ็กกราวนด์ จากนั้นก็ใช้กล้องบันทึกภาพแต่ละช็อต แล้วจึงนำมาเรียงลำดับภาพ ฉายต่อเนื่องกัน ให้แต่ละตัวละครดูเหมือนกำลังเคลื่อนไหว รวมถึงจัดวางองค์ประกอบฉากในแต่ละซีนให้ดูมีมิติใกล้-ไกล เพื่อความสมจริงมากขึ้น
ด้วยความยากของการผลิตนั่นเอง ทำให้ในปีที่ดิสนีย์ปล่อยภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรก นาน 83 นาที อย่างเรื่อง “สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด” จึงถือเป็นการปฏิวัติวงการแอนิเมชันเลยก็ว่าได้
โดยแอนิเมชันเรื่อง สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ใช้เวลาในการผลิตถึง 3 ปี และใช้ศิลปินกว่า 750 คน สร้างภาพสเกตช์มากกว่า 2 ล้านภาพ
รวมถึงใช้ทุนสร้างถึง 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเมื่อปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้ว จะมีมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาทในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด ก็ไม่ทำให้ดิสนีย์ผิดหวัง
เพราะภายใน 2 ปี ภาพยนตร์เรื่องนี้ ก็กวาดรายได้ไปถึง 8.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นรายได้สูงสุดที่ภาพยนตร์แอนิเมชันเคยทำได้ในตอนนั้น
ถือเป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จ ในการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็น พิน็อคคิโอ, ซินเดอเรลล่า และปีเตอร์แพน
จนกระทั่ง 22 ปีต่อมา..
ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง “เจ้าหญิงนิทรา” ในปี 1959 ที่ทำให้ดิสนีย์เริ่มเกิดปัญหา
โดยดิสนีย์ ใช้ระยะเวลาในการผลิตแอนิเมชันเรื่อง เจ้าหญิงนิทรา นานกว่า 6 ปี แถมใช้ทุนสร้างสูงถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,000 ล้านบาทในปัจจุบัน ซึ่งเป็นภาพยนตร์ดิสนีย์ที่ใช้ทุนสร้างสูงสุดในยุคนั้น
แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้กลับ ทำรายได้เพียง 5.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังนำไปสู่ผลขาดทุนประจำปี เป็นครั้งแรกของดิสนีย์ ในปี 1960 อีกด้วย
ซึ่งการขาดทุนครั้งนี้ ทำให้แผนกแอนิเมชันของดิสนีย์ต้องปลดพนักงานครั้งใหญ่ จาก 551 คน เหลือเพียง 75 คน
แม้กระทั่งน้องชายของคุณวอลท์ ดิสนีย์ ยังพยายามโน้มน้าวให้บริษัทปิดสตูดิโอแอนิเมชันไปด้วยซ้ำ
โดยจุดเปลี่ยนของเรื่องนี้ เกิดจากการที่วงการภาพยนตร์ ได้คิดค้นระบบภาพยนตร์ 70 มม. ทำให้เฟรมภาพมีขนาดใหญ่และกว้างขึ้น
ซึ่งขนาดหน้าจอที่กว้างขึ้นนี้เอง ทำให้ดิสนีย์ต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตนานกว่าเดิม
จากก่อนหน้านี้ ใช้ระยะเวลาการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ปี กลายเป็น 6 ปี ส่งผลกระทบถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว
อย่างไรก็ดี ดิสนีย์ก็ยังไม่ยอมแพ้ต่อวงการแอนิเมชัน
และมีอัศวินขี่ม้าขาวอย่าง “เทคโนโลยี Xerox” เข้ามาช่วยได้อย่างทันท่วงที
โดยดิสนีย์นำเทคโนโลยี Xerox หรือกระบวนการถ่ายเอกสารมาใช้ในการผลิต
ทำให้สามารถสแกนภาพวาดลงบนแผ่นเซลลูลอยด์ได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องคัดลอกด้วยมือทีละแผ่นอีกต่อไป
ช่วยให้ปริมาณงานของนักวาดภาพลดลงอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังช่วยย่นระยะเวลา และลดต้นทุนการผลิตลงอย่างมาก
สำหรับภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องแรกที่ดิสนีย์ใช้เทคโนโลยี Xerox ในการผลิตเป็นหลัก ก็คือเรื่อง “101 Dalmatians”
ซึ่งกลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในปี 1961 และยังเป็นภาพยนตร์ที่ดิสนีย์ทำ “กำไร” ในอัตราที่สูงกว่าเรื่องก่อน ๆ เนื่องจากต้นทุนในการผลิตที่ลดลงไปได้สูงมาก
ที่สำคัญ ดิสนีย์ยังใช้เวลาในการผลิตเพียง 2 ปี ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก เมื่อเทียบกับรายละเอียดอย่างลูกสุนัขดัลเมเชียนถึง 99 ตัว
รวมถึงใช้ทุนสร้างเพียง 3.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงไปถึง 40% เลยทีเดียว
จากนั้น ดิสนีย์ก็ใช้เทคโนโลยี Xerox มาช่วยในการผลิตแอนิเมชันต่ออีกถึง 30 ปี
สร้างภาพยนตร์​​เรื่องโปรดของหลาย ๆ คน อีกมากมาย เช่น “เมาคลีลูกหมาป่า” (The Jungle Book) และ “แมวเหมียวพเนจร” (The Aristocats)
ไปจนถึง “เงือกน้อยผจญภัย” (The Little Mermaid) ในปี 1989 เป็นเรื่องสุดท้าย ก่อนที่ดิสนีย์จะเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยี “Computer Animation Production System” ที่ทันสมัยขึ้นนั่นเอง..
ทั้งหมดนี้ ก็คือ กรณีศึกษาจากดิสนีย์ บริษัทที่เคยประสบปัญหาขาดทุน จนเกือบต้องล้มเลิกในการทำแอนิเมชัน
และต้องบอกว่า ถ้าในวันนั้น ภาพยนตร์เรื่องเจ้าหญิงนิทราไม่ขาดทุนย่อยยับ พนักงานของดิสนีย์ก็อาจจะยังต้องนั่งวาดภาพทีละแผ่น หรือหลายล้านแผ่น กันไปอีกนานเลยทีเดียว..
----------------------------------------------------
(ad)กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป พุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิกซอว์เทรนด์ไลฟ์สไตล์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จ และได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการร้าน Marimekko Pop-Up Café คาเฟแห่งแรกในโลก พร้อมเดินหน้าปูทางธุรกิจ F&B ภายใต้แบรนด์อื่นในเครือ หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า Gen Y - Gen Z มากขึ้น
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #MarimekkoCafeThailand
----------------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.