สรุป 3 เรื่องที่มักเข้าใจผิด เกี่ยวกับ “เครดิตบูโร”
Business

สรุป 3 เรื่องที่มักเข้าใจผิด เกี่ยวกับ “เครดิตบูโร”

27 ก.พ. 2023
สรุป 3 เรื่องที่มักเข้าใจผิด เกี่ยวกับ “เครดิตบูโร” /โดย ลงทุนเกิร์ล
-ติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร ทำให้กู้ไม่ผ่าน ?
-มีคนสามารถขอลบประวัติในเครดิตบูโรได้ ?
-ขอดูเครดิตบูโรบ่อย ส่งผลต่อการขอสินเชื่อ ?
รู้หรือไม่ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใครหลาย ๆ คน มักเข้าใจผิดกัน
แล้วข้อเท็จจริงของเรื่องราวเหล่านี้เป็นอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ล จะสรุปให้ฟัง
เริ่มด้วยเรื่องที่คนมักเข้าใจผิดมากที่สุดอย่าง “เครดิตบูโรเป็นผู้ให้แบล็กลิสต์ ทำให้กู้เงินไม่ผ่าน”
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า เครดิตบูโร ไม่เคยขึ้นแบล็กลิสต์หรือขึ้นบัญชีดำให้กับใคร และไม่มีอำนาจที่จะทำแบบนั้นด้วย
แล้วเครดิตบูโร ทำหน้าที่อะไรบ้าง ?
“เครดิตบูโร” หรือ “บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด” จัดตั้งขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลประวัติการจ่ายหนี้ของคนไทย
โดยข้อมูลนั้นจะมาจากผู้ให้บริการทางการเงินอย่างธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ บริษัทลิสซิ่งเช่าซื้อ นอนแบงก์ ฯลฯ ที่เป็นสมาชิกของเครดิตบูโร ซึ่งมีหน้าที่ส่งข้อมูลให้กับเครดิตบูโรเก็บไว้เป็นประจำทุก ๆ เดือน
หน้าที่จริง ๆ ของเครดิตบูโร คือเก็บประวัติการชำระหนี้ของคนไทยเอาไว้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ให้บริการทางการเงิน ใช้สำหรับวิเคราะห์และประเมินว่าบุคคลที่มาขอกู้เงินนั้น มีพฤติกรรมการจ่ายหนี้อย่างไร ตรงเวลาหรือไม่ เพื่อประกอบการพิจารณาในการให้สินเชื่อ
ซึ่งประวัติการจ่ายหนี้ของเราจะเป็นไปตาม “สิ่งที่เกิดขึ้นจริง” และไม่สามารถแก้ไขได้
โดยจะมีทั้งประวัติการขอและอนุมัติเงินกู้ การชำระหนี้ ประวัติการจ่ายค่าสินค้าหรือบริการโดยบัตรเครดิต และสถานะบัญชีของแต่ละคน เช่น
สถานะ 0 = ไม่ค้างชำระ หรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน
สถานะ 1 = ค้างชำระ 31-60 วัน
สถานะ 2 = ค้างชำระ 61-90 วัน
สถานะ 3 = ค้างชำระ 91-120 วัน
สถานะ 9 = ค้างชำระ 271-300 วัน
สถานะ F = ค้างชำระมากกว่า 300 วัน
รวมถึงข้อมูลช่วงคะแนน และระดับคะแนนเครดิตของแต่ละคน พร้อมเหตุผลประกอบของการให้คะแนนเครดิต เช่น
ช่วงคะแนน 753-900 ระดับเครดิต AA
ช่วงคะแนน 725-752 ระดับเครดิต BB
ช่วงคะแนน 699-724 ระดับเครดิต CC
โดยข้อมูลการจ่ายหนี้ของแต่ละคน ที่ปรากฏในเครดิตบูโร จะถูกอัปเดตทุกเดือน โดยข้อมูลเดือนใหม่ที่เข้ามา ก็จะดันข้อมูลของเดือนเก่าให้หลุดหายไปเรื่อย ๆ และโชว์ประวัติการจ่ายหนี้แค่ 3 ปีปัจจุบันเท่านั้น
เช่น เคยค้างชำระหนี้เป็นเวลา 40 วัน ในเดือน ม.ค. 66 ก็จะขึ้นสถานะ 1
และเมื่อเรากลับมาจ่ายหนี้ตรงตามปกติ ในเดือนต่อมาบัญชีจะกลับไปเป็นสถานะ 0
แต่ประวัติของเดือน ม.ค. 66 ก็ยังจะแสดงว่าคุณเคยค้างชำระหนี้ในเดือนนั้นมาก่อน และข้อมูลนี้จะยังโชว์อยู่จนกว่าจะครบ 36 เดือนหรือ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่เราเคยค้างชำระ
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นี่เอง ที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่สถาบันการเงินจะนำไปใช้ในการพิจารณาร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ ของลูกค้า เช่น รายได้ ความสามารถในการชำระหนี้คืน อาชีพ อายุ หลักประกัน ฯลฯ เพื่อตัดสินใจว่าจะอนุมัติ หรือปฏิเสธการให้สินเชื่อ หรือออกบัตรเครดิตให้ นั่นเอง
ดังนั้นที่บอกว่า กู้ไม่ได้ เพราะเครดิตบูโร จึงไม่ได้หมายความว่า เครดิตบูโรเป็นผู้ขึ้นแบล็กลิสต์กับผู้กู้ที่มีประวัติการชำระหนี้ไม่ดี
เพราะอำนาจในการตัดสินใจนั้น อยู่ที่แต่ละสถาบันการเงิน
และข้อมูลจากเครดิตบูโร เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สถาบันการเงินนำไปพิจารณา
ซึ่งสถาบันการเงิน อาจพบว่า ประวัติการชำระหนี้ที่ปรากฏในเครดิตบูโรของผู้กู้ ไม่ตรงตามเกณฑ์การให้สินเชื่อ เลยไม่อนุมัติให้นั่นเอง
เรื่องต่อมาคือ เข้าใจว่าเครดิตบูโรสามารถลบประวัติได้ แต่ความจริง ข้อมูลเหล่านี้ลบไม่ได้
เนื่องจากเครดิตบูโรไม่มีนโยบาย หรือร่วมกับบุคคลใดในการช่วยเคลียร์หนี้ ชำระหนี้ หรือเจรจากับสถาบันการเงินแทนลูกหนี้ เพราะเครดิตบูโรมีหน้าที่เก็บข้อมูลตามที่เล่าไปข้างต้นเท่านั้น
โดยกรณีเดียวที่จะสามารถแก้ไขข้อมูลประวัติการชำระหนี้ในเครดิตบูโรได้คือ พบว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่ผิด
หากพบว่าข้อมูลในเครดิตบูโรไม่ตรงกับความเป็นจริง
เรามีสิทธิ์ยื่นคำขอตรวจสอบ หรือแก้ไขข้อมูลเครดิตได้ ที่ส่วนดูแลและให้คำปรึกษาลูกค้า ที่ศูนย์ตรวจสอบเครดิตบูโร เพื่อแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องได้
และเรื่องสุดท้ายคือ เข้าใจว่า การขอเช็กประวัติเครดิตบูโรบ่อย ๆ จะทำให้ขอสินเชื่อได้ยาก ซึ่งไม่เป็นความจริง
การเช็กประวัติเครดิตบูโร ก็คือการเรียกดูประวัติการชำระหนี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเราที่ขอดูเครดิตบูโรของตัวเอง จากช่องทางต่าง ๆ หรือผู้ให้บริการทางการเงินเรียกดู เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาสินเชื่อ
ข้อมูลเครดิตบูโรก็ยังเป็นข้อมูลตามความจริงเหมือนเดิม
ดังนั้น จะตรวจเครดิตบูโรกี่ครั้ง ก็ไม่มีผลในการพิจารณาขอสินเชื่อ
ในทางตรงกันข้าม การเข้าไปตรวจดูเครดิตบูโรของตัวเอง กลับช่วยให้เราเห็นภาพรวมในการชำระหนี้ของตัวเอง และสามารถบริหารจัดการได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
-ดูเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนขอสินเชื่อ
-เช็กว่าเรามี “หนี้งอก” โดยที่เราไม่ได้ก่อหรือไม่
-เช็กให้ชัวร์ว่า เรามีประวัติค้างชำระหรือไม่
-เช็กว่าข้อมูลสินเชื่อ และข้อมูลส่วนบุคคลของเราถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้อง สามารถขอแก้ไขได้
-เช็กหลังจากที่จ่ายหนี้หมดแล้ว เพื่อตรวจสอบสถานะข้อมูลเครดิตว่าขึ้นเป็นปิดบัญชี หรือยอดหนี้เป็นศูนย์ถูกต้องหรือไม่
ทั้งนี้สามารถเช็กวิธีการตรวจสอบเครดิตบูโรด้วยตัวเองได้ที่ https://bit.ly/3Kcuson
สรุปได้ว่า
เครดิตบูโร เป็นเพียงเครื่องมือ สะท้อนการชำระหนี้ของเรา และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
แต่สิ่งที่เราควรจะต้องระวังให้ดี ก็คือ
พฤติกรรมการใช้จ่าย และการชำระหนี้ ที่จะทำให้ประวัติเครดิตบูโรของเรา ออกมาไม่ดีนั่นเอง..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.