รู้จัก “ผู้ก่อตั้งดุสิตธานี” ในวันที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนในประเทศ สร้างโรงแรมยักษ์ใหญ่มาก่อน
history

รู้จัก “ผู้ก่อตั้งดุสิตธานี” ในวันที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนในประเทศ สร้างโรงแรมยักษ์ใหญ่มาก่อน

3 มี.ค. 2023
รู้จัก “ผู้ก่อตั้งดุสิตธานี” ในวันที่ไม่มีผู้หญิงคนไหนในประเทศ สร้างโรงแรมยักษ์ใหญ่มาก่อน /โดย ลงทุนเกิร์ล
หลายคนอาจไม่รู้ว่า ดุสิตธานี คือ เชนโรงแรมระดับตำนานของไทย ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ไว้มากมาย เช่น
อดีตตึกที่สูงที่สุดในประเทศไทย
และยังเป็น 1 ใน 5 บริษัทแรก ที่อยู่ใน “ตลาดหุ้น” นานที่สุดอีกด้วย
ซึ่งผู้ที่วางรากฐานให้กับความสำเร็จสุดยิ่งใหญ่เหล่านี้ ก็คือ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย”
นักธุรกิจหญิง ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการโรงแรมมาก่อน แต่กลับเป็นผู้หญิงไทยคนแรก ที่สร้างโรงแรมยักษ์ใหญ่ ด้วยวัยเพียง 28 ปีเท่านั้น
แล้วเรื่องราวของท่านผู้หญิงชนัตถ์ น่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง..
สำหรับในปัจจุบัน การที่ผู้หญิงสร้างโรงแรมสักแห่ง อาจฟังดูไม่ได้แปลกอะไร
แต่ถ้าหากเราย้อนกลับไปเมื่อ 75 ปีที่แล้ว
เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่มากในสังคมไทย
เนื่องจากสมัยก่อน โลกของธุรกิจเป็นโลกของผู้ชาย
โดยบทบาทของผู้หญิง มักจะถูกจัดให้ดูแลความเรียบร้อยภายในบ้าน มากกว่าออกมาทำงานข้างนอก
อีกทั้งนักธุรกิจหญิงในประเทศไทยยุคนั้น ก็มีจำนวนน้อย จนแทบจะนับคนได้ และที่สำคัญก็คือ ยังไม่มีผู้หญิงคนไหนในประเทศ สร้างโรงแรมมาก่อน
ดังนั้น ท่านผู้หญิงชนัตถ์ จึงถือเป็นนักธุรกิจหญิงคนแรก ที่สร้างโรงแรมหรูขนาดใหญ่ ในประเทศไทยเลยก็ว่าได้
โดยจุดเริ่มต้นของการสร้างธุรกิจโรงแรม เกิดขึ้นเมื่อท่านผู้หญิงชนัตถ์ ได้มีโอกาสไปพักที่โรงแรมหลายแห่ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา จนเกิดความประทับใจในการบริการ และเริ่มให้ความสนใจในธุรกิจโรงแรม
และแม้ว่าท่านผู้หญิงชนัตถ์จะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการโรงแรมมาก่อน แต่ท่านก็มีความเชื่อว่า การบริการด้วยเสน่ห์แบบไทย จะทำให้ประเทศไทย กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกได้
แต่ไม่เพียงเท่านั้น.. ท่านผู้หญิงชนัตถ์ยังคิดเผื่อไปถึงภาพรวมของทั้งประเทศว่า ถ้าไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคทองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ องค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย ก็คือ โรงแรมระดับสากล
ดังนั้น ท่านผู้หญิงชนัตถ์ จึงตัดสินใจกลับมาทำธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย โดยเปิดตัวโรงแรมแห่งแรก ซึ่งถือเป็นโรงแรมที่ทันสมัยที่สุดในกรุงเทพฯ ยุคนั้น ในชื่อ “โรงแรมปริ้นเซส” ในปี 2492
แต่เนื่องด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้โรงแรมแห่งนี้ ยังไม่สมบูรณ์เหมือนกับที่ท่านผู้หญิงชนัตถ์ตั้งใจ ทำให้ในปี 2513 จึงเปิดตัวโรงแรมใหม่อีกครั้ง ในชื่อ “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ”
โดย “ดุสิตธานี” มีความหมายมงคลว่า “แดนสวรรค์ชั้นดุสิต” หรือสวรรค์ชั้น 4 ซึ่งเป็นความตั้งใจของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ที่จะสร้างโรงแรมมาตรฐานระดับสากล แต่ยังคงความเป็นไทยไว้
ซึ่งโรงแรมแห่งนี้ ถือเป็นโรงแรมภายใต้ชื่อดุสิตธานีแห่งแรก และเป็นโรงแรมที่สูงที่สุดในขณะนั้น ด้วยตึกทรงสามเหลี่ยมสูง 23 ชั้น
นอกจากนี้ ยังเป็นโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว ที่สะท้อนความเป็นไทยด้วยศิลปะ และการตกแต่งที่โดดเด่น เช่น
ยอดชฎาทอง ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากยอดพระปรางค์ วัดอรุณฯงานเพนต์ลายจิตรกรรมไทยต่าง ๆ ภายในโรงแรม
ที่น่าสนใจก็คือ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ มีการประเมินการก่อสร้างสูงถึง 450 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายเท่า แต่เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถไปต่อได้ ดังนั้นท่านผู้หญิงชนัตถ์ จึงได้ชวนให้กลุ่มเพื่อนสนิทของคุณแม่มาช่วยกันลงทุน
และต้องบอกว่า การลงทุนในครั้งนั้น ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะในยุคนั้น โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เป็นเหมือนจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลก และเป็นต้นแบบของโรงแรมหรูในกรุงเทพฯ หลายแห่งเลยก็ว่าได้
พอต่อมาในปี 2518 ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ก็ตัดสินใจนำดุสิตธานี เข้าจดทะเบียนใน “ตลาดหุ้น” เพื่อระดมทุนสำหรับขยายธุรกิจ
ซึ่งนี่ทำให้ดุสิตธานี กลายเป็น หุ้น “กลุ่มแรก” ของตลาดหุ้นไทย
โดยความสำเร็จเหล่านี้ ไม่ได้มาจากสูตรสำเร็จที่ตายตัว แต่ท่านผู้หญิงชนัตถ์นำอุปสรรคต่าง ๆ ที่เคยเจอ การคิด วิธีแก้ปัญหา รวมถึงคำติชมจากแขกที่มาเข้าพัก มาเป็นบทเรียนที่คอยสอนให้เธอเรียนรู้เรื่องการโรงแรมมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ท่านผู้หญิงชนัตถ์ก็เป็นแบบอย่างที่ดี ให้กับพนักงานทุกคน ทั้งเรื่องความทุ่มเทในการทำงาน, การให้เกียรติทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงความใส่ใจในการบริการ
ทำให้ในช่วงนั้น โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นหนึ่งในโรงแรม ที่มีการบริการที่ดีที่สุดในประเทศ และระดับสากลเลยทีเดียว
ด้วยรากฐานที่มั่นคง บวกกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ดุสิตธานีจึงเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเครือดุสิตธานี ที่มีทั้งธุรกิจโรงแรมทั้งในไทยและต่างประเทศ, ธุรกิจการศึกษา, ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจอาหาร และธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย
โดยในปัจจุบัน ดุสิตธานี มีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 10,540 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นมาถึง 1,209% จากวันแรกที่เข้าตลาดหุ้น
และอีกเรื่องที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ แผนการปรับปรุงโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ให้เป็นพื้นที่ Mixed-Use ที่มีทั้งโรงแรม, ที่พักอาศัย, ห้างสรรพสินค้า, พื้นที่สำนักงาน และมีไฮไลต์เป็นพื้นที่สีเขียวกลางเมืองขนาดใหญ่
โดยโครงการนี้จะมีการจับมือร่วมกับ “กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา” หรือ CPN ซึ่งตอนนี้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อันดับ 2 ของดุสิตธานี ด้วยสัดส่วนถึง 17.09%
เรื่องนี้ทำให้หลาย ๆ คนก็จับตามองว่า ดุสิตธานี จะกลับมาในรูปแบบไหน และจะสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อะไร ให้กับอุตสาหกรรมการโรงแรมในไทยอีกบ้าง
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ อาจบอกได้ว่า ท่านผู้หญิงชนัตถ์ เป็นผู้หญิงที่มีส่วนสำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทย ก้าวขึ้นมาในฐานะแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ
เพราะแม้ว่าท่านผู้หญิงชนัตถ์จะไม่มีประสบการณ์ด้านการโรงแรมมาก่อน แต่ก็สามารถบุกเบิกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และปูรากฐานทางธุรกิจ ให้กับเครือดุสิตธานีได้อย่างแข็งแกร่ง
ด้วยความสามารถทั้งหมดนี้ จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมสื่อมวลชนถึงตั้งฉายาให้กับท่านว่า “ผีเสื้อเหล็ก”..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.