“ตูวาลู” ประเทศที่ รัฐบาลหาเงินเข้าประเทศ จาก “นามสกุลเว็บไซต์”
Business

“ตูวาลู” ประเทศที่ รัฐบาลหาเงินเข้าประเทศ จาก “นามสกุลเว็บไซต์”

6 มี.ค. 2023
“ตูวาลู” ประเทศที่ รัฐบาลหาเงินเข้าประเทศ จาก “นามสกุลเว็บไซต์” /โดย ลงทุนเกิร์ล
เคยสังเกตกันไหมว่า ส่วนท้ายสุดของชื่อเว็บไซต์ มักจะต่อท้ายด้วย .com, .net หรือ .org
ซึ่งส่วนท้ายสุดนี้ เราจะเรียกว่า “โดเมนระดับบนสุด” หรือ Top-Level Domain (TLD)
แต่ถ้าหากพูดให้เข้าใจง่าย ๆ มันก็คือ นามสกุลของเว็บไซต์
และถึงแม้ว่า มันจะเป็นตัวอักษรเพียง 2-3 ตัว
แต่ประเทศตูวาลู กลับสามารถทำเงินมหาศาลเข้าประเทศได้มากว่า 25 ปีแล้ว
แล้วเรื่องนี้ มีความน่าสนใจอย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ วิธีการหารายได้จาก โดเมน หรือ นามสกุลเว็บไซต์ กันสักนิด..
สำหรับ นามสกุลเว็บไซต์ที่เราเข้าใช้งานกันอยู่นั้น
ในแต่ละประเทศ จะได้รับการกำหนดอักขระโดเมน 2 ตัว ตามรหัสประเทศ
เช่น .th (ไทย), .jp (ญี่ปุ่น), .au (ออสเตรเลีย) และ .uk (สหราชอาณาจักร)
ซึ่งโดเมนเหล่านี้ จะมีการซื้อ-ขายกัน ผ่านบริษัทรับจดโดเมน
และถ้าหากเราอยากมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง ก็จะต้องไปทำการเช่ามาจากบริษัทเหล่านี้
แต่นอกจาก โดเมน 2 ตัว จะถูกใช้เพื่อบ่งบอกถึง ประเทศเจ้าของโดเมนแล้ว
มันยังถูกนำไปใช้เพื่อบ่งบอก “ตัวตน” ของเว็บไซต์อีกด้วย
โดยในกรณีของประเทศ “ตูวาลู” ที่มีโดเมนว่า “.tv”
ซึ่งชวนให้นึกถึง TV หรือ Television
ดังนั้น ตูวาลู จึงใช้ประโยชน์จากชื่อดังกล่าว
และเปิดให้บริการจดทะเบียนโดเมน .tv แก่บริษัทด้านสื่อโทรทัศน์ และสตรีมมิง
ซึ่งก็เป็นไปตามคาด กลุ่มธุรกิจสื่อโทรทัศน์ดิจิทัล และสตรีมมิง ต่างหมายปองที่จะเข้ามาขอเช่าชื่อนี้
เพื่อให้ชื่อเว็บไซต์ของตน สามารถชี้ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า
ธุรกิจของคุณคือใคร และทำเกี่ยวกับอะไร
หรือมีเป้าหมายอะไรในการตั้งเว็บไซต์นี้ขึ้น
ด้วยข้อดีในการสร้างภาพลักษณ์ทางธุรกิจที่ชัดเจน
จึงทำให้บริษัทที่รับจดทะเบียนโดเมน ต่างเล็งเป้ามาที่ตูวาลู
เพื่อที่จะเข้ามาเจรจาเช่าโดเมน .tv
ซึ่งบริษัทแรกที่เข้ามา เกิดขึ้นเมื่อปี 1998
โดยบริษัท DotTV ได้ทำสัญญามูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นระยะเวลา 12 ปี
ด้วยเงินจำนวนนี้ อาจจะดูเหมือนเล็กน้อยมาก ๆ ถ้าเทียบกับ มุมมองที่ว่า ชื่อโดเมนนี้มีเพียง หนึ่งเดียวในโลก และเป็นเสมือนทรัพยากรร่วมกันของชาวตูวาลู
แต่ถ้าหากเราลองไปดู GDP ของตูวาลู ในตอนนั้น ก็จะพบว่า
ประเทศนี้มี GDP เพียงแค่ประมาณ 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น
นี่หมายความว่า รายได้จากการขายสิทธิ์โดเมนในครั้งนี้ อาจเทียบเท่า GDP เกือบ 4 ปี เลยทีเดียว
และในอีกมุมหนึ่ง การเป็นเจ้าของชื่อโดเมน .tv
ยังเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่แน่นอนและสม่ำเสมอ ให้กับประเทศทุกปี
เนื่องด้วยประชากรตูวาลูที่มีอยู่จำนวนน้อยนิด
ซึ่งปัจจุบันมีไม่เกิน 12,000 คน
แถมประชากรส่วนใหญ่ ก็ยังทำเกษตรและประมง เพื่อ “เลี้ยงชีพ” มากกว่าทำอาชีพ “เชิงพาณิชย์”
ดังนั้น ที่ผ่านมา ภาครัฐ จำเป็นต้องพึ่งพารายได้จาก “ต่างชาติ” เป็นหลัก
ไม่ว่าจะเป็น การขายสัมปทานการทำประมงให้เรือต่างชาติ
เงินช่วยเหลือ จากองค์กรระหว่างประเทศ
และรายได้จากแรงงานลูกเรือชาวตูวาลูที่ส่งกลับมาให้ครอบครัว
ซึ่งการทำเช่นนี้ไปนาน ๆ เข้า อาจไม่ส่งผลดีต่อประเทศอย่างแน่นอน
ดังนั้น ภาครัฐจึงพยายามมองหารายได้ใหม่ ๆ เพื่อความมั่นคงมากขึ้น
รวมถึงในปี 2002 ก็ยังมีการปรับสัญญาให้ประเทศ ได้รับผลประโยชน์ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น
โดยหลังจากที่ DotTV ขายสัญญาการดูแลโดเมน .tv ต่อให้ “Verisign” ซึ่งเป็นบริษัทผู้ครองสิทธิ์จดทะเบียน โดเมนทั้ง .com, .net, .edu, .gov จากสหรัฐอเมริกา
ซึ่งดีลใหม่นี้ จะทำให้ตูวาลู ได้รับเงินจาก Verisign ประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือคิดเป็น 30% ของ GDP ในปี 2002
โดยเม็ดเงินเหล่านี้ รัฐบาลตูวาลู ก็ได้นำไปใช้กับการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Verisign ได้หมดสัญญากับตูวาลูไปแล้วในปี 2021 ที่ผ่านมา ทำให้สิทธิ์ในการจัดการ .tv ถูกส่งต่อไปยัง GoDaddy บริษัทจดทะเบียนโดเมนรายใหญ่อีกเจ้าของสหรัฐอเมริกา
ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า สัญญาฉบับใหม่นี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ให้กับชุมชนและเศรษฐกิจของตูวาลูต่อไป
สำหรับในปัจจุบัน บนเว็บไซต์ที่ต่อท้ายด้วย .tv จะมีทั้งหมด 458,195 แห่ง
และหนึ่งในนั้นก็คือ Twitch แพลต์ฟอร์มถ่ายทอดสด การเล่นเกม และการแข่งขัน E-Sports ที่ตอนนี้ Amazon เป็นเจ้าของ
อ่านมาถึงตรงนี้ โดยพื้นฐานแล้ว การที่ตูวาลูเปิดสัมปทานให้กับภาคธุรกิจเข้ามาเช่าโดเมนประเทศ มันก็เหมือนกับการมีที่ดินและปล่อยให้คนอื่น เข้ามาเช่าที่ต่อ
แล้วมันก็เหมือนเรื่อง “บังเอิญ” ที่ตูวาลูได้รับชื่อโดเมนอินเทอร์เน็ตของประเทศว่า .tv ที่ได้กลายเป็นดั่งทำเลทอง ที่มีคนต้องการมากขึ้น ท่ามกลางธุรกิจสื่อดิจิทัลและสตรีมออนไลน์
จนสุดท้ายความบังเอิญที่ว่า ก็กลายมาเป็น “โอกาส” ให้กับประเทศเล็ก ๆ อย่างตูวาลูใช้สร้างประโยชน์ เพื่อแปรกลับมาเป็นอีกแหล่งรายได้ ที่นำเข้ามาพัฒนาประเทศต่อไป นั่นเอง..
--------------------------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป พุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพื่อเข้ามาเติมเต็มและต่อจิกซอว์เทรนด์ไลฟ์สไตล์ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น หลังจากประสบความสำเร็จและได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยและต่างชาติที่มาใช้บริการร้าน Marimekko Pop-Up Café คาเฟแห่งแรกในโลก พร้อมเดินหน้าปูทางธุรกิจ F&B ภายใต้แบรนด์อื่นในเครือ หวังเจาะตลาดกลุ่มลูกค้า Gen Y - Gen Z มากขึ้น
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA #MarimekkoCafeThailand
--------------------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.