ChopValue ธุรกิจที่เปลี่ยนตะเกียบ ที่ใช้แล้วทิ้ง ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ เก๋ ๆ
Business

ChopValue ธุรกิจที่เปลี่ยนตะเกียบ ที่ใช้แล้วทิ้ง ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ เก๋ ๆ

10 มี.ค. 2023
ChopValue ธุรกิจที่เปลี่ยนตะเกียบ ที่ใช้แล้วทิ้ง ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ เก๋ ๆ /โดย ลงทุนเกิร์ล
80,000 ล้านคู่ คือจำนวนตะเกียบแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ที่ผลิตได้ทั่วโลก ในแต่ละปี
ซึ่งทุกปี ต้องใช้ต้นไม้ที่มีอายุมากกว่า 20 ปี จำนวนกว่า 2 ล้านต้น
เพื่อผลิตตะเกียบไม้ ที่อาจจะใช้งานเพียง 20 หรือ 30 นาทีเท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ตะเกียบส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล
แต่ปลายทางของพวกมัน มักจบลงด้วยการฝังกลบ และบางส่วนถูกเผาทิ้งกลายเป็นมลภาวะ
เรื่องนี้จึงกลายเป็นที่มาของ “ChopValue” สตาร์ตอัปจากแคนาดา
ที่มุ่งเน้นขายเฟอร์นิเจอร์ จากตะเกียบไม้ที่ใช้แล้วทิ้ง
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่หลายคนมองข้าม และช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ที่น่าสนใจคือ มาถึงวันนี้ ChopValue ได้เปลี่ยนตะเกียบที่ใช้แล้วกว่า 94 ล้านคู่ ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน แถมยังสามารถระดมทุนไปได้กว่า 200 ล้านบาท
แล้วเรื่องราวของ ChopValue จะน่าสนใจแค่ไหน ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
ChopValue ก่อตั้งขึ้นในปี 2016 โดยคุณ Felix Böck
ซึ่งที่มาของไอเดียนี้ เกิดขึ้นในขณะที่ คุณ Böck กำลังทานอาหารที่ร้านซูชิแห่งหนึ่งในแวนคูเวอร์
จังหวะนั้น เขาก็เหลือบไปเห็นพนักงาน กำลังทิ้งตะเกียบไม้ที่ใช้แล้วจำนวนมาก ลงถังขยะ
เรื่องนี้จึงจุดประกายไอเดียให้คุณ Böck สร้างธุรกิจ ด้วยการเปลี่ยนตะเกียบไม้ไร้ค่า ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์เจ๋ง ๆ ประดับบ้าน
โดยแนวคิดของคุณ Böck คือ รูปแบบธุรกิจแบบหมุนเวียน ผ่านวิธีอัปไซเคิล (Upcycle)
หรือก็คือ การนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว มาผลิตเป็นสินค้าที่มีมูลค่า ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ นั่นเอง
เมื่อมีแพสชันอันแรงกล้า คุณ Böck จึงเริ่มสำรวจปริมาณตะเกียบที่ถูกทิ้ง ซึ่งเฉพาะแค่เมืองแวนคูเวอร์ ที่เขาอาศัยอยู่ ก็มีปริมาณตะเกียบถูกทิ้งตามร้านอาหาร กว่า 100,000 คู่ต่อวัน
พอเห็นแบบนี้ เขาจึงเริ่มตระเวนรวบรวมตะเกียบจากร้านอาหารต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม คุณ Böck ไม่ได้เข้าไปขอแบบตรง ๆ แต่เขาเข้าไปพร้อมกับเรื่องราว และคอนเซปต์ของแบรนด์
รวมถึงเสนอสิ่งที่ร้านจะได้รับ หากร่วมมือกับเขา นั่นก็คือ ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นของร้าน ในการอัปไซเคิลของเหลือใช้, ต้นทุนการกำจัดขยะที่ลดลง และราคาพิเศษสำหรับผลิตภัณฑ์ของ ChopValue ที่ทางร้านสนใจ
แล้ววิธีการสร้าง “เฟอร์นิเจอร์” จาก “ตะเกียบ” ของ ChopValue เป็นอย่างไร ?
ขั้นตอนหลัก ๆ ของ ChopValue จะแบ่งออกเป็น
-การทำความสะอาด เพื่อฆ่าเชื้อโรคและคราบสกปรก บนตะเกียบที่ใช้แล้ว ด้วยกรรมวิธีเอกสิทธิ์เฉพาะของแบรนด์ ที่แทบจะไม่ต้องใช้น้ำเลย
เพราะคุณ Böck มองว่า น้ำเสียที่เกิดขึ้น เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมเสมอ
-จากนั้นตะเกียบจะถูกฆ่าเชื้ออีกรอบ ด้วยความร้อนที่อุณหภูมิ 400 องศาฟาเรนไฮต์ และความดันที่เหมาะสม ก่อนที่จะกดลงในเครื่องจักรไฮดรอลิก ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ
เพื่อให้ได้วัสดุที่มีความหนาแน่น ในการนำไปขึ้นรูป และพร้อมดิไซน์เป็นเฟอร์นิเจอร์
นอกจากนี้ ChopValue ยังเคลมว่า ในกระบวนการผลิต จะไม่มีการใช้สารเคมี ทำให้สินค้าทั้งหมดของแบรนด์นั้น ปลอดสารพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ของ ChopValue จะถูกออกแบบให้เหมาะแก่การใช้งานทั่วไป
มีตั้งแต่ ชั้นวางของ ของใช้สำนักงาน อุปกรณ์ในครัว บันได ไปจนถึงของเล่น อย่างโดมิโน
และสินค้าแต่ละประเภท ก็มีราคาแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหมื่นบาท
เช่น แผ่นใส่ชีสบอร์ด (Cheese Board) ราคาประมาณ 750 บาท
ชุดตกแต่งผนัง (Wall Decor Set) 3 ชิ้น ราคาประมาณ​ 2,000 บาท
โต๊ะทำงาน (Home Office Desk) ราคาประมาณ 33,000 บาท
ปัจจุบัน ChopValue ใช้วิธีการขายสินค้าแบบ D2C (Direct-to-Consumer) หรือการขายให้กับลูกค้าผ่านทางเว็บไซต์ของตัวเอง
และยังมีหน้าร้านอีก 5 แห่งในแคนาดา เพื่อให้ลูกค้าเข้าไปรับชมสินค้าได้
นอกจากนี้ ChopValue ยังได้ขยายธุรกิจไปสู่การขาย Know-how ในการผลิต ให้กับคนที่มีความเชื่อเหมือนกัน ผ่านรูปแบบแฟรนไชส์
เพราะ ChopValue มองว่ามันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และการจัดหาวัตถุดิบ
ซึ่งการเปิดให้คนที่สนใจซื้อแฟรนไชส์ ไปผลิตสินค้าขายตามตลาดต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากจะลดการขนส่งแล้ว ยังช่วยลดขยะในท้องถิ่น เพราะแฟรนไชส์แต่ละแห่ง สามารถจัดหาตะเกียบมาผลิตสินค้า ได้จากร้านอาหารในท้องถิ่น หรือพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งยังช่วยเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่อีกด้วย
มาถึงวันนี้ ChopValue ได้ขยายธุรกิจไปในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก
พร้อมกับมีโรงงานขนาดเล็ก สำหรับผลิตเฟอร์นิเจอร์ กว่า 60 แห่ง
แล้วที่ผ่านมา ChopValue ประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ?
แม้ว่า ChopValue จะไม่มีการเปิดเผยยอดขาย หรือผลประกอบการเป็นตัวเลขที่แน่ชัด
แต่หลังจากดำเนินธุรกิจมาได้เพียงแค่ปีเดียว ธุรกิจก็สามารถทำกำไรได้แล้ว
มากไปกว่านั้น ตั้งแต่ปี 2017-2019 ChopValue มีรายได้เติบโตขึ้นถึง 521% เลยทีเดียว
ส่วนเป้าหมายต่อไปของ ChopValue คือการขยายโรงงานผลิต Microfactory ให้ได้อีก 100 แห่ง เพื่อมอบชีวิตใหม่ให้กับตะเกียบอีก 1,500 ล้านคู่
เรียกได้ว่าวันนี้ ChopValue ได้พิสูจน์แล้วว่า สิ่งเล็ก ๆ ที่คนมักมองข้าม อย่างตะเกียบไม้ใช้แล้ว
ก็สามารถนำกลับมาหมุนเวียนใช้ได้ไม่รู้จบ และยังสร้างกำไรทางธุรกิจได้ด้วย
ถึงแม้จะเป็นเพียงก้าวเล็ก ๆ แต่ในเกือบทุกครั้ง การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ก็เกิดขึ้นจากสิ่งเล็ก ๆ เสมอ..
----------------------------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป (TANACHIRA) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวพรรณ สปาแบบองค์รวมรายแรกในไทยภายใต้แบรนด์ HARNN (หาญ), VUUDH (วุฒิ), HARNN Heritage Spa (หาญ เฮอริเทจสปา) และ SCape by HARNN (เอสเคป บาย หาญ) มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและในภูมิภาคกว่า 165 สาขา ภายใต้แนวคิด “Bring the Best of the Brand to the Best of Thailand”
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/#TANACHIRA
----------------------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.