นายหน้าขายของออนไลน์ อาชีพที่สร้างรายได้ โดยไม่ต้องมีสินค้าเอง สักชิ้น
Business

นายหน้าขายของออนไลน์ อาชีพที่สร้างรายได้ โดยไม่ต้องมีสินค้าเอง สักชิ้น

20 มี.ค. 2023
นายหน้าขายของออนไลน์ อาชีพที่สร้างรายได้ โดยไม่ต้องมีสินค้าเอง สักชิ้น /โดย ลงทุนเกิร์ล
“นายหน้าขายของออนไลน์” อีกหนึ่งอาชีพที่สามารถสร้างรายได้เข้ากระเป๋า โดยไม่ต้องลงทุนสต็อกสินค้า หรือไม่ต้องผลิตสินค้าเองสักชิ้น
แถมไม่ต้องลงทุนเยอะ ๆ เพียงแค่มี
-สมาร์ตโฟน
-อินเทอร์เน็ต
-โซเชียลมีเดีย
-ไอเดียใหม่ ๆ
แล้วนำไปต่อยอดกับสิ่งที่เรียกว่า “Affiliate Program”
แล้วสิ่งเหล่านี้จะสร้าง Passive Income ได้อย่างไร ? ลงทุนเกิร์ลจะสรุปให้ฟัง
หลักการเบื้องต้นของการหารายได้ จากการเป็นนายหน้าขายของออนไลน์ คือ การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งใน Affiliate Marketing ซึ่งเป็นการทำการตลาดร่วมกับพันธมิตร เพื่อแบ่งผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่าง
1.เจ้าของแบรนด์ หรือผู้ผลิตสินค้า
2.แพลตฟอร์มออนไลน์ ตัวกลางในการขายสินค้า
3.ครีเอเตอร์​ ผู้นำเสนอคอนเทนต์
4.ผู้ซื้อสินค้า
จริง ๆ แล้ว การทำ Affiliate Marketing มีการแบ่งรายได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบ Pay per Lead (PPL) ที่รายได้จะเกิดขึ้นจากการสร้างลิงก์ให้คนเข้าไปยังเว็บไซต์ และลงทะเบียนสมัครสมาชิกกับทางแบรนด์
แบบ Pay per Click (PPC) จะมีส่วนแบ่งให้ จากการที่มีคนคลิกโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มนั้น โดยจะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าก็ได้
แต่รูปแบบหลักที่จะพูดถึงในบทความนี้คือ การแบ่งรายได้หลังมีการซื้อสินค้าและบริการ โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ตามราคาของผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกว่า Pay per Sale (PPS)
ซึ่งการแบ่งรายได้แบบ PPS ที่ว่านี้ จะทำให้ “ครีเอเตอร์” ซึ่งรวมไปถึงผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วไปอย่างเรา ๆ สามารถนำเสนอคอนเทนต์สินค้า หรือหาวิธีการนำเสนอสินค้า ผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Twitter หรือ TikTok เพื่อสร้างรายได้จากส่วนแบ่ง
โดยจุดที่สร้างรายได้ จะเกิดจากการแปะลิงก์พิกัดสินค้า ซึ่งเป็นลิงก์ที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ ที่เรียกว่า Affiliate Link เพื่อให้คนที่สนใจ หรือกลุ่มเป้าหมายที่เราพยายามเชิญชวน คลิกเข้าไปเพื่อซื้อสินค้าตามได้ง่าย ๆ
ทุกครั้งที่มีการซื้อสินค้าผ่านลิงก์ที่เราแปะไว้ เจ้าของแบรนด์ก็จะให้เงินส่วนแบ่งจากการขายสินค้านั้น ๆ เป็นเปอร์เซ็นต์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ให้กับเรา เสมือนเราเป็นนายหน้า ที่ช่วยโปรโมตสินค้าให้คนอยากซื้อ นั่นเอง
ปัจจุบัน มีหลายแพลตฟอร์มที่เปิดให้คนทั่วไป สามารถสมัครเข้าร่วม Affiliate Program ได้ เช่น Lazada, Shopee, Priceza ซึ่งจะได้รับส่วนแบ่งค่าคอมมิชชันมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ของแต่ละแพลตฟอร์ม และเจ้าของสินค้าเป็นผู้กำหนด
ตัวอย่าง Lazada Affiliate Program แบ่งค่าคอมมิชชันสำหรับสินค้าโบนัส 4-50% และกลุ่มสินค้าทั่วไป 2-24%
สมมติว่าแบรนด์ A มีสินค้าเป็นแป้งฝุ่น ขายบน Lazada ราคา 699 บาท/ชิ้น กำหนดให้ส่วนแบ่งค่าคอมมิชชัน 20% กับครีเอเตอร์
ถ้าเราเลือกสินค้าชิ้นนี้มาทำ Affiliate Link หมายความว่า ทุก ๆ ครั้งที่มีคนซื้อสินค้าผ่านลิงก์ที่แปะไว้ เราก็จะได้รับค่าคอมมิชชัน เมื่อมีคนกดซื้อสินค้า ครั้งละ 139.80 บาท
ซึ่งมาจากวิธีคำนวณคือ “ราคาสินค้า x ค่าคอมมิชชันสินค้า (%) = รายได้ค่าคอมมิชชัน”
คิดออกมาเป็น 699 x 20% = 139.80 บาท
หากมีคนคลิกลิงก์นี้เพื่อซื้อแป้งฝุ่นวันละ 1 ชิ้น ภายในระยะเวลา 1 เดือน ก็จะได้รับค่าคอมมิชชันเป็นเงิน 4,194 บาท ต่อเดือน หรือปีละ 51,027 บาท
และแน่นอนว่าถ้าขายได้มากกว่า 1 ชิ้นต่อวัน ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินหลักแสนบาทได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นเท่านั้น เพราะการเข้าร่วม Affiliate Program ของแต่ละแพลตฟอร์ม ก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป เช่น บางแพลตฟอร์มจะกำหนดจำนวนผู้ติดตามขั้นต่ำด้วย
เช่น Shopee กำหนดผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย 1,000 คนขึ้นไป ถึงจะสามารถเข้าร่วมโครงการได้
แล้วการเข้าร่วม Affiliate Program สร้าง Passive Income ได้อย่างไร ?
การแชร์ Affiliate Link ไว้กับคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่เราทำนั้น จะทำงานต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่เจ้าของแบรนด์ยังขายสินค้านี้อยู่
อีกทั้งวิธีนี้ ยังสามารถช่วยสร้างรายได้ให้เรา แม้แต่ตอนที่เรานอนหลับ หรือทำงานประจำไปด้วย
ที่สำคัญยิ่งมีผู้ติดตามมาก หรือมีคนเห็นคอนเทนต์มาก ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสปิดการขาย และได้รับส่วนแบ่งมากขึ้นตามไปด้วย นั่นเอง
แต่กติกาสำคัญที่ต้องระวังในการทำ Affiliate Program ก็คือ ต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น ประเภทสินค้าที่ขายต้องไม่ใช่สินค้าต้องห้าม, มีการสมรู้ร่วมคิดระหว่างผู้ซื้อและผู้โปรโมต เพื่อฉวยผลประโยชน์ในการได้รับค่าคอมมิชชัน, ใช้ประโยชน์ในการซื้อสินค้าของตัวเองในจำนวนมาก เพื่อลดต้นทุนและเก็งกำไร
แม้จะฟังดูเหมือนเป็นการจับเสือมือเปล่า หาเงินได้ง่าย ๆ แต่การเป็นนายหน้าขายของออนไลน์ ก็มีหลายปัจจัยที่เข้ามาเป็นตัวแปร ว่าจะสามารถประสบความสำเร็จตามเป้าได้หรือไม่
เช่น การสร้างตัวตน ยิ่งมีคนรู้จักในโซเชียลมีเดียมาก หรือทำคอนเทนต์จนเกิดเป็นไวรัลได้ ก็มีส่วนทำให้คนเห็นลิงก์นายหน้ามากขึ้น และมีโอกาสปิดการขายได้สูง
ขณะเดียวกัน ก็อาจต้องการความสม่ำเสมอ หรือความคิดสร้างสรรค์ในการทำคอนเทนต์ เพื่อดึงดูดให้คนอยากซื้อ แบบเนียน ๆ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ข้อกำหนด Affiliate Program ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์ ดังนั้นจึงต้องติดตามข้อกำหนดจากแพลตฟอร์มอยู่เสมอ เพื่อปรับตัวให้ทันด้วย
อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ก็ยังเรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับคนที่อยากสร้างรายได้ โดยไม่ต้องลงทุนสูง ไม่ต้องผลิตสินค้าเอง หรืออยากมีรายได้เข้ากระเป๋าแบบเรื่อย ๆ โดยไม่จำเป็นต้องลงแรงใหม่ทุกครั้ง..
---------------------------------------------------------------
Presented by กลุ่มบริษัทธนจิรากรุ๊ป (TANACHIRA) เป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ แฟชั่นแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศได้แก่ Pandora (แพนดอร่า), Marimekko (มารีเมกโกะ), Cath Kidston (แคท คิดสตัน) และเจ้าของผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลผิวพรรณ สปาแบบองค์รวมรายแรกในไทยภายใต้แบรนด์ HARNN (หาญ), VUUDH (วุฒิ), HARNN Heritage Spa (หาญ เฮอริเทจสปา) และ SCape by HARNN (เอสเคป บาย หาญ) มีสาขาอยู่ทั่วประเทศและในภูมิภาคกว่า 165 สาขา ภายใต้แนวคิด “Bring the Best of the Brand to the Best of Thailand”
https://www.facebook.com/TANACHIRA-GROUP-174055739828807/
#TANACHIRA
---------------------------------------------------------------
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.