“Oniomania” โรคเสพติดการช็อปปิง ซื้อก่อน เครียดทีหลัง ภาวะที่ทำให้กระเป๋าฉีก สุขภาพจิตแย่
Lifestyle

“Oniomania” โรคเสพติดการช็อปปิง ซื้อก่อน เครียดทีหลัง ภาวะที่ทำให้กระเป๋าฉีก สุขภาพจิตแย่

6 มิ.ย. 2023
ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง Confessions Of A Shopaholic
คงจะจำตัวละครหลักที่ชื่อว่า “รีเบกกา บลูมวูด”
สาวนักช็อป ผู้คลั่งไคล้และเสพติดการช็อปปิงเอามาก ๆ
จนมีหนี้บัตรเครดิตนับ 10 ใบ และส่งผลร้ายต่อความสัมพันธ์ของเธอกับเพื่อน ชีวิตรัก และหน้าที่การงาน
เธอจึงต้องกลับมานั่งทบทวนว่า อะไรกันแน่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต
รู้ไหมว่า ภาวะ “คลั่งการช็อปปิง” ที่ส่งผลกระทบต่อเงินในกระเป๋าและสุขภาพจิต จนต้องมานั่งเสียใจภายหลัง
มีชื่อเรียกว่า “Oniomania” หรือ โรคเสพติดการช็อปปิง
แล้วในชีวิตจริง เราเคยตกอยู่ในภวังค์แห่งการช็อปปิง แล้วมารู้สึกผิดทีหลังบ้างไหม ?
หากมีอาการแบบนี้บ่อย ๆ เราอาจกำลังตกอยู่ในภาวะ “Oniomania” ก็เป็นได้
Oniomania ส่งผลกระทบต่อชีวิตอย่างไร และเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
หลายคนชอบช็อปปิง เพราะมองว่า เป็นการซื้อความสุขให้ตัวเอง
แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ช็อปปิง แล้วจะรู้สึกอิ่มเอิบใจในช่วงเวลาสั้น ๆ แค่ตอนที่ช็อป แต่หลังจากนั้นก็ต้องตกอยู่ในความเครียด ซึ่งไม่ใช่แค่เสียเงิน แต่ยังเสียสุขภาพจิตด้วย
อธิบายง่าย ๆ “Oniomania” คือ ภาวะที่คนเราไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการซื้อของตัวเองได้ แม้จะเป็นสิ่งของที่ไม่จำเป็น หรือไม่ได้มีนัยสำคัญต่อชีวิต
เพราะตอนที่กำลังซื้อเป็นช่วงที่รู้สึกว่า ตัวเองกำลังตื่นเต้น มีความสุขสุด ๆ ทำให้หาข้อดีต่าง ๆ นานา มาสนับสนุนการซื้อของในตอนนั้น ว่าเป็นเรื่องที่ดีหรือจำเป็น
แต่หลังจากซื้อของเหล่านั้นมาแล้ว กลับรู้สึกตรงกันข้าม เช่น รู้สึกเสียดายเงินที่จ่ายไป รู้สึกว่าของเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเอาเสียเลย หรือรู้สึกเครียดเพราะมีเงินน้อยลง ซึ่งบางคนถึงกับมีหนี้เพิ่ม
และเมื่อคนกลุ่มนี้มีโอกาสได้ช็อปอีกครั้ง พวกเขาก็ห้ามใจที่จะอดซื้อของไม่ได้ และทำพฤติกรรมแบบเดิมวนไปเรื่อย ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ถือเป็นความผิดปกติทางพฤติกรรม ที่มีลักษณะเฉพาะคือการหมกมุ่นอยู่กับการใช้จ่าย และความต้องการที่ไม่สิ้นสุด คล้ายคลึงกับการเสพติดของผู้ที่ติดการพนัน
อย่างไรก็ตาม คำว่า Oniomania ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ แต่ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ ปี 1892 ซึ่งคำนี้ถูกค้นพบโดยจิตแพทย์ชาวฝรั่งเศส ที่ชื่อว่าคุณ Valentin Magnan
ก่อนที่คุณ Max Nordau แพทย์ชาวเยอรมัน จะนำมาพูดถึงอีกครั้งในหนังสือของเขา โดยนิยามคำว่า Oniomania ว่าเป็น “ความคลั่งไคล้ในการซื้อ” จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพราะในยุคนั้น ก็มีคนที่ประสบกับภาวะเหล่านี้เช่นกัน
มาถึงปัจจุบันภาวะ Oniomania มีโอกาสเกิดขึ้นกับใครก็ได้
ซึ่งการซื้อแบบควบคุมตัวเองไม่ได้นี้ เริ่มกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งในช่วงปี 2020 ที่สถานการณ์โควิด 19 แพร่ระบาดหนักในหลายประเทศ
เพราะคนจำนวนไม่น้อย ใช้จ่ายเงินมากกว่าปกติในการช็อปปิงออนไลน์ เพื่อบรรเทาความเครียดจากการต้องกักตัวอยู่บ้านนาน ๆ หรือชดเชยกับความรู้สึกและช่วงเวลาที่ต้องเสียไปในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
แล้วเสพติดการช็อปปิงแค่ไหนถึงเรียกว่าภาวะ Oniomania ?
ต้องบอกก่อนว่า ไม่ใช่คนที่ชอบช็อปปิงมาก ๆ ทุกคน จะเป็นภาวะ Oniomania
สำหรับคนที่ชอบช็อปปิงมาก ๆ จะนำสินค้าที่ตัวเองไม่ชอบไปคืน และจะเริ่มวางแผนจัดสรร หากเงินเหลือน้อย
แต่คนที่มีภาวะ Oniomania จะไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างมีเหตุผล ไม่สนใจราคาสินค้า ไม่สนใจเงินในกระเป๋าของตัวเอง ขอแค่ได้ของที่อยากได้มา
แล้วอะไรบ้าง ที่กระตุ้นให้เรากลายเป็น Oniomania ?
แม้จะไม่ได้มีสาเหตุที่ตายตัว
แต่ก็มีข้อสันนิษฐานหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น
- ได้รับสิ่งกระตุ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า โซเชียลมีเดีย คือตัวกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้คนเรามีโอกาสได้เจอสินค้าและบริการจากทุกทิศทาง
ไม่ว่าจะเป็นรีวิวสินค้าจากเหล่า KOL, คอนเทนต์และโปรโมชันจากแบรนด์, สินค้าที่ศิลปิน-ดารา ที่เราชื่นชอบ เป็นพรีเซนเตอร์ให้ หรือการบอกต่อจากคนรู้จัก
ที่กระตุ้นให้อยากทดลองใช้ หรืออยากซื้อมาครอบครองบ้าง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย ที่มักจะถูกสตอรี “ของต้องมี” ชวนให้ควักกระเป๋าซื้อแบบไม่ต้องคิดเยอะ
- ปัญหาในชีวิต
หลายคนใช้การช็อปปิงเป็นการปลอบประโลมตัวเองจากความรู้สึกวิตกกังวล, ความเครียด และความเศร้า เพราะเสพติดความรู้สึกดีเวลาที่กำลังช็อปปิง เหมือนได้หลุดออกจากปัญหาชั่วขณะ
- ต้องการเป็นที่ยอมรับ
การซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยที่มากเกินความจำเป็น มักมีเหตุผลซ่อนอยู่ลึก ๆ ในจิตใจ เช่น ต้องการการยอมรับจากคนอื่น, สะท้อนไลฟ์สไตล์ว่าเป็นคนรสนิยมดี, ฐานะทางการเงินดี แม้ในบางครั้งเบื้องหลังอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเลยก็ตาม
แล้วภาวะ Oniomania สามารถรักษาให้หายได้ไหม ?
เบื้องต้น การรักษา Oniomania ยังไม่มีวิธีที่ชัดเจน แต่ปัจจุบันมีการใช้วิธีบำบัดทางจิต ทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่ม ที่มีส่วนช่วยให้ผู้ที่ประสบปัญหา สามารถควบคุมแรงกระตุ้นจากการซื้อของตัวเองได้ รวมถึงกลับมามีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ต้องย้ำว่า การซื้อของเปย์ตัวเอง ไม่ใช่เรื่องผิด
แต่หากการช็อปปิงต้องใช้เงินมากเกินกำลังที่เรามี และยังมีความเครียดเป็นของแถมทุกครั้งหลังซื้อ
นั่นอาจบอกว่า การช็อปปิงของคุณกำลังผิดปกติ หรือเข้าข่ายภาวะ Oniomania
แทนที่จะใช้เงินเพื่อคลายเครียด
อาจกลายเป็นเครียด เพราะไม่มีเงินจะใช้แทนก็ได้..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.