<อัปเดต> “นับจากนี้ทุกพื้นที่ มีแต่แกรนด์” สรุปธุรกิจมิสแกรนด์ ที่เตรียม IPO เข้าตลาดหุ้นไทย
Business

<อัปเดต> “นับจากนี้ทุกพื้นที่ มีแต่แกรนด์” สรุปธุรกิจมิสแกรนด์ ที่เตรียม IPO เข้าตลาดหุ้นไทย

29 พ.ย. 2023
<อัปเดต> “นับจากนี้ทุกพื้นที่ มีแต่แกรนด์” สรุปธุรกิจมิสแกรนด์ ที่เตรียม IPO เข้าตลาดหุ้นไทย
บมจ.มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MGI) เจ้าของเวทีประกวดนางงาม “มิสแกรนด์ ไทยแลนด์” (Miss Grand Thailand หรือ MGT) และ “มิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล” (Miss Grand International หรือ MGI) กำลัง IPO ในตลาดหลักทรัพย์ MAI
ตามไฟลิ่งที่บริษัทได้ยื่นต่อ ก.ล.ต. จะมีการเสนอขายในราคาหุ้นละ 4.95 บาท จำนวน 60 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.57% ของหุ้นทั้งหมด
ถ้านำราคานี้ มาตีเป็นมูลค่าทั้งบริษัท จะเท่ากับว่า MGI จะมีมูลค่าบริษัทอยู่ราว ๆ 1,040 ล้านบาท
หลัก ๆ แล้ว ธุรกิจของ MGI คือ การดำเนินธุรกิจจัดการประกวดนางงาม โดยบริษัทเน้นกลยุทธ์การทำให้ “มิสแกรนด์” เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เพื่อสร้างชื่อเสียงและสร้างภาพลักษณ์ให้เป็นที่รู้จัก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับต่อยอดในการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์
ซึ่งธุรกิจของบริษัท สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1.ธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) จัดจำหน่ายสินค้าที่อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท ได้แก่ “Miss Grand MGI” เช่น น้ำหอม, อาหารเสริม, กาแฟลดน้ำหนัก, คอลลาเจน และภายใต้เครื่องหมายการค้า “NangNgam” เช่น เซรั่มทาหน้า, เซรั่มทาคอ, น้ำพริกปลาสลิด
รวมถึงจัดจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท เช่น กาแฟผสมถั่งเช่า, คอลลาเจนไดเพปไทด์, น้ำพริกกากหมู และปลาร้าทรงเครื่อง
2.ธุรกิจประกวดนางงามมิสแกรนด์ (Pageant) ธุรกิจจัดประกวดนางงามทั้งระดับในประเทศ และระดับต่างประเทศ
โดยบริษัทมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การประกวด ให้กับผู้ได้รับลิขสิทธิ์การประกวดระดับประเทศ (National Director : ND) ซึ่งจะเป็นรายได้หลักสำหรับการจัดประกวดระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถเก็บค่าลิขสิทธิ์ จากเจ้าภาพในการจัดงาน เช่น การประกวด MGI ครั้งล่าสุด จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเซนตูล จังหวัดชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย
3.ธุรกิจสื่อและบันเทิง (Media and X-Periences) โดยบริษัทจะซื้อช่วงเวลาการโฆษณา จากรายการที่มีชื่อเสียงตามสื่อโทรทัศน์ และจำหน่ายช่วงเวลาออกอากาศ ให้กับลูกค้าที่มีความสนใจจะโฆษณาสินค้า
รวมถึงจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมประสบการณ์ให้กลุ่มลูกค้า ให้มีส่วนร่วมกับนางงามและศิลปินของบริษัท เช่น การจัดคอนเสิร์ตอิงฟ้ามหาชน, MGT x ระเบียบวาทะศิลป์, Meet & Greet เป็นต้น
4.ธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน (Talent) โดยบริษัทจะทำสัญญากับผู้ชนะการประกวดมิสแกรนด์ ไทยแลนด์, ผู้ได้รับอันดับรองลงมาในการประกวดมิสแกรนด์ ไทยแลนด์ และผู้ชนะมิสแกรนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นศิลปินในสังกัดของบริษัท
เพื่อปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย ตามที่บริษัทจัดหางานมาให้ เช่น งานรีวิวสินค้า, งานพิธีกร, งานเดินแบบ และงานแสดงภาพยนตร์
หากเราแบ่งธุรกิจตามสัดส่วนรายได้ 9 เดือนแรกของปี 2566 จะเป็นได้เป็น..
-ธุรกิจพาณิชย์ เช่น ขายเซรั่ม, กาแฟ, น้ำหอม คิดเป็น 41%
-ธุรกิจบริหารศิลปิน 23%
-ธุรกิจสื่อและบันเทิง 19%
-จัดประกวดมิสแกรนด์ 13%
-รายได้ค่าเช่าช่วง MGI Hall 4%
สำหรับผลประกอบการของ MGI ในช่วงที่ผ่านมา
-ปี 2564 รายได้ 345 ล้านบาท กำไร 29 ล้านบาท
-ปี 2565 รายได้ 320 ล้านบาท กำไร 48 ล้านบาท
-9 เดือนแรก ปี 2566 รายได้ 432 ล้านบาท กำไร 77 ล้านบาท
ปิดท้ายด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ
ช่วง 9 เดือนแรก ปี 2566 คุณอิงฟ้า วราหะ และคุณชาล็อต ออสติน สร้างรายได้ในหมวดธุรกิจบริหารจัดการศิลปิน ให้กับ MGI เป็นเงิน 35 ล้านบาท และ 19 ล้านบาท ตามลำดับ
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.