ทำไม แบรนด์โซจูเกาหลี ถึงนิยมใช้ขวดหน้าตาเหมือน ๆ กัน
Business

ทำไม แบรนด์โซจูเกาหลี ถึงนิยมใช้ขวดหน้าตาเหมือน ๆ กัน

23 ต.ค. 2021
ทำไม แบรนด์โซจูเกาหลี ถึงนิยมใช้ขวดหน้าตาเหมือน ๆ กัน /โดย ลงทุนเกิร์ล
ปัจจุบัน “โซจู” (Soju) ถูกจดจำในภาพของ “ขวดแก้ว สีเขียวใส” ที่มาในไซซ์พอดีมือ
แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้ว ขวดโซจูในอดีตกลับไม่ได้มีสีเขียว และมีรูปร่างหน้าตาอย่างที่เห็นในปัจจุบันเลย
แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุทำให้แบรนด์โซจูเกือบทั้งหมด เปลี่ยนมาใช้ขวดหน้าตาเหมือน ๆ กัน ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
เดิมที “สี” ของขวดโซจูแบรนด์ต่าง ๆ มีทั้งสีใส, สีบรอนซ์, สีดำ, สีฟ้า และสีอื่น ๆ
ซึ่งในตอนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละแบรนด์เลยว่าต้องการจะใช้ขวดสีอะไร
นอกจากนี้ “รูปทรง” ของขวดโซจูในสมัยนั้น ก็ยังมีความหลากหลาย
ไม่ว่าจะทรงเหลี่ยม หรือทรงอ้วนกลมก็มีหมด
อย่าง Jinro ผู้ผลิตโซจู ที่เก่าแก่สุดของเกาหลีใต้
ในช่วงปี 1950 ถึง 2000 Jinro ก็ยังคงใช้ขวดสีใส, สีบรอนซ์ ไปจนถึงสีฟ้า และยังมีการใช้ขวดรูปทรงที่หลากหลาย
สำหรับเรื่องราวของ “ขวดโซจูสีเขียว” นั้นเกิดขึ้นในปี ​​1993
โดยบริษัท Doosan ได้ผลิตโซจูแบรนด์ “Green” ที่มีขวดสีเขียวออกมาวางจำหน่าย
ซึ่งถือเป็น “แบรนด์โซจูรายแรก” ที่มีการใช้แพ็กเกจจิงเป็น “ขวดสีเขียว”
ที่สำคัญคือ หลังจากโซจูแบรนด์ Green วางขาย ก็ได้รับผลตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลาม จนกลายเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว
เมื่อแบรนด์โซจูอื่น ๆ เห็นดังนี้ จึงเริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้ขวดสีเขียวตาม ๆ กัน
แม้กระทั่ง Jinro ซึ่งเป็นผู้ผลิตโซจูรายใหญ่เดิม ก็ยังต้องหันมาใช้ขวดสีเขียวด้วย
จนกระทั่งในปี 2009 เรื่องนี้ก็ได้เดินทางมาสู่จุดสำคัญ
เมื่อผู้ผลิตโซจูเกาหลีและกระทรวงสิ่งแวดล้อม ได้ตกลงกันว่า จะผลิตขวดสีเขียวที่มี “ขนาด” และ “การออกแบบ” เหมือนกัน โดยกำหนดให้เป็น “ขวดมาตรฐาน” ของโซจู
เพื่อให้ผู้ผลิตโซจูแต่ละราย สามารถนำขวดที่ใช้แล้วของแบรนด์อื่น ๆ ไปรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้
โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการรีไซเคิลขวดแก้วแบบเดิม ๆ ที่จะต้องแยกขวดตามแต่ละสี ก่อนนำไปรีไซเคิล
ซึ่งการใช้ขวดโซจูร่วมกันแบบนี้ จะช่วยให้ผู้ผลิตลดเวลา และต้นทุนในส่วนของการคัดแยกขวดไปได้นั่นเอง
ในอีกมุมหนึ่ง การรีไซเคิล และรียูส ขวดโซจูเหล่านี้ ยังถือว่าเป็นประเด็นที่สำคัญไม่น้อย
เพราะจากสถิติพบว่า ใน 1 สัปดาห์ ชาวเกาหลีที่อายุมากกว่า 20 ปี จะบริโภคโซจูเฉลี่ย 1-2 ครั้ง และปริมาณที่ดื่มจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 ขวด
ซึ่งถ้าหากคิดเป็นต่อปี ชาวเกาหลี 1 คนอาจสร้างขยะจากขวดโซจูกว่า 83 ขวด และถ้านำขยะของทุกคนมารวมกันแล้ว นี่อาจหมายถึงขวดแก้วกองโต..
ดังนั้น ข้อตกลงนี้ จึงไม่ได้มีความสำคัญในแง่ของธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
แต่ทว่าข้อตกลงนี้ เป็นเพียงการตกลงแบบสมัครใจ และไม่มีผลผูกมัดตามกฎหมาย
ทำให้ในเวลาต่อมาก็เริ่มมีผู้ผลิตที่แตกแถว
ซึ่งนั่นก็คือ Jinro หรือที่ขณะนั้นได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า HiteJinro เนื่องจากบริษัท Hite ได้เข้าซื้อกิจการ Jinro เริ่มแตกแถวผิดสัญญา
โดยในเดือนเมษายน ปี 2019 บริษัท HiteJinro ได้เปิดตัว “Jinro Is Back” โซจูแบรนด์ใหม่ ที่มาในขวดสีฟ้า และรูปร่างแตกต่างจากขวดเขียวที่เราคุ้นเคย
เนื่องจาก Jinro Is Back ได้ถูกวางคอนเซปต์ให้เป็นแบรนด์โซจูรสชาติดั้งเดิม และหันกลับไปใช้ขวดแบบเก่า ๆ เพื่อรำลึกความทรงจำในอดีต
ซึ่งเรื่องนี้ก็อาจดูเหมือนไม่น่าส่งผลกระทบอะไรมาก ถ้าหาก HiteJinro เป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ
แต่ประเด็นมันอยู่ตรงที่ HiteJinro กลับเป็นผู้ผลิตโซจูรายใหญ่ ที่ครองส่วนแบ่งตลาดโซจูเป็นอันดับ 1 ของเกาหลีใต้
และยิ่งไปกว่านั้น Jinro Is Back ยังขายได้มากกว่า 100 ล้านขวด ภายในเวลาเพียงแค่ 7 เดือน
แน่นอนว่าสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือ ขยะขวดแก้วสีฟ้ากองโต ที่กำลังทำลายระบบรีไซเคิลที่กลุ่มผู้ผลิตโซจูได้สร้างร่วมกัน
แต่ในโลกของธุรกิจ ที่ทุกนาทีคือการแข่งขัน เมื่อมีบริษัทหนึ่งทำได้ อีกบริษัทก็คงไม่อยู่เฉยเช่นกัน
ดังนั้น ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้น บริษัท Muhak ผู้ผลิตโซจู ที่ครองส่วนแบ่งอันดับ 3 ของเกาหลีใต้ ก็ได้เปิดตัวแบรนด์โซจู CheongChun ที่มาในขวดสีฟ้าคล้ายกับ Jinro Is Back
พออ่านมาจนถึงตรงนี้ เราคงจะเห็นแล้วว่า ผู้เล่นอันดับ 1 และ 3 ต่างก็เริ่มออกนอกข้อตกลง
แล้วสงสัยไหมว่า ผู้เล่นอันดับ 2 เป็นใคร และกำลังทำอะไรอยู่ในสถานการณ์นี้ ?
คำตอบก็คือ “Lotte Chilsung Beverage”
ซึ่งเมื่อผู้ครองส่วนแบ่งโซจูอันดับ 2 เห็นว่า ข้อตกลงเรื่องรีไซเคิลที่เริ่มสั่นคลอน
เนื่องจากบริษัทต้องเผชิญปัญหาจากการคัดแยก Jinro Is Back ออกจากกลุ่มขวดที่ใช้แล้ว
ซึ่งมีมากกว่า 2 ล้านขวด ที่กองรวมกันอยู่ในบริเวณคัดแยกขวดของบริษัท
ทำให้ Lotte Chilsung Beverage ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และยังทำให้ขั้นตอนการทำงานยิ่งยุ่งยากมากขึ้น
แน่นอนว่า Lotte Chilsung Beverage เองก็คงไม่นิ่งเฉย
โดยบริษัทได้เรียกร้องให้ HiteJinro มารับขวด Jinro Is Back ที่กองอยู่ในโรงงานของตนคืนไป พร้อมทั้งยังเรียกเก็บค่าคัดแยกขวด Jinro Is Back จาก HiteJinro อีกด้วย
และแม้ว่า HiteJinro จะทำตามข้อเรียกร้องของ Lotte Chilsung Beverage ที่บอกให้มารับขวดคืนไป
แต่ HiteJinro ก็ได้ปฏิเสธที่จะจ่ายค่าคัดแยกขวดให้ Lotte Chilsung Beverage
ทำให้ความขัดแย้งในประเด็นเรื่องขวดก็ยังคงดำเนินต่อไป
โดยมีตัวละครใหม่ ๆ อย่างผู้ผลิตโซจูรายย่อย ที่เลือกเข้าข้างฝ่ายที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วเรื่องราวทั้งหมดก็มาจบลงตรงที่ การปรากฏตัวอีกครั้งของตัวละครสำคัญ ที่เราได้เล่าไปตอนต้น อย่าง “กระทรวงสิ่งแวดล้อม” ซึ่งได้สังเกตความขัดแย้งนี้มาระยะหนึ่ง
ทางกระทรวงจึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานบริการหมุนเวียนทรัพยากรของเกาหลี (KORA) และผู้ผลิตโซจู 10 รายของเกาหลีใต้ ยกเลิกข้อตกลงเก่า และเขียนข้อตกลงขึ้นใหม่ ที่กำหนดให้ระหว่างผู้ผลิต สามารถ “แลกเปลี่ยน” กันได้
ลองยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น
บริษัท A ที่ปกติแล้วจะใช้ขวดโซจูสีเขียว แต่ในตอนที่คัดแยกขวด ดันไปเจอขวดสีฟ้าของบริษัท B
ดังนั้นทางแก้ที่ข้อตกลงใหม่เสนอก็คือ ให้นำขวดสีฟ้าที่เก็บได้ ไปแลกกับ บริษัท B
โดยให้บริษัท B หาขวดสีเขียวมาแลกขวดตัวเองคืนไป
ส่วนในกรณีที่ผู้ผลิตไม่สามารถแลกเปลี่ยนขวดกันได้ ก็ให้นำไปแลกเป็นขวดที่สามารถรีไซเคิลได้ ที่ KORA พร้อมกับจ่ายค่าธรรมเนียม
อย่างไรก็ตาม หลังจากออกข้อตกลงใหม่นี้ ก็ดูเหมือนจะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลาย เพราะภาครัฐขาดความชัดเจน ทำให้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาการรีไซเคิลได้จริงจัง
แต่ในฝั่งของภาครัฐเอง ก็ระบุว่าไม่อยากเข้าไปบังคับผู้ผลิตโซจูจนเกินไปเช่นกัน
ซึ่งอย่างน้อย ๆ ข้อตกลงนี้ก็ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ภาคธุรกิจและภาครัฐได้ร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อพยายามแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับการจัดการขยะ
และไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจได้เห็นการพัฒนาข้อตกลงในมิติอื่น ๆ มากขึ้นด้วย
ไม่น่าเชื่อเลยว่า ขวดโซจู ที่ดูแสนธรรมดา จะมีเรื่องราวเบื้องหลังซ่อนอยู่มากมายขนาดนี้
ที่สำคัญคือ เจ้าขวดสีเขียวนี้ ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ ที่แม้ว่าจะไม่มีฉลากสินค้าแปะอยู่ แต่ถ้าได้เห็นเจ้าขวดสีเขียว ก็จำได้ทันทีว่าเจ้าสิ่งนี้คือ โซจู นั่นเอง..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
แบรนด์ Green โซจูรายแรกที่ใช้ขวดสีเขียว
ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า “Cheoeum-Cheoreom” หลังจากที่ถูกบริษัท Lotte Chilsung Beverage เข้าซื้อกิจการไปในปี 2008
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.