Air Protein สตาร์ตอัปที่สร้าง “เนื้อสัตว์” จาก “อากาศ” จนระดมทุนได้ 1 พันล้าน
Business

Air Protein สตาร์ตอัปที่สร้าง “เนื้อสัตว์” จาก “อากาศ” จนระดมทุนได้ 1 พันล้าน

19 ม.ค. 2022
Air Protein สตาร์ตอัปที่สร้าง “เนื้อสัตว์” จาก “อากาศ” จนระดมทุนได้ 1 พันล้าน /โดย ลงทุนเกิร์ล
กระแส Plant Based นับว่าเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรงในช่วงปีหลัง ๆ นี้ ไม่ว่าจะเนื้อจากพืช นมจากพืช ไข่จากพืช ก็ล้วนเข้ามามีบทบาทในตลาดอาหารมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น ทำให้โลกของเราพัฒนาไปสู่การสร้างสรรค์อาหารภายในห้องทดลองวิทยาศาสตร์
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเคมีโปรตีนขึ้นมาเพื่อผลิตนม โดยที่ไม่ต้องมีแม่วัวอีกต่อไป หรือไข่ไก่ที่ไม่ต้องอาศัยแม่ไก่ แต่ทำมาจากส่วนประกอบที่มีอยู่ในถั่วแทน
วันนี้ลงทุนเกิร์ลได้หยิบเอาอีกนวัตกรรมการผลิตเนื้อทดแทนที่น่าสนใจมาให้ทุกท่านได้รู้จักกัน
ซึ่งก็คือการผลิตเนื้อจาก “อากาศ” โดยสตาร์ตอัปชื่อ Air Protein จากสหรัฐอเมริกา
แล้ว Air Protein ผลิตเนื้อจากอากาศอย่างไร และน่าสนใจแค่ไหน ? ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
บริษัท Air Protein ก่อตั้งโดย Dr. Lisa Dyson และ Dr. John Reed
Dr. Lisa Dyson เคยทำงานเป็นอดีตที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ และจบปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์ ส่วน Dr. John Reed เป็นเพื่อนนักวิทยาศาสตร์ของเธอ โดยทั้งคู่มีความต้องการที่ตรงกัน คืออยากจะสร้าง
สินค้าที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านการใช้วิทยาศาสตร์
แล้วไอเดียการทำเนื้อจากอากาศนี้เริ่มต้นมาอย่างไร ?
จุดเริ่มต้นของ Air Protein มาจาก Dr. Lisa Dyson ที่ตระหนักได้ว่า ถ้าหากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว สามารถเปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นสารอาหารได้ แล้วทำไมมนุษย์จะทำไม่ได้
โดยคำถามนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานวิจัยของ NASA ในปี 1970 เกี่ยวกับการหาวิธีการ ที่ทำให้นักบินอวกาศอิ่มท้องระหว่างการเดินทางอันยาวนาน ภายใต้เสบียงที่มีอยู่จำกัด
ซึ่งในตอนนั้นพวกเขาพบว่า จุลินทรีย์ประเภท “ไฮโดรจีโนโทรป” จะเป็นคำตอบของเรื่องนี้ เพราะมันจะสร้าง “วัฏจักรของคาร์บอน” ที่ทำให้นักบินอวกาศทุกคนมีอาหารทาน จากเมล็ดพืชเพียงไม่กี่ห่อ
เริ่มจากการที่นักบินอวกาศหายใจได้คาร์บอนไดออกไซด์มา จากนั้นจุลินทรีย์นี้จะกักคาร์บอนไดออกไซด์มาไว้ และเปลี่ยนมันเป็นพืช เพื่อเป็นอาหารให้กับเหล่านักบิน วนเวียนอย่างนี้เป็นวัฏจักรไม่สิ้นสุด
อย่างไรก็ตามโปรเจกต์นี้กลับไม่ได้ถูกหยิบขึ้นมาวิจัยต่อ และค้างคาอยู่แบบนั้นมาเป็นเวลา 60 ปี
พอเรื่องเป็นแบบนี้ Dr. Lisa Dyson และ Dr. John Reed จึงได้หยิบเอางานวิจัยนี้ขึ้นมารื้อใหม่
และได้เปิดบริษัทชื่อ Kiverdi ในปี 2008 ซึ่งเป็นบริษัทเกี่ยวกับการวิจัยที่เน้นการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ ในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติก, ดิน รวมถึงโปรตีน
จนกระทั่งในปี 2016 นักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Kiverdi ก็ได้พิสูจน์แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างเนื้อจากอากาศขึ้น และในปี 2019 ก็ได้ก่อตั้งบริษัท Air Protein ขึ้น ซึ่งเป็นบริษัทย่อยจากบริษัท Kiverdi อีกที
แล้ววิธีการสร้าง “เนื้อ” จาก “อากาศ” เป็นอย่างไร ?
ถ้าหากให้เปรียบเทียบง่าย ๆ วิธีการสร้างหรือสังเคราะห์เนื้อของ Air Protein จะมีกรรมวิธีคล้าย ๆ กับ
การหมักไวน์ หรือโยเกิร์ตที่อาศัยสิ่งมีชีวิตจำพวกจุลินทรีย์ในกระบวนการผลิต
โดย Air Protein จะเริ่มจากนำอากาศ ซึ่งภายในจะมีส่วนประกอบ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ออกซิเจน และไนโตรเจน มาผสมรวมกับน้ำ, แร่ธาตุ และสารอาหารอื่น ๆ มาใช้เลี้ยงจุลินทรีย์ในถังหมักระบบปิด ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ
หลังจากกระบวนการทั้งหมดเราก็จะได้ กรดอะมิโน สำหรับมาสกัดให้กลายเป็นผงแป้ง ก่อนจะนำผงแป้งนี้ไปผ่านกระบวนการขึ้นรูป โดยอาศัยความร้อนและความดันที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่
จนทำให้จากผงแป้งที่ถูกสกัดจากกรดอะมิโน มีรูปร่าง กลิ่น และสัมผัสที่ไม่ต่างจากเนื้อสัตว์
นอกจากนี้ Dr. Lisa Dyson ยังบอกอีกว่า สารอาหารที่เราจะได้รับจากเนื้อในห้องทดลองนี้
จะมีปริมาณโปรตีนสูงกว่าเนื้อจากพืชถึง 2 เท่า รวมถึงเต็มไปด้วยวิตามินบีรวม ซึ่งเป็นวิตามิน
ที่กลุ่มชาววีแกนมักจะขาดไป
แล้วหากเปรียบเทียบเนื้อที่ทำจากพืช กับเนื้อที่สร้างขึ้นจากอากาศในห้องทดลอง ทั้งสองอย่างมีข้อดี ข้อเสียต่างกันอย่างไร ?
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้รับประทานอาหารที่ทำจากพืช น่าจะให้ความรู้สึกที่ดีกว่าสำหรับผู้บริโภค ทั้งในแง่คุณประโยชน์ และความรู้สึกเวลาที่ได้รับประทาน เพราะมนุษย์เราก็กินผักผลไม้กันเป็นปกติอยู่แล้ว
แต่ในแง่การผลิต แม้ว่าจะเป็นพืชก็ยังต้องอาศัยทรัพยากรน้ำ แสง พื้นที่การเพาะปลูก รวมถึงระยะเวลากว่าพืชจะโต แล้วผ่านกระบวนการให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ Plant Based
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงทรัพยากรที่กำลังค่อย ๆ หมดลง จากการนำมาใช้ในกระบวนการผลิต และการทำลายป่าบางส่วนเพื่อนำมาสร้างเป็นโรงงานหรือเปลี่ยนเป็นพื้นที่ในการปลูกพืช
ส่วนด้านเนื้อจากอากาศนั้น ในแง่การผลิตจะใช้พื้นที่ และทรัพยากรที่น้อยกว่า
เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นในห้องทดลอง และทรัพยากรอย่าง “อากาศ” หรือก๊าซคาร์บอน
ก็เป็นหนึ่งในทรัพยากรที่เราสามารถนำมารีไซเคิลใหม่ได้เรื่อย ๆ
รวมถึงระยะเวลาการผลิตก็อาจจะสั้นกว่า หากลองเปรียบเทียบกับการปลูกผัก หรือผลไม้
ที่จำเป็นต้องมีฤดูในการปลูก แต่หากทุกอย่างเกิดขึ้นในห้องทดลอง ต่อให้จะเป็นฤดูไหน
ทุกอย่างก็สามารถสร้างขึ้นได้ตลอดเวลา ทำให้ในด้านสิ่งแวดล้อม เนื้อจากห้องทดลองนี้ ก็อาจเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม การจะทำให้มนุษย์ยอมเปิดใจทานอาหารที่ถูกสร้างขึ้นมาในห้องทดลอง อาจต้องใช้เวลาในการให้ความรู้ และการทำตลาดกับผู้บริโภคอีกพอสมควร
ซึ่งอาจใช้ทั้งเวลาและงบประมาณจำนวนมากเพื่อให้เกิดการยอมรับ
โดยปัจจุบัน Air Protein สามารถระดมทุนไปได้แล้วกว่า 1,000 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้ จะถูกนำมาใช้เพื่อขยายไปสู่การผลิตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับตลาดในอนาคต
แต่สิ่งที่น่าจับตามองคือ “ราคา” ของสินค้ากลุ่มนี้ เพราะเดิมทีสินค้าจากพืชก็มีราคาที่สูงอยู่แล้ว พอกลายมาเป็นสินค้าที่เกิดขึ้นจากการทดลอง ก็น่าจะยิ่งทำให้มีราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม
ที่สำคัญคือ เมื่อถึงเวลาที่สินค้าปล่อยออกมาสู่ท้องตลาด ใครจะเป็นกลุ่มลูกค้าของสินค้ากลุ่มนี้ ?
แล้วผู้อ่านทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้คิดอย่างไรบ้างคะ ถ้าหากเป็นเราจะเลือกทานอะไร
ระหว่างเนื้อจากพืชที่คุ้นเคย แต่อาจทำลายโลก กับเนื้อจากห้องทดลอง ที่อาจดีต่อโลกมากกว่า..
© 2024 Longtungirl. All rights reserved. Privacy Policy.